เป็นที่น่าจับตา เมื่อศาลรัฐธรรมนูญนัดหมายวันที่ 14 ส.ค. นี้ เพื่อพิจารณาตัดสินและอ่านแถลงคำวินิจฉัย คดีที่ประธานวุฒิสภาส่งคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ว่า ความเป็นรัฐมนตรีของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และนายพิชิต ชื่นบาน รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (4) และ (5) หรือไม่ (เรื่องพิจารณาที่ 17/2567)

โดยเรื่องนี้สืบเนื่องจากสมาชิกวุฒิสภา (สว.) 40 คน ยื่นคำร้องต่อประธานวุฒิสภา (ผู้ร้อง) ว่า นายเศรษฐา ในฐานะผู้ถูกร้องที่ 1 ได้นำความกราบบังคมทูลเพื่อโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายพิชิต ซึ่งเป็นผู้ถูกร้องที่ 2 เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ทั้งๆ ที่รู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่า นายพิชิตขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเคยถูกศาลฎีกามีคำสั่งจำคุก 6 เดือน ในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล เป็นบุคคลที่กระทำการอันไม่ซื่อสัตย์สุจริตและมีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (4) และ (5)

เป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องทั้งสองสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (4) และ (5) หรือไม่ ผู้ร้องจึงส่งคำร้องเพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งไม่รับคำร้องเฉพาะส่วนของผู้ถูกร้องที่ 2 สำหรับกรณีของผู้ถูกร้องที่ 1 มีคำสั่งรับไว้พิจารณาวินิจฉัย โดยผู้ถูกร้องที่ 1 ยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อศาลรัฐธรรมนูญแล้ว

สำหรับแนวทางคำตัดสินของศาล สามารถออกได้ 2 ทาง คือ ทางแรกศาลวินิจฉัยว่า ความเป็นรัฐมนตรีของนายเศรษฐาสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ในส่วนนี้ก็จะเข้าสู่กระบวนการสรรหานายกรัฐมนตรีคนใหม่ ขณะที่ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดนั้น ก็ยังสามารถปฏิบัติงานต่อไปได้ จนกว่าจะมีการเลือกนายกฯ คนใหม่ และมีการแต่งครั้ง ครม. ชุดใหม่เข้ามา

ส่วนแนวทางที่ 2 คือ ศาลวินิจฉัยว่า นายเศรษฐา ไม่มีความผิดในการแต่งตั้งนายพิชิต เป็นรัฐมนตรี ซึ่งมีความเป็นไปได้ จากแนวทางการต่อสู้ของนายเศรษฐาว่า ก่อนที่จะมีการแต่งตั้งนายพิชิตเข้าดำรงตำแหน่งนั้น ได้มีการสอบถามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามกระบวนการแล้ว เช่น มีการสอบถามไปยังสำนักงานกฤษฎีกาไปแล้ว อีกทั้งยังมีการยกเหตุผลว่า กรณีคดีของนายพิชิต เกิดขึ้นมานานกว่า 15 ปี ก่อนรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 บังคับใช้ และยังประกอบกับการที่นายพิชิต ซึ่งภายหลังได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ไปแล้วเพียงไม่นาน ก็ได้ลาออกจากตำแหน่ง ก่อนวันที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีมติรับคำร้องไว้พิจารณา


ทั้งนี้ ผลการวินิจฉัยชี้ขาดของศาลรัฐธรรมนูญครั้งนี้ จะถือเป็นบรรทัดฐานสำหรับนายกรัฐมนตรี ที่จะตั้ง ครม. ครั้งต่อๆ ไป ว่าสิ่งที่เรียกว่าชอบด้วยกฎหมาย หรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย จะมีลักษณะอย่างไร ดังนั้นทุกสายตาจึงจับจ้องมาที่ผลการตัดสินชี้ขาดของศาลรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 14 ส.ค. 2567 เวลา 15.00 น.