เมื่อวันที่ 12 ส.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสุราษฎร์ เจริญชัยสกุล ผอ.สำนักการระบายน้ำ (สนน.) กล่าวถึงการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในพื้นที่ลาดพร้าว-วังหิน หลังพบปัญหาการระบายน้ำจากฝนตกหนักในช่วงค่ำของวันที่ 6 ส.ค. ที่ผ่านมาว่า สนน. ได้ตรวจวัดปริมาณฝนที่จุดวัดประตูระบายน้ำคลองลาดพร้าว เขตวังทองหลาง ปริมาณฝน 91.5 มม. จุดวัดสำนักงานเขตห้วยขวางปริมาณฝน 90.0 มม. และจุดวัดบ่อสูบศาลอาญารัชดา เขตจตุจักร ปริมาณฝน 90.0 มม. ส่งผลให้ถนนลาดพร้าว-วังหิน ตั้งแต่ช่วงต้นซอยฝั่งเกษตร-นวมินทร์ ไปจนถึงฝั่งโชคชัย 4 รวมถึงซอยเสนานิคมและซอยวัดทุ่งเศรษฐี มีน้ำท่วมขังผิวจราจร ใช้เวลาเร่งระบายน้ำจนกลับเข้าสู่ภาวะปกติราว 3 ชม.

สาเหตุที่เกิดปัญหาน้ำท่วมในครั้งนี้ นอกจากปริมาณฝนที่ตกหนักครอบคลุมพื้นที่เป็นวงกว้างแล้ว ยังพบเศษขยะ ใบไม้จำนวนมากที่อุดกั้นช่องรับน้ำหน้าคันหิน ทำให้การระบายน้ำเป็นไปได้ช้า โดยการระบายน้ำใช้คลองเสือน้อย คลองทรงกระเทียม ระบายน้ำออกไปยังคลองลาดพร้าว และสูบออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา

ทั้งนี้ สนน. มีแผนการพัฒนาการระบายน้ำโดยการก่อสร้างบ่อสูบน้ำถนนสุคนธสวัสดิ์ เพื่อเร่งระบายน้ำไปลงคลองเสือน้อย แผนการก่อสร้างบ่อสูบน้ำถนนเสนานิคม 1 ตอนลงคลองลาดพร้าว (ฝั่งตะวันออก) เพื่อเร่งระบายน้ำจากถนนเสนานิคม 1 ไปลงคลองลาดพร้าว  และแผนการก่อสร้างบ่อสูบน้ำถนนลาดพร้าว (ขาเข้า) เร่งการระบายน้ำจากถนนลาดพร้าวลงคลองลาดพร้าว นอกจากนี้ ยังสนับสนุนเครื่องสูบน้ำให้แก่สำนักงานเขต พร้อมตรวจสอบและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่บริเวณชุมชน ตลอดจนการเดินเครื่องสูบน้ำตามจุดต่าง ๆ ให้ต่อเนื่อง 

ส่วนการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในพื้นที่ กทม. เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในระยะยาว นั้น ผอ.สนน. ระบุว่า กทม. ได้ใช้อุโมงค์ระบายน้ำใต้ดินขนาดใหญ่ เร่งระบายน้ำออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยาโดยไม่ต้องระบายน้ำผ่านระบบคลอง จำนวน 4 แห่ง ประสิทธิภาพการระบายน้ำรวม 195 ลบ.ม.ต่อวินาที อีกทั้งยังอยู่ระหว่างการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำ จำนวน 4 แห่ง และมีแผนงานก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำเพิ่มเติมอีก 2 แห่ง ซึ่งมีประสิทธิภาพการระบายน้ำรวม 238 ลบ.ม./วินาที

นอกจากนั้น ยังได้จัดหาพื้นที่รองรับและเก็บกักน้ำ (แก้มลิง) เชื่อมต่อกับระบบระบายน้ำสาธารณะ เพื่อนำน้ำฝนเข้ามาเก็บกักไว้ในแก้มลิงเป็นการชั่วคราวขณะที่มีฝนตก และจะระบายออกเมื่อหลังฝนหยุดตก หรือระดับน้ำในคลองมีระดับต่ำ จะช่วยป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ได้ ปัจจุบัน กทม. มีพื้นที่รองรับและเก็บกักน้ำ (แก้มลิง) แล้ว 36 แห่ง ปริมาณเก็บกัก 13.69 ล้าน ลบ.ม. อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 3 แห่ง และมีแผนงานจัดหาเพิ่มเติมอีก 16 แห่ง มีปริมาณเก็บกักน้ำรวม 7.70 ล้าน ลบ.ม. ทั้งนี้ โครงการทั้งหมดดังกล่าว หากดำเนินการแล้วเสร็จจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำและการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมใน กทม. ได้อย่างยั่งยืน

ทางด้าน นายดิชา คงศรี ผอ.เขตประเวศ  กล่าวถึงการแก้ปัญหาน้ำท่วมถนนทุ่งเศรษฐีว่า บริเวณถนนทุ่งเศรษฐีเป็นถนนที่เชื่อมระหว่างถนนรามคำแหง 2 กับถนนคู่ขนานกาญจนาภิเษก ระหว่างถนนดังกล่าว มีคลองอาจารย์พรกั้นอยู่บริเวณกลาง ทั้งนี้เมื่อคืนวันที่ 6 ส.ค. ที่ผ่านมามีปริมาณฝนตกมาก สำนักงานเขตประเวศได้เร่งสูบน้ำในท่อระบายน้ำ เพื่อลงคลองอาจารย์พรทั้งสองฝั่ง และน้ำได้ลดลงตามลำดับ ซึ่งต้องรอการระบาย ทำให้มีน้ำท่วมขังบางส่วนที่บริเวณแยกซอยทุ่งเศรษฐี 45 และ 50 นอกจากนี้ได้ขอรับการสนับสนุนรถสูบน้ำเคลื่อนที่ Mobile Pump เพื่อเร่งการระบายน้ำลงคลองพระอาจารย์พร ซึ่งเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว

อย่างไรก็ตาม สำนักงานเขตประเวศได้ของบประมาณแปรญัตติปี 2568 เพื่อปรับปรุงถนนทุ่งเศรษฐี ช่วงจากถนนรามคำแหง 2 ถึงคลองอาจารย์พร โดยยกระดับผิวจราจรสูงขึ้นประมาณ 25 ซม. เนื่องจากระดับถนนต่ำและมีน้ำท่วมขังทุกปี รวมทั้งได้ของบประมาณปี 2568 ปรับปรุงซอยทุ่งเศรษฐี 45 กับซอยทุ่งเศรษฐี 50 ซึ่งเป็นจุดทางเชื่อมออกถนนกาญจนาภิเษกที่สูงกว่าถนนวัดทุ่งเศรษฐี โดยจะยกระดับผิวจราจรซอยดังกล่าวทั้งสองซอยให้สูงขึ้น 20 ซม. เพื่อป้องกันน้ำจากถนนกาญจนาภิเษกไหลลงมาถนนวัดทุ่งเศรษฐีที่ต่ำกว่า.