“ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่งเดลินิวส์” รายงานว่า ขณะนี้กรมท่าอากาศยาน (ทย.) ได้รับใบรับรองการดำเนินงานสนามบินสาธารณะของท่าอากาศยานบุรีรัมย์ จากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) เพิ่มเติมอีก 1 แห่ง ถือเป็นลำดับที่ 2 ของท่าอากาศยานในสังกัด ทย. ทั้งหมด 29 แห่ง หลังจากได้รับใบรับรองฯ ของท่าอากาศยานเบตง จ.ยะลา ไปแล้วเป็นแห่งแรก อีก 27 แห่ง ได้ขอรับใบรับรองฯ ทั้งหมดแล้ว ส่วนใหญ่อยู่ในขั้นตอนที่ 3 และ 4 จากทั้งหมด 5 ขั้นตอน คาดว่าภายในปี 67 ทย. จะได้รับใบรองฯ เพิ่มอีก 2 แห่ง ได้แก่ ท่าอากาศยานกระบี่และอุดรธานี ซึ่งอยู่ในขั้นตอนที่ 4 ตรวจสอบสถานที่จริง พร้อมทั้งตรวจสอบการปฏิบัติการจริงด้านต่างๆ

ส่วนท่าอากาศยานอื่นๆ จะทยอยได้รับมอบใบรับรองฯ ในลำดับถัดๆ ไป คาดว่าจะได้ครบทั้ง 29 แห่ง ภายในปี 69 การที่ท่าอากาศยานได้รับใบรับรองฯ แสดงให้เห็นว่า ทย. สามารถดำเนินงานได้อย่างปลอดภัย และเป็นไปตามข้อกำหนดของ กพท. ฉบับที่ 37 ว่าด้วยมาตรฐานสนามบิน รวมถึงกฎหมาย และมาตรฐานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง สอดคล้องตามมาตรฐาน และข้อแนะนำขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ไอเคโอ)

ทย. ยืนยันว่าแม้กำลังขออรับใบรับรองฯ แต่ขณะนี้ท่าอากาศยานของ ทย. ทั้ง 29 แห่ง ได้มาตรฐาน และให้บริการด้วยความปลอดภัยทุกสนามบิน สามารถเปิดให้บริการได้ตามปกติ ที่ผ่านมา ทย. ปฏิบัติตามมาตรฐาน และตรวจสอบภายในอย่างเป็นประจำ แต่สาเหตุที่ต้องขอออกใบรับรองฯ เนื่องจากมีการแก้ไข และประกาศใช้ พ.ร.บ.การเดินอากาศ พ.ศ. 2562 ทำให้ต้องออกใบรับรองฯ ใหม่ เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายฉบับใหม่ และเป็นไปตามกระบวนการใหม่ตามมาตรฐานสากล ทั้งนี้ ตามมาตรา 45 แห่งพระราชกำหนดแก้ไขพระราชบัญญัติการเดินอากาศ พ.ศ. 2497 พ.ศ. 2558 ได้กำหนดให้สนามบินสาธารณะที่ดำเนินการโดยส่วนราชการ สามารถเปิดให้บริการต่อไปได้ จนกว่าจะได้รับการตรวจสอบจาก กพท. และเมื่อตรวจสอบแล้วเป็นไปตามมาตรฐาน กพท. จึงจะออกใบรับรองฯ ให้สนามบินนั้นๆ

สำหรับกระบวนการขอใบรับรองฯ มี 5 ขั้นตอน ทุกท่าอากาศยานต้องดำเนินการตั้งแต่ขั้นตอนแรก จนขั้นตอนสุดท้ายใหม่ทั้งหมด ได้แก่ 1.เตรียมการเบื้องต้น อาทิ ศึกษาเอกสารต่างๆ 2. ยื่นคำขอใบรับรองฯ อย่างเป็นทางการ 3. ตรวจสอบเอกสาร และหลักฐานต่างๆ ตามข้อกำหนด 4. ตรวจสอบสถานที่จริงพร้อมทั้งตรวจสอบการปฏิบัติการจริงด้านต่างๆ และ 5. ออกใบรับรองฯ ซึ่งจะเป็นเอกสารยืนยันมาตรฐานความปลอดภัยของแต่ละสนามบิน และเป็นตัวกำกับการดำเนินงานของท่าอากาศยานต่างๆ หากท่าอากาศยานใดปฏิบัติไม่ถูกต้องตามกฎหมาย หรือปล่อยปละละเลยเรื่องมาตรฐานความปลอดภัย ทาง กพท. สามารถเพิกถอน หรือพักใช้ใบรับรองฯ ได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไอเคโอ ต้องการให้หน่วยงานกำกับมีเครื่องมือควบคุมการดำเนินงานสนามบินให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลด้วย ใบรับรองมีอายุ 10 ปี

ทั้งนี้ ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 30 ส.ค. 2565 เห็นชอบให้ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เข้าบริหารจัดการสนามบินอุดรธานี, บุรีรัมย์ และกระบี่ ของ ทย. ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอโดย ทอท. จะเข้ารับโอนเมื่อทั้ง 3 สนามบินได้ใบรับรองฯ แล้ว

ปัจจุบันปริมาณผู้โดยสารท่าอากาศยานของ ทย. เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ผลดำเนินงานด้านการจราจรทางอากาศของท่าอากาศยาน ทย. ประจำปีงบประมาณ 67 ตั้งแต่เดือน ต.ค. 66-ก.ค. 67 มีผู้โดยสาร 11.1 ล้านคน 7.6 หมื่นเที่ยวบิน คาดการณ์ว่าเมื่อสิ้นสุดปีงบฯ 67 (ต.ค. 66-ก.ย. 67) ผู้โดยสารจะอยู่ที่ 13.3 ล้านคน 8.3 หมื่นเที่ยวบิน ภาพรวมผู้โดยสารยังไม่กลับมาปกติเท่ากับช่วงก่อนเกิดโควิด-19 เมื่อปี 62 โดยปีงบฯ 62 (ต.ค. 61-ก.ย. 62) ผู้โดยสารอยู่ที่ 18.2 ล้านคน 1.4 แสนเที่ยวบิน.