ความเป็นรัฐมนตรีของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และนายพิชิต ชื่นบาน รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรมนูญ มาตรา 170 วรรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (4) และ (5) หรือไม่ (เรื่องพิจารณาที่ 17/2567)

สองทางออกคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญมีความเป็นไปได้ 2 ทาง คือ ทางแรกศาลวินิจฉัยว่าความเป็นรัฐมนตรีของนายเศรษฐา สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ในส่วนนี้ก็จะเข้าสู่กระบวนการสรรหานายกรัฐมนตรีคนใหม่ ขณะที่ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดนั้นก็ยังสามารถปฏิบัติงานต่อไปได้ จนกว่าจะมีการเลือกนายกฯ คนใหม่ และมีการแต่งครั้ง ครม. ชุดใหม่เข้ามา จึงเป็นจุดเริ่มต้นของแรงกระเพื่อมทางการเมืองทันที เพราะดูจากบัญชีแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคร่วมรัฐบาล ที่ลอยมาทั้ง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ตามด้วย นายชัยเกษม นิติสิริ ประธานกรรมการยุทธศาสตร์และทิศทางการเมืองพรรคเพื่อไทย แต่หากจะสวิงมาที่พรรคร่วมรัฐบาล จะมีชื่อ “เสี่ยหนู นายอนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกรัฐมนตรีและรมว.มหาดไทย ที่มีออร่าแรงกล้าในช่วงนี้ ผงาดคุมสภาสีน้ำเงินได้แบบเบ็ดเสร็จ หรือจะเหวี่ยงมาที่ “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ผู้มีความฝันอันสูงส่งกับการครอบครองเก้าอี้ นายกฯ หรืออาจจะเป็น นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกฯ และรมว.พลังงาน ในฐานะหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่เป็นคนสนิทของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกฯ

ส่วน แนวทางที่ 2 คือ ศาลวินิจฉัยว่า นายเศรษฐา ไม่มีความผิดในการแต่งตั้งนายพิชิต เป็นรัฐมนตรี ซึ่งมีความเป็นไปได้ จากแนวทางการต่อสู้ของนายเศรษฐาว่า ก่อนที่จะมีการแต่งตั้งนายพิชิตเข้าดำรงตำแหน่งนั้น ได้มีการสอบถามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามกระบวนการแล้ว เช่น มีการสอบถามไปยังสำนักงานกฤษฎีกาไปแล้ว อีกทั้งยังมีการยกเหตุผลว่า กรณีคดีของ นายพิชิต เกิดขึ้นมานานกว่า 15 ปี ก่อนรัฐธรรมนูญแห่งราชอาราจักรไทย พ.ศ. 2560  บังคับใช้ และยังประกอบกับการที่ นายพิชิต ซึ่งภายหลังได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ไปแล้วเพียงไม่นาน ก็ได้ลาออกจากตำแหน่งก่อนวันที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีมติรับคำรองไว้พิจารณา

อาจเป็นรูปภาพของ 1 คน และ ข้อความ

อย่างไรก็ตามหากศาลมีคำวินิจฉัยออกมาว่าตัวของ นายเศรษฐา ไม่มีความผิด ก็ถือว่ารัฐบาลนี้ยังคงเดินหน้าทำโครงการต่างๆ ไปอย่างต่อเนื่องและราบรื่น แต่หากผลที่ออกมาไม่เป็นคุณต่อ นายเศรษฐา ก็เท่ากับว่าประเทศไทยต้องเลือกนายกฯ คนใหม่เข้ามา ซึ่งจะมาจากพรรคแกนนำอย่างพรรคเพื่อไทยหรือไม่ เพื่อให้นโยบายต่างๆ โดยเฉพาะโครงการแจกเงินหมื่น ที่ประชาชนเฝ้ารอ เดินหน้าไปได้ตลอดรอดฝั่งได้หรือไม่

แต่ดูเหมือน นายเศรษฐา จะมั่นใจว่าตนจะไม่มีความผิดในครั้งนี้ เพราะภายหลังจากวันที่ 14 ส.ค. 2567 นายกฯ เศรษฐา ก็ออกตารางเดินสายลงพื้นที่พบปะประชาชน ยาวเยียดไปจนถึงสิ้นเดือน ส.ค. แถมยังส่งสัญญาณตียาวถึงเดือน ก.ย. กับกระแสข่าวปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ นายพีระพันธ์ุ ร่อนหนังสือทวงโควต้าเก้าอี้รัฐมนตรี 1 เก้าอี้ ของพรรครวมไทยสร้างชาติ แทนที่ นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ที่ไขก็อกออกจากตำแหน่ง รมช.คลัง โดยเสนอชื่อ นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการพรรคฯ ที่เพิ่งหลุดจากคดีชุมนุมของ คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ขึ้นเสียบแทน แม้นายกฯ จะบอกว่ายังไม่ได้รับหนังสือ แต่ส่งสัญญาณว่าให้พ้นเดือน ส.ค. ที่มีหลายคดีใหญ่ไปก่อน จากนั้นในเดือน ก.ย. อาจจะมีการพิจารณาอีกครั้ง เล่นเอาก๊วนการเมืองพรรคร่วมรัฐบาลตื่นตูม เรียกเช็กแถว ดูจำนวน สส. เพื่อต่อรองเก้าอี้รัฐมนตรีทันที

ทั้งนี้ต้องมาลุ้นว่า ผลการวินิจฉัยชี้ขาดของศาลรัฐธรรมนูญครั้งนี้ จะถือเป็นบรรทัดฐานสำหรับนายกรัฐมนตรีที่จะตั้ง ครม. ครั้งต่อๆ ไป ว่าสิ่งที่เรียกว่าชอบด้วยกฎหมาย หรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย จะมีลักษณะอย่างไร ดังนั้นทุกสายตาจึงจับจ้องมาที่ผลการตัดสินชี้ขาดของศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 14 ส.ค. 2567 เวลา 15.00 น.