สงครามที่เกิดขึ้นตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันไม่ว่าจะเกิดในพื้นที่ใดบนโลก และคู่ขัดแย้งจะเป็นชาติใดก็ตาม ล้วนสร้างความสูญเสียทั้งชีวิตตามมา

ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ก่อให้เกิดสงครามปะทุขึ้นตั้งแต่ 24 กุมภาพันธ์ 2022 จนถึงปัจจุบัน ผ่านมา 2 ปีกว่าแล้ว แต่ไฟสงครามก็ยังไม่รู้ว่าจะยุติเมื่อใด?

“ไฟสงคราม” ได้สร้างความแหลกลาญ เผาผลาญบ้านเรือนที่อยู่อาศัยของประชาชนจำนวนมาก และหลายพื้นที่ในยูเครน เต็มไปด้วยไปด้วยกับระเบิด ซึ่งว่ากันว่า “ยูเครน” กลายเป็นประเทศที่มีกับระเบิดมากที่สุดในโลกไปแล้ว!!

สิ่งเหล่านี้ได้สร้างความไม่ปลอดภัยให้กับชาวยูเครน ที่ต้องเสี่ยงภัยอันตรายกับทุ่นระเบิดเหล่านี้ วันนี้ คอลัมน์ “ชีวิตติด TECH” มีเรื่องราวในการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการ กำจัดทุ่นระเบิดในยูเครน โดย องค์กร HALO Trust ซึ่งเป็นองค์กรกำจัดทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรมที่ใหญ่ที่สุดในโลก มาเล่าสู่กันฟัง

โดย องค์กร HALO Trust ได้นำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) และแมชชีนเลิร์นนิง (ML) มาใช้ในการปฏิบัติงานช่วยเหลือประชาชนในยูเครน โดยได้รับการสนับสนุนมูลค่า 4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 143 ล้านบาท จาก Amazon Web Services (AWS) เพื่อนำเทคโนโลยี Generative AI หรือ เจน เอไอ  มาใช้ในการตรวจหาซากปรักหักพังจากสงคราม รวมถึงทุ่นระเบิดและวัตถุระเบิดอื่น ๆ จากภาพถ่ายทางอากาศของพื้นที่สงครามและพื้นที่ที่มีทุ่นระเบิดในยูเครน

การนำ เจน เอไอ มาช่วย จะทำให้สามารถใช้ภาพถ่ายจากดาวเทียมในการตรวจหาอย่างอัตโนมัติ ไม่ว่าจะเป็นอาคารที่ได้รับความเสียหายจากวัตถุระเบิด รวมถึงสิ่งก่อสร้างและร่องรอยต่าง ๆ ที่บ่งบอกถึงกิจกรรมของมนุษย์ เช่น พื้นที่เพาะปลูก อาคาร ถนน และแหล่งน้ำที่อยู่ใกล้พื้นที่สนามรบและทุ่นระเบิด ซึ่งที่ได้มาจะช่วยให้ HALO สามารถจัดลำดับความสำคัญของพื้นที่ที่ต้องกำจัดวัตถุระเบิดได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

“เจมส์ โคแวน” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ HALO บอกว่า การใช้ความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและกำลังประมวลผลของ AWS จะช่วยให้เราค้นหาและกำจัดพื้นที่อันตรายได้อย่างมีประสิทธิภาพและแม่นยำมากขึ้น และยังเป็นก้าวสำคัญที่จะเปลี่ยนวิธีที่องค์กรของเราจัดเก็บ ประมวลผล วิเคราะห์ และเผยแพร่ข้อมูลจำนวนมหาศาลแบบเรียลไทม์ ซึ่งเป็นข้อมูลที่เราเก็บรวบรวมจากการปฏิบัติงานทั่วโลก รวมถึงในพื้นที่สงครามที่ยังคงดำเนินอยู่ เช่น ในยูเครน เราสามารถทำทุกอย่างนี้บนระบบคลาวด์ได้อย่างง่ายดาย

ทั้งนี้ HALO ได้นำโดรนมาบินสำรวจพื้นที่ในยูเครนเพื่อตรวจหาทุ่นระเบิดรวมแล้ว 542 เที่ยวบิน ซึ่งข้อมูลภาพถ่ายที่จากการบินโดรนมีขนาดมหาศาลถึง 11 เทราไบต์ และยังมีข้อมูลเพิ่มเติมทุกวัน โดยทาง HALO คาดว่าในเดือนถัดไป จะเริ่มโครงการนำร่องทดลองวิเคราะห์ภาพถ่ายจากโดรนด้วยระบบ AI

“ภาพถ่ายจากโดรน และ ภาพถ่ายจากดาวเทียม มีความสำคัญอย่างยิ่งในการช่วยให้ HALO สามารถสำรวจพื้นที่ขนาดใหญ่ได้อย่างครอบคลุม เพื่อให้บุคลากรกว่า 11,000 คนทั่วโลก ของ HALO สามารถค้นหาพื้นที่เสี่ยงที่ต้องได้รับการกำจัดวัตถุระเบิดอย่างละเอียดด้วยมือหรือด้วยเครื่องจักร การสำรวจที่แม่นยำจะทำให้กระบวนการกำจัดวัตถุระเบิดมีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพมากขึ้น และสามารถคืนพื้นที่ให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์อย่างรวดเร็ว

แม้ว่าในปัจจุบัน HALO จะพึ่งพาภาพถ่ายจากดาวเทียมเป็นหลักในการสนับสนุนการสำรวจทางอากาศ แต่ยูเครนเป็นหนึ่งในประเทศที่ HALO ได้เก็บรวบรวมข้อมูลภาพถ่ายความละเอียดสูงจากโดรนจำนวนมาก ซึ่งสามารถนำมาวิเคราะห์ด้วยระบบ AI เพื่อเร่งการตรวจจับซากปรักหักพังจากสงครามและทุ่นระเบิด

อย่างไรก็ตาม การจะใช้ AI เข้ามาเป็นตัวช่วยในการกำจัดทุ่นระเบิด สิ่งสำคัญก็คือ ต้องมีการฝึก หรือ เทรน AI ให้สามารถตรวจจับซากปรักหักพังจากสงครามหรือที่เรียกว่า ERW (Explosive Remnants of War) จากภาพถ่ายทางอากาศของโดรนนั้น เป็นกระบวนการที่ต้องใช้เวลาและความพยายาม จำเป็นต้องมีการระบุข้อมูลด้วยมือจากภาพจำนวนหลายพันภาพ เพื่อให้อัลกอริทึมสามารถเรียนรู้วิธีการสำรวจพื้นที่ที่มีระเบิดได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าการทำด้วยมนุษย์ในปัจจุบัน

นอกจากนี้ การที่จะให้ได้ผลลัพธ์ที่แม่นยำและน่าเชื่อถือ จำเป็นต้องมีการตรวจสอบและยืนยันความถูกต้องของโมเดล AI อย่างต่อเนื่อง โดยเจ้าหน้าที่ที่ผ่านการฝึกอบรมจากองค์กร HALO ซึ่งเป็นองค์กรที่มีความเชี่ยวชาญในด้านนี้ เพื่อกำจัดผลลัพธ์ที่คลาดเคลื่อนและเพิ่มความแม่นยำของโมเดลให้สูงขึ้น ด้วยกระบวนการเหล่านี้ ระบบ AI จะสามารถค้นหาและตรวจจับซากปรักหักพังจากสงครามได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ด้าน “เดฟ เลวี” รองประธานบริหารฝ่ายภาครัฐทั่วโลกของอะเมซอน เว็บ เซอร์วิสเซส  บอกว่า การกำจัดทุ่นระเบิดและวัตถุระเบิดอื่น ๆ ที่ตกค้างจากความขัดแย้งและสงครามทั่วโลก การใช้เทคโนโลยี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์แบบสร้างสรรค์ หรือ Generative AI  นั้น มีศักยภาพในการช่วยแก้ปัญหาระดับโลกได้ และจะช่วยเร่งให้กระบวนการกำจัดวัตถุระเบิดได้ อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ทาง  AWS  ต้องให้การฝึกอบรมแก่พนักงานของ HALO ด้วย เพื่อให้สามารถใช้งานเทคโนโลยีได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยเฉพาะพนักงานเก็บข้อมูลภาคสนามกว่า 1,200 คน ใน 30 ประเทศและดินแดน ซึ่งบุลคลากรเหล่านี้ทั้งหมเต้องอัปโหลดและจัดเก็บข้อมูลปริมาณมหาศาลอย่างปลอดภัยทุกวัน

ไม่ว่าจะเป็นภาพถ่ายข้อมูลเชิงพื้นที่และไม่ใช่เชิงพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาพถ่ายจากโดรนและดาวเทียมที่มีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และต้องลงพื้นที่ปฎิบัติงานในสนามระเบิดที่มีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้จำกัดหรือไม่มีเลย ดังนั้น บุคลากรเหล่านี้จึงต้องการโซลูชันด้านเทคโนโลยีที่ช่วยให้สามารถทำงานแบบออฟไลน์ได้อย่างราบรื่น และอัปโหลดข้อมูลเหล่านั้นไปยังคลาวด์เมื่อมีแบนด์วิดท์เพียงพอ ซึ่งทาง AWS ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการสนับสนุน

ภาพ pixabay.com

AWS ช่วยให้ HALO สามารถประมวลผลข้อมูลต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเก็บรักษาข้อมูลเหล่านั้นไว้อย่างปลอดภัยภายในโครงสร้างพื้นฐานระบบคลาวด์ของ AWS และช่วยขับเคลื่อนระบบสำคัญต่างๆ ของ HALO ได้แก่ ระบบจัดการข้อมูลปฏิบัติการทั่วโลก ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ ระบบประมวลผลภาพจากโดรนและดาวเทียม รวมถึงโมเดล AI และแมชชีนเลิร์นนิง (ML)

เทคโนโลยีเหล่านี้ ได้แพร่หลายและถูกนำไปใช้งานมากขึ้นในหลายๆ ประเทศ ซึ่งจะช่วยให้การตัดสินใจเชิงปฏิบัติการมีประสิทธิภาพมากขึ้น และที่สำคัญก็คือมันช่วยชีวิตคนได้ด้วย!!

Cyber Daily