ในห้วงเวลา 2 ทศวรรษ ประเทศไทยมีการ ‘ปฏิรูประบบสุขภาพ’ ครั้งใหญ่ ไม่ต่ำกว่า 2 ครั้ง โดยครั้งแรก คือการเกิดขึ้นของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ในปี 2545 ที่ช่วยให้คนไทยกว่า 47 ล้านคน มีกำแพงพิงหลัง ไม่ต้องล้มละลายจากค่ารักษาพยาบาล และครั้งล่าสุด คือ การถ่ายโอนภารกิจโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) จากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) แบบ ‘บิ๊กล็อต’ ในปี 2565 ซึ่งช่วยให้การจัดบริการ ‘สุขภาพปฐมภูมิ’ ตรงตามความต้องการและสอดคล้องกับบริบทของแต่ละพื้นที่
การพลิกโฉม ‘ระบบบริการปฐมภูมิ’ ในครั้งนี้ ถือเป็นเรื่องใหญ่ และหากนับตั้งแต่ปี 2565 จนถึงปัจจุบัน เป็นเวลา 2 ปี มี รพ.สต. และสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติฯ หรือ สอน. ได้ถ่ายโอนไปยัง อปท. แล้วไม่ต่ำกว่า 4,276 แห่ง หรือคิดเป็น 43.31% ของ รพ.สต. ทั่งประเทศที่มีอยู่ 9,872 แห่ง โดยส่วนใหญ่ถ่ายโอนฯ ไปยังองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ระยะเวลา 2 ปีกับ‘บทบาทใหม่’ ที่ อบจ. ที่ได้รับ ถือว่าสั้นมาก เมื่อเทียบกับการอยู่ภายใต้กระทรวงสาธารณสุขมากว่าครึ่งศตวรรษ ฉะนั้นในช่วงรอยต่อนี้ จึงเต็มไปด้วยรายละเอียดระหว่างทางและการเรียนรู้
สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จึงได้ร่วมกับนักวิชาการท้องถิ่น ดำเนินการวิจัย “โครงการการศึกษาและพัฒนากลไกความร่วมมือระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่ออภิบาลระบบสุขภาพท้องถิ่น ภายใต้บริบทการถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัด” ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) เพื่อสกัดหัวใจของการพัฒนานั่นก็คือ ‘การอภิบาลระบบ’ ออกมาเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายพร้อมกันนี้ ยังได้ถ่ายทอดผลการดำเนินงานของ 4 จังหวัด (จากทั้งหมด 6 จังหวัด) ที่ได้ดำเนินการศึกษาวิจัย โดยนักวิชาการ-ทีมวิจัยในพื้นที่ ผ่านเวทีเสวนา “นวัตกรรมและแนวคิดระบบนิเวศใหม่ เพื่อการอภิบาลระบบสุขภาพท้องถิ่น” ภายใต้เวทีสาธารณะ ‘จากปฏิบัติการพื้นที่ สู่ข้อเสนอเชิงนโยบาย : ความท้าทายระบบสุขภาพในมือของชุมชนและท้องถิ่น’ ที่จัดขึ้นเมื่อ 19 ก.ค. 2567 ที่ผ่านมา
จังหวัดแรกคือ จ.ภูเก็ต ซึ่งศึกษาการพัฒนาระบบส่งต่อผู้ป่วย และการแพทย์ฉุกเฉินของชุมชน รวมทั้งการจัดการภัยเสี่ยงอุบัติเหตุ ใน รพ.สต.บ้านเกาะมะพร้าว และพัฒนาตัวแบบ คลินิกทันตกรรมนอกเวลาราชการ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ Premium OPD ใน รพ.สต.ราไวย์
ผศ.เฉลิมพร วรพันธกิจ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต กล่าวว่า อบจ.ภูเก็ต เห็นถึงปัญหาสุขภาพช่องปาก จึงเลือกพื้นที่ รพ.สต.ราไวย์ มาตอบสนองความต้องการของประชาชน ได้ขยายขอบเขตการให้บริการทางการแพทย์ จัดทำแผนทันตกรรมระดับพื้นที่ตำบลราไวย์ จัดกิจกรรมส่งเสริมความรู้ด้านทันตกรรมให้กับคนทุกช่วงวัย เปิดคลินิกทันตกรรมนอกเวลา โดย อบจ.ภูเก็ต ได้ประสานจัดหาทันตแพทย์มาให้บริการ จัดสรรงบประมาณ และสนับสนุนอุปกรณ์ ฯลฯ นั่นทำให้เกิดรูปธรรมของผลลัพธ์ คือประชาชนทุกกลุ่มในพื้นที่ได้รับบริการดูแลสุขภาพช่องปากอย่างทั่วถึง การเกิดคลินิกทันตกรรมนอกเวลา ที่ช่วยเพิ่มการเข้าถึงบริการทันตกรรมจาก รพ.สต. ได้มากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มวัยทำงานสามารถมารับบริการนอกเวลาได้ และรวดเร็วมาก
จังหวัดถัดมาคือ จ.สงขลา ศึกษาการพัฒนาระบบเครือข่ายสุขภาพ ในชื่อ “เติมสุขโมเดล” และระบบฐานข้อมูลสุขภาพของประชาชนในชื่อ iMed@Home ควบคู่ไปกับการพัฒนากลไกการวางแผน และการกำหนดตัวชี้วัดด้านสุขภาพโดยภาคประชาชน ใน รพ.สต.ป่าขาด และ รพ.สต.ควนโส
“กรณิภา ศรีวรเดชไพศาล” จากมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา เปิดเผยว่า อบจ.สงขลา ได้มุ่งเน้นพัฒนาระบบสนับสนุนด้านสุขภาพด้วยการสร้างกลไกช่วยเหลือเชิงสังคม ด้วยการพัฒนาระบบฐานข้อมูลผ่านแอปพลิเคชันด้านสุขภาพรายบุคคล iMed@home เพื่อให้ประชาชนใช้ติดตามดูแลสุขภาพของตนเองได้ตาม ‘แผนสุขภาพรายบุคคล’ โดย อบจ.สงขลา ยังได้นำข้อมูลในส่วนนี้ไปติดตามสถานะด้านสุขภาพโดยรวมของคนในชุมชน พร้อมกันนี้ อบจ.สงขลา ยังได้สนับสนุนให้เกิดการจัดกิจกรรมนำร่อง ทั้งการคัดกรองสุขภาพ การจัดทำแผนดูแลสุขภาพรายบุคคลผ่านระบบแอปพลิเคชัน และนำไปสู่การมีธรรมนูญชุมชน ที่เป็นข้อตกลงในการปรับพฤติกรรมรายบุคคล เช่น ออกกำลังกายให้ถูกต้อง กินอาหารตามเมนูอาหารสุขภาพ รวมไปถึงกิจกรรมส่งเสริมอาชีพที่สร้างรายได้ให้กับชุมชน ที่เป็นการยกระดับคุณภาพชีวิต
จังหวัดที่สาม คือ จ.นครรราชสีมา ที่ใช้การอภิบาลระบบสุขภาพด้วยโมเดล ‘2 สายงาน 1 สายใจ เพื่อประชาชน’ คือสายงานภาครัฐ ได้แก่ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา (สสจ.นครราชสีมา) และสายงาน อบจ.นครราชสีมา ร่วมกันดูแลประชาชน
ผศ.ดร.ธวัชชัย เอกสันติ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ได้กล่าวว่า ศักยภาพของ จ.นครราชสีมา คือ ผู้นำของแต่ละหน่วยงาน องค์กร ทั้งผู้ว่าราชการจังหวัด นายแพทย์ สสจ. และนายก อบจ.นครราชสีมา ทำงานกันเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เมื่อถ่ายโอนมาแล้วทำงานร่วมกันอย่างราบรื่น และทั้งคู่ยังเป็น ‘สมาชิกสมัชชาสุขภาพจังหวัด’ ทำให้ขับเคลื่อนงานด้านสาธารณสุขและสุขภาวะได้ง่าย นอกจากนี้ อบจ.นครราชสีมา ได้สนับสนุนความคล่องตัวให้แก่ รพ.สต. ทั้งอำนาจรับผิดชอบตามกฎหมาย งบประมาณ ทรัพยากรบุคคล เครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ เช่น รพ.สต.โตนด ที่ไม่มีนักกายภาพบำบัด และเป็นสิ่งที่ชุมชนต้องการ อบจ.นครราชสีมา ก็ได้ส่งเสริมให้มีนักกายภาพบำบัดเข้าไปดูแล และฟื้นฟูสมรรถภาพของชุมชน ซึ่งผลการดำเนินงานของ จ.นครราชสีมา สะท้อนว่า อบจ. มีศักยภาพในการสนับสนุน รพ.สต. โดยเฉพาะด้านงบประมาณ ที่จะช่วยให้การทำงานคล่องตัวมากขึ้น แต่ยังมีข้อติดขัดที่ทำให้ไม่สามารถยกระดับไปมากกว่านี้ได้ เช่น เรื่องที่ดิน ครุภัณฑ์ที่ยังถ่ายโอนไม่ได้
จังหวัดที่สี่ คือ จ.ขอนแก่น ได้จัดตั้งศูนย์บริการสุขภาพในระดับชุมชน หรือ ศูนย์โฮมฮักรักสุขภาพ ใน รพ.สต.เมืองเพีย และจะเน้นพัฒนาระบบอภิบาลสุขภาพชุมชน เพื่อดูแลกลุ่มผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ในสถานีอนามัยฯ บ้านเมืองใหม่
ผศ.ดร.ศิริศักดิ์ เหล่าจันขาม คณบดีวิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น สะท้อนให้เห็นว่า หลังจากที่ อบจ.ขอนแก่น รับการถ่ายโอนฯ งบประมาณที่เป็นรายจ่ายด้านสุขภาพของ อบจ. มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น ซึ่งสอดรับกับการที่ อบจ. ต้องการสนับสนุนโครงการของ รพ.สต.ต่างๆ โดยสิ่งที่ อบจ.ขอนแก่น อยากเห็นคือการบริการสุขภาพโรคไม่ติดต่อโดยใช้กลไกในระบบบริการที่มี เช่น การนำเอาระบบการแพทย์ทางไกล หรือ Telemedicine มาใช้กับพื้นที่ห่างไกล อีกทั้งยังมีนวัตกรรมที่ อบจ.ขอนแก่น มองว่าเป็นประโยชน์ และนักวิจัยได้ช่วยหนุนเสริมขึ้นมา คือ การใช้ Lab Test ด้วย AI เพื่อประเมินความเสี่ยงของโรคในพื้นที่ พร้อมกับมีระบบเฝ้าระวังแบบมุ่งเป้าและมีประสิทธิภาพ โดยสิ่งที่เกิดขึ้นคือ การควบคุมโรคหลอดเลือดสมองในชุมชน หรือศูนย์โฮมฮักรักษ์สุขภาพใน รพ.สต.เมืองเพีย และเกิดโครงการชุมชนป้องกันโรคไม่ติดต่อที่ สอน.บ้านใหม่ ทั้งนี้ข้อค้นพบสำคัญคือ ชาวชุมชนต้องการ ‘ความเข้าใจวิธีดูแลตนเอง’ เพื่อป้องกันโรคหลอดเลือดสมองและโรคไม่ติดต่อ รวมถึงมีความต้องการการถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับการฟื้นฟูจากหน่วยงานรัฐ ไปยัง รพ.สต. และ อสม.ในพื้นที่ด้วย
หลังจากการบอกเล่าถึงการดำเนินการแล้ว มีการให้ความเห็นจาก ‘ผู้ทรงคุณวุฒิ’ ซึ่งมีความคิดเห็นที่น่าสนใจ คือการอภิบาลระบบสุขภาพจากส่วนท้องถิ่น เช่น จาก อบจ. เข้าไปยัง รพ.สต. ที่รับถ่ายโอน จนเป็นรูปธรรมการดำเนินการใน 4 พื้นที่ข้างต้นนั้น คงไม่สามารถเกิดขึ้นเองได้ตามธรรมชาติ แต่จำเป็นจะต้องได้รับการกระตุ้นให้เกิดขึ้นจากภาคส่วนของวิชาการ ตลอดจนการให้ความรู้สนับสนุนส่วนท้องถิ่นและชุมชน เพื่อให้เกิดการสอดประสานความร่วมมือเข้าด้วยกัน
นอกจากนี้ การกระตุ้นจากภาควิชาการ จะสำคัญต่อการพิจารณาว่า ชุมชนหรือท้องถิ่นนั้นๆ มีโอกาสยกระดับ รพ.สต. และพัฒนาศักยภาพของ รพ.สต. ที่อยู่ในมือ อบจ.ได้หรือไม่ หรือได้มากน้อยเพียงใด และทั้ง 4 พื้นที่ที่ได้นำร่องจะช่วยจุดประกายและตอกย้ำให้เห็นว่า ระบบสุขภาพหรือนวัตกรรมที่เกิดจากการอภิบาลโดยท้องถิ่นสามารถเกิดขึ้นได้จริง โดย อบจ. จะเป็นพลังสำคัญที่เปลี่ยนแปลง ซึ่งหากท้องถิ่นอภิบาลระบบสุขภาพได้ดี และใช้พลังการมีส่วนร่วมของชุมชนเข้ามาขับเคลื่อนด้วย จะทำให้ชุมชนตื่นตัวและมีความรู้สึก ‘เป็นเจ้าของ’ รพ.สต. และนำไปสู่การได้รับความร่วมมือจากชุมชนในการขับเคลื่อนประเด็นต่างๆ เพื่อสร้างสุขภาวะต่อไป.