สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานจากกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 9 ส.ค. ว่าสำนักงานตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศโคเปอร์นิคัส ของสหภาพยุโรป (อียู) เปิดเผยว่า “มีแนวโน้มสูง” ที่ปี 2567 จะเป็นปีซึ่งมีอากาศร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ แม้เดือน ก.ค. ที่ผ่านมา ถือเป็นการสิ้นสุดสถิติอุณหภูมิรายเดือนสูงติดต่อกัน 13 เดือนก็ตาม
รายงานของซี3เอสระบุว่า เดือนที่แล้วเป็นเดือนซึ่งร้อนเป็นอันดับ 2 ตามบันทึกสถิติย้อนหลังไปถึงปี 2483 แต่เย็นกว่าเดือน ก.ค. ปี 2566 เพียงเล็กน้อย ขณะที่อุณหภูมิระหว่างเดือน มิ.ย. 2566-มิ.ย. 2567 สูงทำลายสถิติในช่วงเวลาดังกล่าว
น.ส.ซาแมนธา เบอร์เกส รองผู้อำนวยการ ซี3เอส กล่าวว่า “13 เดือนที่ร้อนทำลายสถิติได้สิ้นสุดลงแล้วเพียงชั่วพริบตา” และในเดือนที่แล้ว อุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกอยู่ที่ 16.91 องศาเซลเซียส ซึ่งต่ำกว่าเดือน ก.ค. 2566 เพียง 0.04 องศาเซลเซียส แต่ภาพรวมยังไม่ได้เปลี่ยนแปลงไป และสภาพอากาศของเรายังคงร้อนขึ้น เธออธิบายว่า “ผลกระทบอันเลวร้ายของการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศเริ่มขึ้นนานก่อนปี 2566 และจะดำเนินต่อไป จนกว่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกจะแตะศูนย์”
ระหว่างเดือน ม.ค.-ก.ค. ที่ผ่านมา อุณหภูมิโลกสูงกว่าค่าเฉลี่ยในปี 2534-2563 ถึง 0.68 องศาเซลเซียส ซึ่งความผิดปกติดังกล่าวควรลดลงในช่วงที่เหลือของปีนี้ เพื่อให้ปี 2567 ไม่ร้อนกว่าปีที่แล้ว
ในทางกลับกัน กลับมีแนวโน้มมากขึ้นเรื่อย ๆ ว่า ปีนี้อาจเป็นปีซึ่งมีอากาศร้อนที่สุดเท่าที่มีการบันทึกไว้ หลังเดือน ก.ค. มีอุณหภูมิสูงกว่าอุณหภูมิเฉลี่ยที่คาดการณ์ไว้ในช่วงปี 2393-2443 ถึง 1.48 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นช่วงเวลาก่อนที่โลกจะเริ่มเผาผลาญเชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ผู้คนหลายร้อยล้านคนต้องเผชิญกับสภาพอากาศร้อนที่เลวร้าย
อนึ่ง อุณหภูมิเฉลี่ยโลกมีระดับสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์สองวัน เมื่อเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา โดยอยู่ที่ 17.16 องศาเซลเซียส และ 17.15 องศาเซลเซียสเมื่อวันที่ 22 และ 23 ก.ค.ที่ผ่านมา ตามลำดับ
มากไปกว่านั้น อุณหภูมิของมหาสมุทร ซึ่งดูดซับความร้อนส่วนเกิน ซึ่งร้อยละ 90 เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ ยังสูงเป็นอันดับ 2 จากสถิติทั้งหมดที่บันทึกไว้ โดยผิวน้ำทะเลในเดือนที่แล้วมีอุณหภูมิเฉลี่ยอยู่ที่ 20.88 องศาเซลเซียส ซึ่งต่ำกว่าเดือน ก.ค. 2566 เพียง 0.01 องศาเซลเซียส ถือเป็นจุดสิ้นสุดของ 15 เดือนแห่งสถิติความร้อนของมหาสมุทรโลก
อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์ตั้งข้อสังเกตว่า อุณหภูมิอากาศเหนือมหาสมุทรยังคงสูงผิดปกติในหลายภูมิภาค แม้จะมีปัจจัยจากการสิ้นสุดของสภาพอากาศเอลนีโญ ซึ่งก่อให้เกิดความร้อน.
เครดิตภาพ : AFP