เมื่อวันที่ 11 ส.ค. นพ.เอกชัย เพียรศรีวัชรา รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวถึงสถานการณ์พัฒนาการของเด็กปฐมวัยไทย ภายในงานประชุมวิชาการระดับชาติ ครั้งที่ 3 ประจำปี พ.ศ. 2567 เรื่อง การขับเคลื่อนและพัฒนาการเด็กปฐมวัย “3 เร่ง 3 ลด 3 เพิ่ม เสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัยไทย” เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า การส่งข้อมูลผลตรวจพัฒนาการเด็กเล็กในหน่วยบริการสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ยังดำเนินการต่อเนื่องภายในระบบ HDC แต่ในกลุ่มของ รพ.สต.หลังจากถ่ายโอนไปยัง อบจ.พบว่า ไม่ได้ส่งข้อมูลเข้ามามากเท่าไร ทำให้ไม่ทราบว่า มีการตรวจพัฒนาการหรือไม่ หรือตรวจแต่ไม่ได้มีการรายงาน จึงจะขอความร่วมมือไปยัง อบจ.ที่เป็นต้นสังกัดของ รพ.สต.ให้เร่งตรวจพัฒนาการเด็กและลงข้อมูลเข้ามาซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง กระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงมหาดไทย
“ข้อมูลที่ได้มาจาก รพ.สต.ที่ถ่ายโอนแล้วรายงานมา มีความแตกต่างกันเยอะกับของกระทรวงสาธารณสุข โดยข้อมูลพัฒนาการเด็กสมวัยของกระทรวงสาธารณสุข พบประมาณ 85-89% แต่ของ อบจ.อยู่ที่ประมาณ 70% ถือว่าห่างกันมาก 15-20% เข้าใจว่าน่าจะมีการตรวจ แต่ระบบรายงานอาจจะยังไม่ได้รายงานมาทั้งหมด กรมอนามัยมีศูนย์อนามัยในพื้นที่ 12 ศูนย์ ก็จะประสานสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ให้ช่วยทำงานร่วมกับ รพ.สต.ในการส่งข้อมูลเข้ามา หรือทาง อบจ.มีระบบลงข้อมูลอะไรหรือไม่ ก็อาจจะเชื่อมโยงข้อมูลเข้ามา” นพ.เอกชัยกล่าว
นพ.เอกชัย กล่าวว่า สำหรับข้อมูลกลุ่มเด็กพัฒนาการสงสัยล่าช้า 5 ด้าน ที่มีปัญหามากที่สุดคือ พัฒนาการด้านภาษา ซึ่งพ่อแม่มีส่วนช่วยกระตุ้นได้ โดยใช้สมุดบันทึกสุขภาพการตรวจพัฒนาการเด็กด้วยตนเอง (DSPM) และไปพบเจ้าหน้าที่สาธารณสุขไม่ว่าสังกัดไหน ให้ได้ตรวจพัฒนาการเป็นระยะตั้งแต่ 9 เดือน ถึง 60 เดือน ตรวจประมาณ 5 ครั้ง จะได้ช่วยกันดูแต่เนิ่น หากพัฒนาการล่าช้าจะได้ช่วยกันกระตุ้นให้พัฒนาการสมวัย ทั้งนี้ ปัจจัยที่ทำให้พัฒนาการด้านภาษาล่าช้า เกิดจากการเลี้ยงลูกด้วยหน้าจอมากเกินไป ดังนั้นพ่อแม่ควรลด ละ เลิก ให้เด็กจมกับหน้าจอทีวี มือถือ แท็บเล็ต แล้วมีปฏิสัมพันธ์กับลูก เล่นกับลูกให้มาก โดยเฉพาะเด็กปฐมวัยก่อนวัย 2 ขวบ กรณีพ่อแม่ไม่มีเวลาดูแลลูกต้องไปทำงาน ซึ่งศูนย์พัฒนาเด็กเล็กจะรับดูแลช่วง 3-6 ขวบ เราพยายามสนับสนุนให้ศูนย์เด็กเล็กขยายลงมาตั้งแต่ 0-3 ขวบมากขึ้น
“ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเป็นหัวใจสำคัญ กรมอนามัยจึงเน้นนโยบาย 4D for Health ยกระดับเป็นมาตรฐานของศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก คือ Development and Play พัฒนาการเด็กและการเล่น Diet คือโภชนาการ โดยเฉพาะเนื้อ นม ไข่ ให้เติบโตสมวัย นอนหลับเต็มที่ จะทำให้เด็กเติบโตสูงใหญ่ Dental คือช่องปากและฟัน ดูแลตั้งแต่ฟันน้ำนมอย่าให้ผุ ฟันแท้จะได้ขึ้นมาอย่างมีสภาพที่ดี และ Disease ด้านสิ่งแวดล้อมความปลอดภัยและการป้องกันควบคุมโรค อย่างการล้างมือ เด็กป่วยต้องมีการแยกตัว เป็นต้น” นพ.เอกชัย กล่าว
ด้าน นพ.ธีรชัย บุญยะลีพรรณ หัวหน้ากลุ่มแม่และเด็ก สำนักส่งเสริมสุขภาพ กรมอนามัย กล่าวว่า ปัญหาพัฒนาการล่าช้าสามารถลดลงไปตามวัย แต่ที่กังวลคือ เด็กที่พัฒนาการล่าช้า เมื่อเข้าสู่สังคมก็อาจจะมีปัญหาการเรียนรู้ไม่ทัน ถูกเพื่อนล้อ เด็กคนนั้นจะตกต่ำลงอย่างมาก ซึ่งเราเจอเด็ก 5 ขวบ มีพัฒนาการล่าช้าด้านภาษา 30% จากเด็กพัฒนาการล่าช้าทั้งหมด แต่เราเชื่อว่าล่าช้าภาษาไม่ใช่ล่าช้าจริง ส่วนใหญ่เป็นพวกเด็กติดสื่อมีเดีย ตามตัวเลขทั่วโลกจะเจอเด็กที่พัฒนาการล่าช้าจริงๆ เป็นโรคของจริง 9% อย่างไรก็ตาม จุดสังเกตเรื่องพัฒนาการล่าช้าด้านภาษา คือ 1.หูไม่ดี ซึ่งแพทย์หู คอ จมูก ตรวจหูเด็กทั่วประเทศได้ประมาณ 50% แล้ว 2. เป็นออทิสติก 1-3% 3.การให้เด็กดูโทรทัศน์ ทำให้พัฒนาการล่าช้า ซึ่งจะมีระดับตามวัย เช่น เด็ก 1 ขวบ ต้องพูด 1 คำได้ ที่ไม่ใช่คำว่าพ่อแม่ เด็ก 3 ขวบพูด 3 คำได้เป็นประโยคได้ เป็นต้น
“วัยเด็กแรกเกิดควรพาลูกเล่านิทานอ่านหนังสือ อย่ามัวแต่ให้มองโทรทัศน์ หรือเล่นมือถือ แล้วเด็กต้องมีปฏิสัมพันธ์กับเราดีๆ มองสบตาพ่อแม่ดีๆ จริงๆ เด็ก 1 ขวบต้องมองสบตาพ่อแม่เวลาเล่น เท่านี้ก็เท่ากับตัดออทิสติกไป แต่ถ้าเลี้ยงลูกเอาแต่เล่นมือถือ หรือให้ลูกนั่งมองมือถือ มันก็บอกไม่ได้ว่าออทิสติกหรือไม่ใช่ ที่ชอบเรียกว่าออทิสติกเทียม” นพ.ธีรชัย กล่าว
ถามถึงกรณีเด็กรุ่นใหม่สื่อสารไม่ค่อยเป็นหรือมีปัญหาเรื่องปฏิสัมพันธ์ นพ.ธีรชัยกล่าวว่า ที่เราพบเด็กกลุ่มที่มองสบตาไม่ได้ ปัจจุบันหลายคนพิมพ์โต้ตอบ สนทนาทางโซเชียลฯ ได้ แต่พอเจอหน้ากลับไม่กล้าคุย แล้วบางอาชีพที่ต้องการทักษะสังคมสูงก็อาจจะหายไป เช่น สื่อสารมวลชน.