เมื่อวันที่ 13 ส.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล  นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ภายใต้กรอบวงเงิน 9,187.4462  ล้านบาท ตามที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เสนอ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในช่วงฤดูฝน และการส่งเสริมความมั่นคงด้านน้ำอุปโภคบริโภค จำนวน 3,032 รายการ โดยรายละเอียดของแผนการใช้จ่ายงบประมาณให้เป็นไปตามความเห็นของสำนักงบประมาณ

นายชัย กล่าวอีกว่า สทนช. บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินโครงการฯ สำหรับเตรียมความพร้อมรองรับสภาวะลานีญาในช่วงฤดูฝนปี 2567 โดยแจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เสนอแผนงานโครงการที่มีความจำเป็นเร่งด่วน และสอดดล้องกับโครงการฯ ซึ่ง สทนช.ได้ดำเนินการรวบรวม ตรวจสอบ และกลั่นกรองแผนงานโครงการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด พบว่ามีแผนงานโครงการที่ต้องดำเนินการ 24,928 รายการ ในกรอบวงเงินงบประมาณ 64,983.1969 ล้านบาท ขณะที่นายกรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบโครงการและรายการตามที่ สทนช.เสนอ จำนวน 3,032 รายการ ภายในกรอบวงเงิน 9,187.4462 ล้านบาท โดยให้ใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ดังนี้ 1) กระทรวงมหาดไทย 2,143 รายการ วงเงิน 5,616.0499 ล้านบาท

นายชัย กล่าวว่า 2) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กรมชลประทาน) 669 รายการ วงเงิน 2,566.0029 ล้านบาท 3) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 220 รายการ วงเงิน 1,005.3934 ล้านบาท รวม 3,032 รายการ วงเงิน 9,187.4462 ล้านบาท อีกทั้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดการเสนอขอรับจัดสรรงบประมาณตามขั้นตอนของระเบียบว่าด้วยการบริหารงบประมาณรายจ่ายงบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น พ.ศ. 2562 ต่อไป ขณะที่เทศบาลตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล ให้เสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณผ่านกรมการส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น

นายชัย กล่าวอีกว่า ให้หน่วยรับงบประมาณที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายระเบียบ ข้อบังคับ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของทางราชการและประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับเป็นสำคัญ เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการ และให้เร่งรัดดำเนินการก่อหนี้ภายในเดือน ก.ย. 2567 และเร่งรัดการดำเนินงานให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน โดยให้จัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ เพื่อขอทำความตกลงในรายละเอียดกับสำนักงบประมาณตามขั้นตอนต่อไป