ดร.สรชัด สุจิตต์ สส.สุพรรณบุรี เขต 1 พรรคชาติไทยพัฒนา เป็นประธานเปิดกิจกรรมรณรงค์ การป้องกัน และควบคุมโรคไข้เลือดออก จังหวัดสุพรรณบุรี ภายใต้แนวคิด “สุพรรณบุรี รวมพลังกำจัดยุงลาย ลดการป่วยตายไข้เลือดออก” โดยมีนายพัทธพงศ์ ตั้งสะสม ผู้ช่วยนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสุพรรณบุรี นางสาวนฤมล วัชระพงศ์ไพบูลย์ นายกเทศมนตรีตำบลโพธิ์พระยา นายยรรยง อรรถีโภค รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา เขต 1 นางศิริพร วิศิษฏ์ยิ่งเจริญ ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดวรจันทร์ นางศิริณี วัธนินทร ประธานชมรมอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) แพทย์หญิงธัญญกร นันทิยกุล รองผู้อำนวยการด้านบริการปฐมภูมิ รพ.เจ้าพระยายมราช หลุยส์ เฮส /แชป วรากร ศวัสกร /ไอซ์ อธิชนัน ศรีเสวก ศิลปิน นักแสดงช่อง 7 เอชดี ร่วมพิธี และประชาชนร่วมพิธีจำนวนมาก

ดร.สรชัด กล่าวว่า สถานการณ์โรคไข้เลือดออกในช่วงนี้เริ่มน่าเป็นห่วง พบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี จึงขอเน้นย้ำให้ประชาชนทายากันยุง เพื่อป้องกันตนเองจากการถูกยุงกัด โดยเฉพาะผู้ป่วยไข้เลือดออก เพื่อป้องกันการกระจายเชื้อไข้เลือดออกในตัวผู้ป่วยสู่ชุมชน เพราะผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกหากถูกยุงลายกัดสามารถส่งต่อเชื้อไข้เลือดออกให้ผู้อื่นได้ การทายากันยุงในผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกจะช่วยตัดวงจรดังกล่าว และลดการระบาดของโรคไข้เลือดออก นอกจากนี้ต้องขอความร่วมมือประชาชนให้ช่วยกันสำรวจ และทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย หากมีอาการสงสัยโรคไข้เลือดออก เช่น มีอาการไข้สูงลอย ร่วมกับอาการปวดศีรษะ ปวดกระบอกตา หน้าแดง คลื่นไส้ อาเจียน อาจมีผื่นหรือมีจุดเลือดออกที่ลำตัว แขน ขา เป็นต้น ไม่ควร ซื้อยามารับประทานเอง ยาลดไข้ที่ปลอดภัยคือ ยาพาราเซตามอล ตามขนาดยาที่กำหนด ควรหลีกเลี่ยง ยาลดไข้ในกลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) เช่น ไอบูโพรเฟน ไดโคลฟีแนค แอสไพริน รวมถึงยาชุด ซึ่งอาจมีผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง ทั้งนี้หากรับประทานยาลดไข้หรือเช็ดตัวแล้ว ไข้ไม่ลดภายใน 1-2 วัน ควรรีบไปพบแพทย์ทันที ซึ่งโรคไข้เลือดออกหากได้รับการรักษาเร็ว จะสามารถป้องกันอาการรุนแรงและเสียชีวิตได้

ด้านนายพัทธพงศ์ กล่าวว่าโรคไข้เลือดออก เป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญ โดยมีแนวโน้มการระบาดสูงขึ้น ในช่วงฤดูฝนของทุกปี ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 ถึง 4 สิงหาคม 2567 พบผู้ป่วยจำนวนทั้งสิ้น 806 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 100.29 ต่อประชากรแสนคน เสียชีวิต จำนวน 2 ราย กลุ่มอายุที่พบผู้ป่วยมากที่สุดคือ อายุ 15-24 ปี รองลงมาคือ 10-14 ปี, 25-34 ปี และ 5-9 ปี ตามลำดับ ส่วนใหญ่เป็น นักเรียน นักศึกษา และกลุ่มวัยทำงาน อำเภอที่มีอัตราป่วยสูงสุด คือ อำเภอบางปลาม้า สามชุก และเมืองสุพรรณบุรี หลายครั้ง ที่จังหวัดสุพรรณบุรี เผชิญกับการระบาดของโรคไข้เลือดออก จากการเผชิญเหตุดังกล่าว พบว่า การบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และการสื่อสารกับประชาชน ให้เกิดความรู้ ความเข้าใจ ที่ถูกวิธีและเหมาะสม เป็นกลไกการรับมือที่มีความสำคัญ นำไปสู่ความสำเร็จ ในการลดอัตราป่วย และอัตราตาย จากโรคไข้เลือดออก ดังนั้น สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสุพรรณบุรี จึงจัดกิจกรรมรณรงค์ฯ ขึ้น เพื่อบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่ประชาชน ทำให้เกิดพฤติกรรมในการทำลายแหล่งเพาะพันธ์ยุงลายอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ นายพัทธพงศ์ กล่าว