วันที่ 7 ส.ค.เป็นวันประวัติศาสตร์การเมืองอีกครั้งที่ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคก้าวไกล ซึ่งคราวนี้ พรรคได้เตรียมทางหนีทีไล่ไว้อย่างดี โดยน่าจะดีลกับพรรคถิ่นกาขาวชาววิไลไว้ล่วงหน้านานพอสมควร เมื่อยุบพรรคก็ย้ายองคาพยพ สส.เซ็นเข้าเป็นสมาชิกพรรค“ประชาชน”ทันที แบบถ้าใครอิ๊อ๊ะจะเป็นงูเห่านาทีนั้นเห็นทีจะจบไม่สวย

อาจมองดูเป็นตลกร้ายก็ได้ ที่ตั้งชื่อพรรคว่า“ประชาชน” ถ้าเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองกับพรรคอีก มันก็เหมือนให้รู้สึกว่า “กระทำต่อประชาชน” เลือกหัวหน้าพรรคใหม่ได้ “เท้ง ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ”ได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่ และเดินหน้าต่อไม่รอโดยทำการเมืองท้องถิ่น ส่งผู้สมัครลง อบจ.บางจังหวัด เริ่มจากราชบุรี

ก็หวังกันว่า ในช่วงการเมืองกระแสแรงแบบนี้ จะส่งให้ผู้สนับสนุนพรรคประชาชนเข้าคูหากาเลือกพรรคกันอย่างล้นหลาม เผลอๆ เป้าหมายแลนด์สไลด์ในปี 2570 ก็ไม่น่าจะไกลเกินไป ( หรืออาจก่อนก็ได้ ถ้ารัฐบาลมีเหตุให้ต้องยุบสภาก่อน ) เพื่อเป็นการ “ตบหน้าอำนาจเก่า” ให้รู้ว่า “พลังมวลมหาประชาชนเป็นอย่างไร”

ถึงจะบอกว่า“ตายสิบเกิดแสน” แต่เชื่อได้ว่า สิ่งที่เป็นข้อกังวลสำหรับ สส.ก้าวไกลที่ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง และ สส.พรรคประชาชน คือการใช้ ม.112 เล่นงานอีกรอบ จากการที่มีผู้ไปยื่นร้อง ป.ป.ช.ให้ตรวจสอบทางจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ยื่นเสนอแก้ไข ม.112 ซึ่งสุดท้ายเรื่องจะต้องไปจบที่ศาลฎีกา

น.ส.พรรณิการ์ วานิช แกนนำคณะก้าวหน้าโดนมาแล้ว ที่โพสต์รูปในลักษณะ“ถูกตีความว่าไม่บังควร” โพสต์น่าจะสมัยเรียนด้วยซ้ำ ถูกวินิจฉัยว่า “ยังคงปล่อยให้ภาพถ่ายและข้อความดังกล่าวปรากฏอยู่ในเฟซบุ๊กสาธารณะ เป็นการแสดงออกถึงการไม่เคารพ และเทิดทูนต่อสถาบันฯ ตามรัฐธรรมนูญ ม. 6 ม. 50 (1) และมาตรฐานทางจริยธรรมฯ ข้อ 6

ซึ่งก็มีบรรดา“นักร้อง”เริ่มเคลื่อนไหวจี้ให้ ป.ป.ช.เร่งพิจารณาคดีที่ สส.อดีตพรรคก้าวไกล 44 คนที่เข้าชื่อเสนอแก้ไข ม.112 พวกนี้เป็น สส.ตอนรัฐบาลชุดที่ผ่านมา ซึ่งก็มี สส.ใหม่ เจอข้อหา ม.112 ด้วย เช่น น.ส.รักชนก ศรีนอก นายปิยรัฐ จงเทพ อีกทั้งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีอยู่ส่วนหนึ่งที่กล่าวถึง“การประกันตัวผู้ต้องหาคดีการเมือง”

เมื่อเอาพฤติกรรมของ น.ส.พรรณิการ์มาเทียบเคียงดู หากมองโลกแง่ร้ายสุดขีด คนที่เคลื่อนไหวในการโพสต์อะไรต่างๆ ( อาจรวมถึงการร่วมกับม็อบ ) อาจโดนตัดสิทธิ์ทางการเมืองตลอดชีวิตไปด้วย แต่กรณีผู้ที่แก้ไข ม.112 โดยยื่นตามขั้นตอนรัฐสภา และไม่เคยปรากฏไปเคลื่อนไหวร่วมกับม็อบก็มี ตรงนี้จะมีบรรทักฐานอย่างไร ?

เป็นเรื่องน่าสนใจ เมื่อ“เท้ง ณัฐพงษ์”เองก็พูดทำนองว่า “กระบวนการแก้ไข ม.112 มันมีช่องทางให้พูดได้อยู่” แต่เรื่องช่องทางที่ว่ายังไม่ชัดเจน แล้วถ้ามีการเสนอแก้ไขผ่านกระบวนการนิติบัญญัติซึ่งเป็นหน้าที่ของ สส. ทำแล้วจะมีความผิดอีกหรือไม่ ? ถ้าทำตามกระบวนการ สภาไม่ให้ผ่าน เรื่องก็ตกไป เอาที่อภิปรายมาปรับ ก็ควรจะแค่นั้นมิใช่หรือ ?

ถ้าบอกว่า กฎหมายอยู่ในหมวดความมั่นคง การแก้อะไรก็พิจารณาว่าอย่ากระทบความมั่นคง ก็ให้ชัดเจนว่า “มีการตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองคดีก่อนฟ้อง” ตกลงว่าตอนนี้มีหรือไม่ ? ถ้ามีก็ช่วยบอกให้ประชาชนทราบ ว่า กระบวนการกลั่นกรองต่างๆ เป็นอย่างไร และไปให้ความรู้ สส.หน่อยว่า เสนออย่างไรไม่ให้ออกจากกฎหมายความมั่นคง

พูดก็พูดเถอะ กรณี ม.112 นี่เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ถ้าการเสนอแก้ก็ยังจะให้มีความผิด ก็ขอให้ผู้รู้ทางกฎหมายช่วยชี้แนะหน่อยเถิด ว่า ทำอย่างไรที่จะไม่ให้กฎหมายนี้ถูกใช้เป็นการกลั่นแกล้งทางการเมือง ลองคิดอีกมุมว่า การดึงสถาบันออกมาเป็นคู่ขัดแย้งทางการเมือง เพราะการบังคับใช้กฎหมายแบบเหาะเหินเกินลงกา ถึงประหารชีวิตทางการเมืองหรือไม่

เห็นทีนักวิชาการทั้งหลายต้องมาให้ความรู้กันจริงๆ จังๆ หน่อย อยากรู้มาก.