พระราชวัชรสารบัณฑิต หรือ “เจ้าคุณประสาร” เลขาธิการศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตามที่ประธานกรรมการบริหารศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย ได้ออกประกาศเรื่อง แจ้งปิดทำการสำนักงานและยุติกิจการทั้งหมด รวมทั้งการสิ้นสภาพการเป็นสมาชิกของบุคลากร กรรมการและเจ้าหน้าที่ทุกท่าน โดยจะมีผลอย่างเป็นทางการ ตั้งแต่วันที่ 15 ส.ค. 2567 เป็นต้นไปนั้น ในฐานะเลขาธิการศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาฯ ขอชี้แจงรายละเอียดเพิ่มเติม ดังนี้ ศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาฯ ก่อกำเนิดเมื่อปี 2544 เหตุผลในเวลานั้นก็เนื่องมาจากการยกร่างรัฐธรรมนูญในปี 2540 ซึ่งในปีนั้นรัฐบาลได้เปิดโอกาสให้มีคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ขึ้นมาชุดหนึ่ง เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ เวลานั้นนักคิด นักปราชญ์ พระนักวิชาการ พระนิสิต พระนักศึกษา พระภิกษุหนุ่ม สามเณรน้อย นักเคลื่อนไหว นักกิจกรรม ตลอดจนชาวพุทธส่วนหนึ่งได้ก่อตัวขึ้น เพื่อเคลื่อนไหวให้ส.ส.ร.บรรจุหลักสำคัญที่เป็นความประสงค์ของชาวพุทธ แม้จะไม่ทั้งหมดก็ตาม โดยขอให้บรรจุคำว่า “พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ” ไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2540

พระราชวัชรสารบัณฑิต กล่าวต่อไปว่า ผู้แทนชาวพุทธได้นำรายชื่อผู้เห็นด้วยกว่า 2 แสนรายชื่อเข้าไปยื่นที่รัฐสภา ถนนอู่ทองใน ประธานยกร่างรัฐธรรมนูญในขณะนั้น ได้พูดกับผู้แทนชาวพุทธ ทั้งที่เป็นพระสงฆ์  สามเณร และฆราวาสที่เข้าไปยื่นเรื่องว่า รายชื่อเยอะมาก ดูไม่ไหวหรอก ทำให้ในเวลาต่อมา ความพยายามของชาวพุทธส่วนหนึ่งก็ดูว่าไร้ผล ต่อมาคณะพุทธบริษัทดังกล่าวนี้ ก็ยังไม่ได้ละทิ้งอุดมการณ์ ขณะที่พระพุทธศาสนา คณะสงฆ์ได้รับผลกระทบ ถูกกระทำในต่างกรรม ต่างวาระ หรืออาจจะพูดได้ว่า ในหลายเรื่อง หลายโอกาส ได้ถูกกระทำ ย่ำยี อย่างไม่เคารพยำเกรง จนมีการนำวลีประวัติศาสตร์ของชาวพุทธมาย้อนในเชิงห้ามปรามและตัดพ้อว่า “ไม่ยกย่องก็อย่าเหยียบย่ำ” จากนั้นปี 2540 คณะบุคคลดังกล่าว ก็ได้ก่อตัวขึ้นในนาม “ศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย” มีสำนักงานตั้งอยู่ที่วัดราชาธิวาสวิหาร (คณะใต้) เขตดุสิต กรุงเทพฯ และภายหลังกำเนิดศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาฯ การทำงาน ภายใต้สโลแกน “พิทักษ์ ปกป้องและคุ้มครองพระพุทธศาสนา” ก็เข้มข้นขึ้นตามลำดับ มีพระเถระ พระสงฆ์ คฤหัสถ์ ที่เป็นดาวเด่น ดาวดัง เกิดขึ้นประดับวงการพุทธมากมาย

เลขาธิการศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาฯ กล่าวอีกว่า การเดินหน้าให้บรรจุพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ มีระบบ แบบแผนยิ่งขึ้น ในทุกรัฐธรรมนูญ การออกมาชี้แจง ตอบโต้ ชี้ผิด ชี้ถูก การทำความเข้าใจกับสังคมมีให้เห็นอย่างต่อเนื่อง แม้กระทั่งการออกมารวมตัวกันของพระสงฆ์จำนวนมากในหลายที่ หลายแห่ง หลายกรณี ตามที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “ม็อบพระ” ก็มีให้เห็นบ่อยครั้ง ในยุคสมัยที่ศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาฯ แห่งนี้เฟื่องฟู แน่นอนการดำเนินการทั้งหลายที่กล่าวมานี้นั้นย่อมมีทั้งคุณและโทษ มีคนรัก มีคนเกลียด มีคนชม มีคนสาปแช่งชิงชัง ถึงอย่างไรก็ตาม สมาชิกศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาฯทุกคนต่างก็เชื่อมั่นในอุดมการณ์ ในฐานะพุทธบริษัทในอันที่จะมีหน้าที่พิทักษ์ ปกป้อง และคุ้มครองพระพุทธศาสนาอย่างไม่คลอนแคลน ทุกท่านยอมเสียสละ แม้จะต้องเผชิญกับอะไรในหลายๆ อย่างก็ตาม ในวันที่ถูกด่า ถูกประจาน ทุกคนไม่ท้อ ไม่ถอย แต่ยังกล้าสบตากับทุกคน ในวันที่ไม่อยากมีใครเข้าใกล้ ในวันที่คนอื่นกลัวจะโดนไปด้วย แต่เราต่างก็อดทน อดกลั้น บำเพ็ญขันติบารมีและรู้จักกลืนเลือดให้เป็น โดยไม่เคยปริปากบ่น ไม่ไปวิ่ง ไม่ไปขอความเห็นใจ

พระราชวัชรสารบัณฑิต กล่าวด้วยว่า วันนี้สมาชิกศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาฯในวัยที่แตกต่างกัน ทั้งพระสงฆ์และคฤหัสถ์ ได้มานั่งคุยเพื่อถอดบทเรียน ถ่ายทอดประสบการณ์ซึ่งกันและกัน ท่ามกลางสังคมที่แปรเปลี่ยน ประธานเสนอให้เลขาธิการขึ้นไปนั่งเป็นประธานกรรมการบริการศูนย์ฯ ในฐานะเลขาธิการก็ได้แต่ผ่อนไปผ่อนมา และในที่สุดก็มีผลสรุปร่วมกันว่า 1.ศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาฯได้ทำหน้าที่ตามเจตนารมณ์และอุดมการณ์มานานกว่า 23 ปีแล้ว 2.ผลงานที่ผ่านมาก็เป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงความสำเร็จในภารกิจที่ร่วมกันทำมาอย่างยาวนานและบัดนี้ก็มีหลายหน่วยงานได้รับไม้ต่อยอดไปในเรื่องนั้นๆ แล้วพอสมควร แม้จะไม่ทั้งหมดก็ตาม 3.สมาชิกหลายท่าน หลายคนก็อายุมากขึ้นหลายท่านอยู่ในวัยผู้สูงอายุและบางท่านก็ล้มหายตายจากกันไป ด้วยเหตุผลดังกล่าว จึงขอแจ้งทุกท่านว่า ถึงเวลาแล้วที่จะขอปิดม่านประวัติศาสตร์แห่งการต่อสู้เพื่อพิทักษ์ ปกป้อง และคุ้มครองพระพุทธศาสนาในนามศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาฯอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 15 ส.ค.2567 เป็นต้นไป ในส่วนสมาชิกหลายท่าน หลายคน จะไปรวมกลุ่มกันเพื่อจัดตั้งองค์กรใดองค์กรหนึ่งขึ้นมาตามอุดมการณ์และแนวทางของตนเพื่อพระพุทธศาสนานั้นก็ขอให้เป็นเรื่องที่จะมีในอนาคตก็แล้วกัน