สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานจากกรุงปักกิ่ง เมื่อวันที่ 10 ส.ค. ว่า ย้อนกลับไปเมื่อเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา อียูกำหนดอัตราภาษีนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าของจีนเพิ่มเติมสูงถึงร้อยละ 38 ตามผลสรุปการสอบสวนโดยคณะกรรมาธิการยุโรป (อีซี) ว่า จีนบ่อนทำลายคู่แข่งในยุโรปอย่างไม่เป็นธรรม

ทั้งนี้ โฆษกกระทรวงพาณิชย์จีนยืนยัน การยื่นอุทธรณ์ต่อกลไกการระงับข้อพิพาทของดับเบิลยูทีโอ กรณีมาตรการห้ามอุดหนุนรถยนต์ไฟฟ้าชั่วคราวของสหภาพยุโรป เพื่อปกป้องสิทธิ และผลประโยชน์ด้านการพัฒนาของอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า และความร่วมมือในการเปลี่ยนแปลงสู่โลกสีเขียว

“คำตัดสินเบื้องต้นของอียู ขาดข้อเท็จจริงและพื้นฐานทางกฎหมาย, ละเมิดกฎของดับยูทีโออย่างร้ายแรง และบ่อนทำลายสถานการณ์โดยรวมของความร่วมมือระดับโลก ในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” แถลงการณ์ระบุ “เราเรียกร้องให้อียูแก้ไขการปฏิบัติที่ผิดพลาดในทันที และร่วมกันรักษาเสถียรภาพของความร่วมมือทางเศรษฐกิจ และการค้าระหว่างจีนกับอียู ตลอดจนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและห่วงโซ่อุปทาน”

อย่างไรก็ตาม คณะกรรมาธิการยุโรปกล่าวว่า รับทราบถึงการเคลื่อนไหวของรัฐบาลปักกิ่งแล้ว และมั่นใจว่ามาตรการชั่วคราวของอียูสอดคล้องกับดับเบิลยูทีโอ “สหภาพยุโรปกำลังศึกษารายละเอียดทั้งหมดของคำร้อง และจะตอบสนองต่อจีนในเวลาที่เหมาะสม ตามขั้นตอนขององค์การการค้าโลก” โฆษกอียูกล่าว อนึ่ง ภาษีศุลกากรขั้นสุดท้ายจะมีผลบังคับใช้ในเดือน พ.ย. นี้ ต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 5 ปี

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา จีนและอียูมีเรื่องขัดแย้งกันในประเด็นต่าง ๆ มากมาย ที่เกี่ยวข้องกับการค้า, เทคโนโลยี, สิทธิมนุษยชน และความมั่นคงของชาติในหลายมิติ

ก่อนหน้านี้ สหรัฐขึ้นภาษีศุลกากรสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าของจีนเป็นร้อยละ 100 ขณะที่แคนาดากำลังพิจารณาการดำเนินการในลักษณะเดียวกัน

การก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำด้านยานยนต์ไฟฟ้าของจีน เป็นผลมาจากกลยุทธ์อุตสาหกรรมที่กำหนดเป้าหมาย ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา รัฐบาลปักกิ่งทุ่มเงินจำนวนมหาศาลให้กับบริษัทในประเทศ รวมถึงการวิจัยและพัฒนา ทำให้จีนได้เปรียบอย่างมากในการแข่งขันเพื่อจัดหายานยนต์ไฟฟ้าราคาถูก และมีประสิทธิภาพมากกว่าผู้ผลิตรถยนต์ชั้นนำของยุโรป ที่ไม่ได้รับความเอื้อเฟื้อจากรัฐ

ตามข้อมูลของ คณะมนตรีแอตแลนติกเหนือ ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าในต่างประเทศของจีนเพิ่มขึ้น 70% เมื่อปี 2566 แตะ 34,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.2 ล้านล้านบาท) โดยเกือบ 40% เป็นการส่งออกไปยังสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นตลาดต่างประเทศขนาดใหญ่ที่สุดสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าจีน.

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES