เมื่อวันที่ 10 ส.ค. ที่วัดไชยวัฒนาราม จ.พระนครศรีอยุธยา น.ส.สุดาวรรณ หวังศุกภิจโกศล รมว.วัฒนธรรม (วธ.) พร้อมด้วยนางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัด วธ. นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร ลงพื้นที่ติดตามแผนบริหารจัดการสถานการณ์อุทกภัยพื้นที่โบราณสถานริมแม่น้ำเจ้าพระยา โดย รมว.วธ. กล่าวว่า จากที่มีฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่อง จึงมีความเป็นห่วงพื้นที่โบราณสถานแหล่งมรดกโลกที่อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา อีกทั้งวัดไชยวัฒนารามยังเคยถูกน้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2554 อย่างไรก็ตามจากการติดตามสถานการณ์ และรับฟังแผนการบริหารจัดการน้ำโดยเฉพาะที่วัดไชยวัฒนาราม พบว่า มีความพร้อมทุกด้าน โดยกรมศิลปากรได้ติดตั้งแผงป้องกันน้ำท่วมที่สามารถยกตั้งขึ้นและพับเก็บได้เป็นแนวป้องกันน้ำท่วมมีความยาว 160 เมตร สูงจากผิวบนสุดของขอบตลิ่งประมาณ 1.80 เมตร และต่อความสูงเพิ่มได้ถึง 2.40 เมตร นอกจากนี้ ยังมีแนวกำแพงป้องกันน้ำถาวรก่อด้วคอนกรีตเสริมเหล็กแนวทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3469 เป็นแนวป้องกัน รวมถึงการจัดแผนรองรับยังพื้นที่โบราณสถานสำคัญในพื้นที่นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ที่มีความเสี่ยงตามแผนปฏิบัติการลดผลกระทบจากภัยพิบัติการอนุรักษ์และพัฒนานครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ปี 2566-2575 โดยร่วมกับจ.พระนครศรีอยุธยา และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทหาร หน่วยงานท้องถิ่น จัดแนวทางป้องกันอย่างมีประสิทธิภาพ ยืนยันว่า จากความพร้อมดังกล่าว จะทำให้ไม่เกิดน้ำท่วมเช่นเดียวกับปี 2554 ทั้งได้สั่งการให้กรมศิลปากร ติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำตลอด 24 ชั่วโมง
น.ส.สุดาวรรณ กล่าวต่อไปว่า พร้อมกันนี้ยังได้ติดตามแผนการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมเพื่อนำเสนอในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อย่างเป็นทางการนอกสถานที่ จ.พระนครศรีอยุธยา วันที่ 19-20 ส.ค. โดยพบว่ามีนักท่องเที่ยวจำนวนมาก ขณะที่ผู้ประกอบการอยากให้เปิดการท่องเที่ยวยามค่ำคืนที่วัดไชยวัฒนารามอีก เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยว ซึ่งปีนี้สร้างรายได้มากกว่า 80 ล้านบาท จึงมีแนวคิดจะเปิดการท่องเที่ยวยามค่ำอีกครั้งเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวสร้างรายได้แก่ชุมชนท้องถิ่น และยังได้ติดตามความคืบหน้าการจัดทำรายงานประเมินผลกระทบด้านทรัพย์สินทางวัฒนธรรม หรือ HIA ในการก่อสร้างรถไฟทางคู่ (รถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพฯ-หนองคาย ช่วงสถานีอยุธยา) ในเขตพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา (ช่วงบ้านโพ-พระแก้ว) ซึ่งศูนย์มรดกโลกได้แสดงความกังวลและสอบถามข้อเท็จจริงเกี่ยวกับโครงการรถไฟความเร็วสูง และขอให้มีการจัดทำรายงาน HIA ที่อาจมีต่อแหล่งมรดกโลกนครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา โดยมีกำหนดแล้วเสร็จก่อนการประชุม ครม. อย่างเป็นทางการนอกสถานที่ จ.พระนครศรีอยุธยา อีกทั้งจะเชิญผู้เชี่ยวชาญจากองค์กรที่ปรึกษาของคณะกรรมการมรดกโลก เดินทางลงพื้นที่แหล่งมรดกโลกนครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา และพื้นที่โครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง เพื่อให้คำปรึกษาแนะนำการประเมินและลดผลกระทบต่อแหล่งมรดกโลก ในช่วงเดือน ก.ย. นี้