“ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่งเดลินิวส์” รายงานว่า กรมการขนส่งทางราง(ขร.) และการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) ได้ร่วมกันทดสอบเดินขบวนรถเสมือนจริงเข้าภายในอุโมงค์ผาเสด็จ และอุโมงค์หินลับ เพื่อทดสอบควัน/กลิ่น รวมทั้งตรวจสอบความพร้อมและปัญหาต่างๆ ตลอดจนความปลอดภัยก่อนเปิดให้บริการอีกครั้งในวันที่ 12 ส.ค.67 ผลปรากฏว่า ฝุ่นจากขี้ปูนภายในอุโมงค์ไม่มีแล้ว แต่ฝุ่น และควันไอเสียเครื่องยนต์ของรถไฟยังคงมีอยู่ และเกินค่ามาตรฐานที่จะส่งผลกระทบต่อผู้โดยสารได้ อาทิ แสบตา และระคายคอ ดังนั้นในวันที่ 12 ส.ค.นี้ จึงยังไม่สามารถเปิดให้ขบวนรถไฟเข้าใช้บริการอุโมงค์ได้ ต้องไปใช้เส้นทางเดิมก่อน  

รายงานข่าวแจ้งต่อว่า นอกจากนี้ยังพบว่าประแจทั้ง 2 ข้าง ซึ่งเป็นจุดที่สับรางรถไฟให้เกิดการเปลี่ยนทิศทาง ยังไม่เรียบร้อยดีด้วย ซึ่งเกี่ยวข้องกับความปลอดภัย ดังนั้นภายใน 1-2 สัปดาห์นี้ จะต้องดำเนินการแก้ไขให้เรียบร้อยสมบูรณ์ เพื่อให้การเดินทางเกิดความปลอดภัย โดยนายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รมช.คมนาคม ได้เน้นย้ำกับ ขร. และ รฟท. ว่า หากไม่ชัวร์ ห้ามเปิด ต้องให้ปลอดภัยที่สุด และการเปิดบริการจะต้องไม่มีเสียงตำหนิจากผู้โดยสาร นอกจากนี้ได้สั่งการให้จัดฝึกซ้อมการอพยพผู้โดยสารภายในอุโมงค์หลายๆ ครั้ง เพื่อให้เกิดความชัวร์ก่อนเปิดบริการด้วย

รายงานข่าวแจ้งอีกว่า เบื้องต้นคาดว่าประมาณเดือน ก.ย.67 จะสามารถเปิดให้ขบวนรถไฟได้กลับมาใช้เดินรถเข้าอุโมงค์อีกครั้ง แต่จะให้เฉพาะขบวนรถปรับอากาศ ซึ่งมี 4 ขบวนเท่านั้น ได้แก่ ขบวนรถด่วนพิเศษที่ 21/22 กรุงเทพอภิวัฒน์-อุบลราชธานี-กรุงเทพอภิวัฒน์ และขบวนรถด่วนพิเศษอีสานวัตนาที่ 23/24 กรุงเทพ-อุบลราชธานี-กรุงเทพ ส่วนขบวนรถพัดลมให้วิ่งทางเดิมไปก่อน ซึ่งวิธีการแก้ปัญหาไม่ให้มีควันไอเสียภายในอุโมงค์เลย วิธีที่ดีที่สุดคือ ต้องเป็นรถปรับอากาศ โดยขณะนี้ รฟท. ได้เริ่มทยอยนำรถพัดลมมาปรับปรุงให้เป็นขบวนรถปรับอากาศแล้ว ซึ่งต้องทยอยทำ เนื่องจากหากทำพร้อมกันทั้งหมด จะไม่มีขบวนรถให้บริการประชาชน ทั้งนี้น่าจะปรับปรุงแล้วเสร็จเป็นขบวนรถปรับอากาศทั้งหมดภายใน 2 ปีนี้

รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า สำหรับอุโมงค์ผาเสด็จ และอุโมงค์หินลับ อยู่ในโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ สายตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ โดยอุโมงค์ผาเสด็จเป็นอุโมงค์ที่ยาวที่สุดในประเทศไทย มีระยะทาง 5.4 กม. ซึ่งรฟท. ได้เปิดให้ขบวนรถเข้าใช้บริการเมื่อวันที่ 28 ก.ค.67 เป็นวันแรก แต่ปรากฏว่า เมื่อขบวนรถไฟวิ่งเข้าภายในอุโมงค์ กลับมีฝุ่นตลบเข้ามายังห้องโดยสารพัดลมชั้น 3 ทำให้ผู้โดยสารภายในขบวนรถไฟได้รับผลกระทบ.