นับเป็นเรื่องที่สนใจของคนแวดวงการเมืองไทย เพราะในวันที่ 14 ส.ค. นี้ เป็นวันชี้ชะตาการเมืองไทย เมื่อศาลรัฐธรรมนูญนัดพิจารณาตัดสินและอ่านแถลงคำวินิจฉัย คดีที่ ประธานวุฒิสภาส่งคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ว่า ความเป็นรัฐมนตรีของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และนายพิชิต ชื่นบาน รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (4) และ (5) หรือไม่ (เรื่องพิจารณาที่ 17/2567)

ด่วน! ศาลรธน. มีมติ 5 ต่อ 4 รับคำร้อง 40 สว. ยื่นร้องนายกฯ แต่ไม่สั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่

สืบเนื่องจากสมาชิกวุฒิสภา (สว.) 40 คน ยื่นคำร้องต่อประธานวุฒิสภา (ผู้ร้อง) ว่า “นายกฯ เศรษฐา” ในฐานะผู้ถูกร้องที่ 1 ได้นำความกราบบังคมทูลฯเพื่อโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายพิชิต ซึ่งเป็นผู้ถูกร้องที่ 2 เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ทั้งๆ ที่รู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่านายพิชิต ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเคยถูกศาลฎีกามีคำสั่งจำคุก 6 เดือน ในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล เป็นบุคคลที่กระทำการอันไม่ซื่อสัตย์สุจริตและมีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (4) และ (5)

เป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องทั้งสอง สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (4) และ (5) หรือไม่ ผู้ร้องจึงส่งคำร้องเพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสามประกอบมาตรา 82 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งไม่รับคำร้องเฉพาะส่วนของผู้ถูกร้องที่ 2 สำหรับกรณีของผู้ถูกร้องที่ 1 มีคำสั่งรับไว้พิจารณาวินิจฉัย โดยผู้ถูกร้องที่ 1 ยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อศาลรัฐธธรรมนูญแล้ว

คดีนี้ มีทางออก 2 ฉากทัศน์ ทางแรกคือ ศาลวินิจฉัยว่า “นายกฯ เศรษฐา” ไม่มีความผิดในการแต่งตั้ง นายพิชิต เป็นรัฐมนตรี ซึ่งมีความเป็นไปได้ เพราะจากแนวทางการต่อสู้ของ “นายกฯ เศรษฐา” ว่า ก่อนที่จะมีการแต่งตั้งนายพิชิตเข้าดำรงตำแหน่ง ได้มีการสอบถามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามกระบวนการแล้ว เช่น มีการสอบถามไปยังสำนักงานกฤษฎีกาไปแล้ว อีกทั้งยังมีการยกเหตุผลว่า กรณีคดีของนายพิชิต เกิดขึ้นมานานกว่า 15 ปี ก่อนรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 บังคับใช้ และยังประกอบกับการที่นายพิชิต ซึ่งภายหลังได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ไปแล้วเพียงไม่นาน ก็ได้ลาออกจากตำแหน่ง ก่อนวันที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีมติรับคำรองไว้พิจารณา

ส่วนฉากทัศน์ที่สอง เป็นฉากที่เขย่าโมเมนตัมการเมือง หากศาลวินิจฉัยว่าความเป็นรัฐมนตรีของ “นายกฯ เศรษฐา” สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม จะเข้าสู่กระบวนการสรรหานายกรัฐมนตรีคนใหม่ ขณะที่ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดนั้น ก็ยังสามารถปฏิบัติงานต่อไปได้ จนกว่าจะมีการเลือกนายกฯ คนใหม่ และมีการแต่งครั้ง ครม. ชุดใหม่เข้ามา

ซึ่งก่อนหน้านี้ พลพรรคเพื่อไทย ดาหน้าออกมาเซฟ “นายกฯ เศรษฐา” มั่นใจจะได้ไปต่อ ไม่เกิดอุบัติเหตุทางการเมืองใดๆ พรรคเพื่อไทยไม่จำเป็นต้องเตรียมแผนอะไรไว้รองรับ เป็นการตัดตอนกระแส “นายกฯ สำรอง” เพราะเชื่อมั่นว่า “นายกฯ เศรษฐา” จะได้ไปต่อ

แต่นาทีนี้การเมืองยังลูกผีลูกคน ต้องดูว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาออกมาอย่างไร ถ้า “นายกฯ เศรษฐา” ถูกถอดถอน จะเขย่ากระดานการเมืองทันที โดยกระแส “นายกฯ สำรอง” มีการพุ่งเป้าไปที่ “เสี่ยหนู” อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย และเป็นแคนดิเดตนายกฯ ที่ตอนนี้บารมีเบ่งบาน หลังกินรวบ สว.สีน้ำเงินเป็นที่เรียบร้อย ที่สำคัญก่อนหน้านี้ยังเปิดวงเจรจาดีลลับ ทำ “พรรคเพื่อไทย” ต้องพลิกลิ้นยอมให้มี พ.ร.บ.ควบคุมกัญชา ตามแนวทางพรรคภูมิใจไทยปักหมุดมาตลอด

กระดานตอนนี้กำลังร้อนระอุ จะเกิดเหตุการณ์พลิกผันขนาดไหน อำนาจจะตกอยู่ในมือใคร ตัวชี้วัดอยู่ที่ผลการวินิจฉัยชี้ขาดของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งต้องรอชมในวันที่ 14 ส.ค. 2567 เวลา 15.00 น. ที่จะถึงนี้