เมื่อวันที่ 8 ส.ค. นายศิริวัฒน์ บุบผาเจริญ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ นายอนุวัติ อุปนันไชย ประมงจังหวัดอุตรดิตถ์ นายวุฒิไกร สร่างนิทร ผู้อำนวยการเขื่อนสิริกิติ์ พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และสื่อมวลชน ได้ลงเรือเร็ว มุ่งหน้าไปยังหมู่บ้านประมงน้ำจืด ชุมชนเลี้ยงปลากระชังภายในอ่างเก็บน้ำเขื่อนสิริกิติ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ หลังรับแจ้งจากชาวประมง ว่าพบปลาหมอบัตเตอร์ กำลังแพร่พันธุ์เป็นจำนวนมาก ส่งผลกระทบต่อประชากรสัตว์น้ำทุกชนิด รวมถึงพันธุ์ปลาดั้งเดิมลดลงอย่างต่อเนื่อง อยากให้มีการเร่งควบคุมการขยายพันธุ์ของปลาชนิดดังกล่าว ก่อนที่สัตว์น้ำหรือปลาประจำถิ่นจะสูญพันธุ์
โดยที่แพอาศัยของชาวประมง พบปลาหมอบัตเตอร์ที่ชาวประมงสามารถจับได้จำนวนหนึ่ง จากการสอบถามทราบว่า ในช่วง 1-2 ปี ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน พบปลาหมอบัตเตอร์เพิ่มจำนวนมากขึ้น ทั้งนี้ ปลาชนิดดังกล่าวเป็นปลาที่ฉลาด กินทุกอย่างแม้แต่อาหารของชาวประมงที่เทลงในน้ำขณะล้างจาน มักจะอาศัยอยู่ใต้แพเป็นฝูงใหญ่ จะไล่กินลูกปลา กุ้งก้ามกราม รวมไปถึงไข่ของปลาชนิดอื่นๆ ปัจจุบันปริมาณปลาหมอบัตเตอร์มีจำนวนเพิ่มขึ้น จนมีผลกระทบต่อปลาชนิดอื่นๆ โดยเฉพาะปลาประจำถิ่น เช่น ปลาตะโกก ปลาแรด ปลาซิว จากที่เคยมีอยู่เป็นจำนวนมาก ปัจจุบันลดลง
นายกนกศักดิ์ จุลบุตร ชาวประมงอาศัยอยู่บนแพ กล่าวว่า พบปลาหมอบัตเตอร์ที่เขื่อนสิริกิติ์ มาได้ประมาณ 10 ปี ซึ่งตอนนั้นมีไม่มาก ไม่รู้ที่มาที่ไป แต่ระยะ 1-2 ปีมานี้ เพิ่มจำนวนมากขึ้น ปลาชนิดนี้กินสัตว์น้ำเป็นอาหาร เมื่อก่อนปลานิลธรรมชาติชาวประมงจะจับได้เป็นจำนวนมาก เดี๋ยวนี้ไม่มีแล้ว มีเห็นคือปลานิลเลี้ยงในกระชัง ขณะเดียวกันปลาและสัตว์น้ำประเภทอื่นก็ลดลงอย่างต่อเนื่อง ทุกวันนี้ออกหาปลาดักข่าย ปลา 100 ตัว พบเป็นปลาหมอบัตเตอร์ 10-20 ตัวต่อการจับโดยประมาณ ซึ่งเป็นการบ่งชี้ให้เห็นว่าสามารถพบเจอมากขึ้น
ขณะที่นายศิริวัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ กล่าวว่า ปลาหมอบัตเตอร์ เป็น 1 ใน 3 ปลาหมอต่างถิ่น ที่กรมประมง ห้ามนำเข้า ส่งออก หรือเพาะเลี้ยง ตั้งแต่ปี 2561 พร้อมๆ กับปลาหมอสีคางดำ และปลาหมอมายัน ปัจจุบันพบแพร่พันธุ์ในอ่างเก็บน้ำเขื่อนสิริกิติ์ ส่งผลทำให้พันธุ์ปลาดั้งเดิมลดน้อยลง และเข้าไปแทนที่ปลาประจำถิ่นบางชนิดแล้ว เบื้องต้นประสานไปยังประมงจังหวัด และศูนย์ประมงเขตพิษณุโลก เร่งสำรวจอัตราการเจริญเติบโตของปลาดังกล่าวในเขื่อนสิริกิติ์อยู่ในระดับใด
ทั้งนี้ จะมีการควบคุมไม่ให้มีการขยายไปยังแหล่งน้ำธรรมชาติ พร้อมทั้งได้มีการประชาสัมพันธ์ไปยังชาวประมง และผู้เลี้ยงพันธุ์สัตว์น้ำภายในเขื่อนสิริกิติ์ ช่วยในการแจ้งจุดการระบาด และห้ามเพาะเลี้ยงอย่างเด็ดขาด ขณะนี้พบเฉพาะในอ่างเก็บน้ำของเขื่อนสิริกิติ์ ยังไม่พบการแพร่ระบาดตามลำน้ำต่างๆ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่าปลาหมอบัตเตอร์อาศัยอยู่ในน้ำนิ่งๆ และอยู่ในระดับที่ลึก.