ที่โรงเรียนราษฏร์วิทยา (ตี่มิ้ง) อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก นายสัญญา เพชรเศษ นายอำเภอแม่สอด พร้อมด้วย นายสมศักดิ์ คะวีรัตน์ ผู้จัดการและผู้รับใบอนุญาต โรงเรียนราษฏร์วิทยา (ตี่มิ้ง)  พร้อมด้วยนายกำธร บุญสา ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดตาก  ดร.สุชาติ  ตรีรัตน์วัฒนา ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอแม่สอด คณะกรรมการสถานศึกษา ส่วนราชการ ภาคเอกชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  ร่วมเปิดกิจกรรม กิจกรรมสืบสานศิลปะการแสดง “โขน” เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 12สิงหาคม  2567 โดยมีคณะผู้ปกครองนักเรียน คณะครู นักเรียนและชาวอำเภอแม่สอด เข้าร่วมรับชมการแสดงในครั้งนี้ ซึ่งในปีนี้ทางสภาวัฒนธรรมจังหวัดตากร่วมกับโรงเรียนราษฎร์วิทยา (ตี่มิ้ง) ได้จัดการแสดงโขน เรื่อง รามเกียรติ์ ตอน พรหมมาศ ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงมีต่อการอนุรักษ์ ฟื้นฟู สืบทอด พัฒนาและเผยแพร่มรดกศิลปวัฒนธรรมของชาติ ด้านนาฏศิลป์และดนตรีไทย โดยเฉพาะศิลปะการแสดงโขน ซึ่งเป็นสมบัติอันล้ำค่าที่บรรพชนมอบไว้ ทรงมีพระราชปณิธานมุ่งมั่นที่จะดำรงรักษาศิลปะการแสดงโขนเพื่อเป็นมรดกของชาติไทยไว้สืบไป 

โดยทางคณะครูและนักเรียนโรงเรียนราษฎร์วิทยา (ตี่มิ้ง) ได้รังสรรค์จัดการแสดงโขนชุดนี้ขึ้น เพื่อเทิดพระเกียรติ แต่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถพระบรมราชชนนีพันปีหลวง และร่วมกันรักษาอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมดั้งเดิม อันดีงามของไทยไว้ ในโอกาสวันแม่แห่งชาติปีนี้ ทางโรงเรียนราษฎร์วิทยา (ตี่มิ้ง) จึงถือโอกาสร่วมจัดกิจกรรมนี้ เพื่อเป็นของขวัญมอบให้กับคุณแม่ทุกท่าน  การจัดกิจกรรมในวันนี้ ได้สร้างความประทับใจ ให้กับผู้ที่เข้าร่วมรับชมเป็นอย่างมาก     

ก่อนการแสดง มีพิธีถวายความเคารพเบื้องหน้าพระฉายาลักษณ์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 12 สิงหาคม 2567   จากนั้นได้ร่วมเปิดกิจกรรมการแสดง    โดยนักเรียนชมรมนาฏศิลป์โรงเรียนราษฎร์วิทยา (ตี่มิ้ง) ในการแสดง ทั้งการ รำถวายพระพร ชื่อชุดการแสดง “ระบำไตรรัตน์” การแสดงชุดที่ 2 ในระดับปฐมวัย ในชุดการแสดงจินตลีลา ชื่อชุดการแสดงว่า ความรักที่ยิ่งใหญ่ คือ ความรักของแม่   และการแสดงไฮไลท์ คือ  การแสดงโขนรามเกียรติ์ ตอน พรหมมาศ   ซึ่งเป็นตอน ที่ ทศกัณฐ์เจ้ากรุงลงกา เมื่อรู้ข่าวว่าหลานของตน แสงอาทิตย์และมังกรกัณฐ์ พ่ายแพ้ให้กับกองทัพของพระราม จึงสั่งให้  กาลสูร ไปบอกอินทรชิต ซึ่งเป็นลูกชาย ให้เร่งชุบศรพรหมาศ เพื่อออกไปรบกับกองทัพของพระลักษมณ์     อินทรชิต จึงแปลงกาย เป็นพระอินทร์ ให้การุณราชแปลง เป็นช้างเอราวัณ พร้อมกับให้กองทัพยักษ์ทั้งหลาย แปลงกายเป็น เทวดา นางฟ้า ออกมาจับระบำ/รำ/ฟ้อน กลางท้องฟ้า   พระลักษมณ์และพลวานร หลงกล คิดว่าองค์พระอินทร์ เทพบุตร เทพธิดา ออกมาจับระบำ/รำ/ฟ้อน/ด้วยความหรรษา จึงเพลิดเพลินกับความสวยงามที่อยู่เบื้องหน้า อินทรชิตจึงใช้โอกาสแผลงศรพรหมมาศ ใส่กองทัพพระลักษมณ์และพลวานรสลบไป  เว้นแต่ หนุมานที่ไม่ถูกศรพรหมาศ จึงได้ขึ้นไปต่อสู้กับอินทรชิต และหักคอช้างเอราวัณได้สำเร็จ แต่กลับต้องโดนคันศรอินทรชิต/ฟาดสลบอยู่กลางสนามรบ  เมื่อความทราบถึงพระรามจึงรีบเดินทางมาช่วยเหลือในทันที      

ทั้งนี้ การแสดงโขนนาฏกรรมชั้นสูงของไทย ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจาก องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก้ เป็นมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ และเพื่อสนองพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงมีคุณูปการต่อการฟื้นฟูและอนุรักษ์การแสดงโขนมาจนถึงปัจจุบัน