น.ส.วงศ์อะเคื้อ บุญศล โฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ฝ่ายการเมือง เปิดเผยว่า ในช่วงวันที่ 8-11 สิงหาคม 2567 ที่ผ่านมา ศูนย์ AOC 1441 (Anti Online Scam Operation Center) ได้มีรายงานเคสตัวอย่างอาชญากรรมออนไลน์ที่ประชาชนได้รับผลกระทบจากการถูกหลอกลวง จำนวน 5 เคส ประกอบด้วย

คดีที่ 1 ข่มขู่ทางโทรศัพท์ให้เกิดความกลัวแล้วหลอกให้โอนเงิน Call Center มูลค่าความเสียหาย 2,270,000 บาท ผู้เสียหายได้รับการติดต่อจากมิจฉาชีพทางโทรศัพท์ อ้างตนเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจภูธรจังหวัดขอนแก่น แจ้งว่าผู้เสียหายมีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีการฟอกเงิน จากนั้นให้เพิ่มเพื่อนทาง Line โดยให้ผู้เสียหายโอนเงินที่มีอยู่ในบัญชีธนาคารให้ตำรวจตรวจสอบเส้นทางการเงิน และจะโอนกลับคืนให้ ผู้เสียหายหลงเชื่อจึงโอนเงินไป ต่อมาภายหลังปรึกษาลูกชาย จึงทราบว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก

คดีที่ 2 ข่มขู่ทางโทรศัพท์ให้เกิดความกลัวแล้วหลอกให้โอนเงิน Call Center มูลค่าความเสียหาย 1,962,100 บาท โดยผู้เสียหายได้รับการติดต่อจากมิจฉาชีพทางโทรศัพท์ อ้างตนเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจภูธรอำเภอแม่สาย แจ้งว่าคนร้ายนำข้อมูลส่วนบุคคลไปเปิดบัญชีธนาคารกรุงไทยสาขาจังหวัดเชียงราย เพื่อเป็นบัญชีมิจฉาชีพ (บัญชีม้า) ในการฟอกเงิน จากนั้นให้เพิ่มเพื่อนทาง Line แล้ว VDO Call พูดคุยกับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ดูแลคดี โดยให้โอนเงินไปเพื่อตรวจสอบเส้นทาง การเงินและจะโอนคืนกลับให้ภายหลัง ผู้เสียหายหลงเชื่อจึงโอนเงินไปตามที่เจ้าหน้าที่บอก สุดท้ายผู้เสียหายไม่ได้รับเงินโอนคืนและไม่สามารถติดต่อได้อีก จึงเชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก

คดีที่ 3 หลอกลวงให้โอนเงินเพื่อรับรางวัลหรือวัตถุประสงค์อื่น มูลค่าความเสียหาย 742,630 บาท ทั้งนี้ ผู้เสียหายได้รับการติดต่อจากมิจฉาชีพผ่านทางโทรศัพท์ อ้างตนเป็นเจ้าหน้าที่ของบริษัท Shopee แจ้งว่าเป็นผู้โชคดีได้รับรางวัลเครื่องทำน้ำอุ่น 1 เครื่อง จากนั้นให้เพิ่มเพื่อนทาง Line แล้วดึงให้เข้า Group Line เข้าร่วมกิจกรรมกดถูกใจสินค้าเพื่อรับค่าคอมมิชชัน โดยมีแอดมินในกลุ่มคอยแนะนำขั้นตอน ให้ลงทุนเงินเข้าไปก่อนในระยะแยกผู้เสียหายได้รับผลตอบแทนจริง ต่อมาภายหลังให้ลงทุนมากขึ้น ผู้เสียหายไม่ไหวขอปฏิเสธ แอดมินแจ้งว่า ทำผิดกฎต้องชำระค่าปรับและภาษีทางบริษัทก่อน จึงเชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก

คดีที่ 4 หลอกลวงให้กู้เงิน มูลค่าความเสียหาย 135,000 บาท โดยผู้เสียหายพบเห็นโฆษณาสินเชื่อบุคคล ผ่านช่องทาง Facebook ผู้เสียหายสนใจจึงทักไป สอบถามพูดคุย จากนั้นมิจฉาชีพให้เพิ่มเพื่อนทาง Line ส่งลิงก์ให้กรอกข้อมูลส่วนบุคคล และแจ้งว่าบริษัทได้อนุมัติสินเชื่อแล้วแต่ต้องมีค่าประกันสินเชื่อ ผู้เสียหายจึงโอนเงินไป ต่อมาแจ้งว่าผู้เสียหายได้กรอกข้อมูลผิดพลาดในระบบ ให้โอนเงินเพื่อแก้ไข แต่ผู้เสียหายไม่โอนเงินไป จึงเชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก

และคดีที่ 5 หลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ ที่ไม่มีลักษณะเป็นขบวนการ มูลค่าความเสียหาย 5,000 บาท ผู้เสียหายพบเห็นร้านบริการนวดสปา ผ่านช่องทาง Line จึงสนใจทักไปสอบถามพูดคุย และเพิ่มเพื่อนทาง Line ได้ตกลงให้มาบริการนวดนอกสถานที่ โดยได้โอนเงินค่าบริการและค่าเดินทางไปทั้งหมด ภายหลังจากโอนเงินเสร็จไม่สามารถติดต่อได้อีก ผู้เสียหายเชื่อว่า ตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก สำหรับมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้ง 5 คดี รวม 5,114,730 บาท

“จากเคสตัวอย่างจะเห็นได้ว่า มิจฉาชีพได้ใช้การติดต่อผ่านช่องทางโทรศัพท์ อ้างเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจข่มขู่ ผู้เสียหายเกี่ยวกับคดีความ และให้ผู้เสียหายติดต่อผ่านทางโซเชียลมีเดีย คือ Line  และ Facebook เพื่อตรวจสอบเส้นทางการเงิน ทั้งนี้ขอย้ำว่า หากเกิดกรณีเช่นนี้ ขอให้ประชาชนยึดหลัก 4 ไม่ คือ 1.ไม่กดลิงก์ 2.ไม่เชื่อ 3.ไม่รีบ และ 4.ไม่โอน และติดต่อสอบถามไปยังสถานีตำรวจท้องที่นั้นๆ โดยตรง หรือผ่านทางสายด่วน AOC 1441 เพื่อยืนยันตรวจสอบข้อเท็จจริง ขณะเดียวกันในบางเคสควรตรวจสอบบัญชี โซเชียลมีเดีย อย่างรอบคอบ ก่อนที่จะทำธุรกรรมใดๆ อย่ากดเข้าลิงก์เว็บไซต์ หรือดาวน์โหลด และอัปโหลดแพลตฟอร์ม ที่มีการส่งต่อจากช่องทางที่ไม่แน่ใจ” น.ส.วงศ์อะเคื้อ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ดีอี ได้เร่งดำเนินการปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ทุกรูปแบบ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการเผยแพร่ให้ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันภัยอาชญากรรมออนไลน์ ผ่านศูนย์ AOC 1441 เพื่อแก้ไขปัญหาที่ส่งผลกับประชาชนอย่างต่อเนื่อง