“เวฟ” วีรพล วิชุมา เผยว่า ก่อนมาแข่งโอลิมปิกเกมส์ 2024 ที่กรุงปารีส เขามีปัญหาเรื่องกำลังใจ และอาการบาดเจ็บ แต่ฮึดสู้จนคว้าเหรียญเงินสำเร็จ
วีรพล ขึ้นเวทีรุ่น 73 กก.ชาย เมื่อวันที่ 8 ส.ค.67เขาเป็นนักกีฬาที่อายุน้อยที่สุด ในรุ่น โดยจะอายุครบ 20 ปี ในวันที่ 10 ส.ค. แม้ท่าสแนตช์ วีรพล อาการไม่ดีเหล็กครั้งแรก 148 กก.ยกผ่าน แต่ 2 ครั้งต่อมา เรียก 152 ไม่ผ่าน จบสแนตช์ที่ 148 กก. ท่านี้อยู่ที่ 9 ตามอันดับ 3 อยู่ 7 กก.
อย่างไรก็ตามท่าคลีนแอนด์เจิร์ค มาเร่งเครื่อง หนุ่มไทย เรียก 190 กก.ฉลุย ก่อนจะเรียก 194 กก.ผ่าน และ 198 กก. ก็ผ่าน ทุบสถิติเยาวชนโลกท่านี้ สถิติรวม 346 กก.คว้าเหรียญเงินสำเร็จ
ส่วนเหรียญทอง ริซกี จูเนียนสยาห์ จากอินโดนีเซีย วัย 21 ปี 354 กก.(155-199) โดย คลีนแอนด์เจิร์ค 199 กก. เป็นสถิติใหม่โอลิมปิกด้วย ขณะที่ทองแดง โบซิดาร์ อันดรีฟ จากบัลแกเรีย 344 กก. (154-190)
ส่วนเต็ง 1 แชมป์เก่า ฉีซีหยง จาก จีน ยกสแนตช์ 165 กก. นำคู่แข่งถึง 10 กก. แต่คลีนแอนด์เจิร์ค เรียก 191 กก.ไม่ผ่านเลย ไม่มีสถิติ
หลังแข่งขัน ผู้สื่อข่าวถามว่า หลังจบท่าสแนตช์ ที่สถิติยังตามเยอะนั้น รู้สึกใจเสียหรือไม่ วีรพล กล่าวว่า เล่นได้ตามแผนที่โค้ชวางไว้ มีพลาดท่าสแนตช์นิดหน่อย ถ้าทำท่าแรกได้ดีกว่านี้ อาจทำสถิติได้มากกว่านี้ แต่ผลที่ออกมาก็ดีใจแล้ว
ส่วนคลีนด์แอนด์เจิร์ก ที่ยกได้ 198 กก. ทำสถิติโลกเยาวชนนั้น ตอนซ้อมเคยยกได้ 200 กิโลกรัม ซึ่งครั้งที่ 2 พอยก 194 กิโลกรัม ทำให้ความมั่นใจมา
“ยกครั้งที่ 3 ผมไม่รู้ว่าได้เหรียญอะไรตอนนั้น และก็ไม่ได้โฟกัสด้วยว่ายก 198 กิโลกรัม จะเป็นการทำลายสถิติ โฟกัสแค่ทำบนเวทีให้เต็มที่
วีรพล จะอายุครบ 20 ปี ในวันที่ 10 ส.ค. กล่าวว่า ก็ถือว่าเป็นของขวัญวันเกิดที่ดีมาก ส่วนเงินรางวัลที่ได้จากกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ จะเอาเป็นเงินเก็บ เพราะที่บ้านไม่มีหนี้สิน หมดภาระไปแล้ว จากเงินอัดฉีดรายการก่อนหน้านี้
เมื่อถามว่า ก่อนมาแข่งมีอุปสรรคหรือไม่ เจ้าเวฟ กล่าวว่า “ก่อนมาแข่งขันก็มีอุปสรรคพอสมควรทั้งเรื่องอาการบาดเจ็บ และเรื่องกำลังใจ แต่ก็เลือกที่จะโฟกัสตัวเอง วันนี้อยากจะบอกว่าทำให้ครอบครัวได้สำเร็จแล้ว รักพ่อรักแม่ ตั้งใจทำหน้าที่ตัวเองให้ดีที่สุด แล้วเจอกันครับ”
สำหรับเงินรางวัล ที่ วีรพล วิชุมา ได้รับ จากการคว้าเหรียญเงิน มาจาก กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ การกีฬาแห่งประเทศไทย 7.2 ล้านบาท (จ่ายเป็นเงินก้อนอัตราร้อยละ 50 ส่วนอีกร้อยละ 50 แบ่งจ่ายเป็นรายเดือนในระยะเวลา 4 ปี), เงินเดือนจากคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยฯ เดือนละ 10,000 บาท เป็นเวลา 20 ปี เป็นเงิน 2.4 ล้านบาท และจาก บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) 5 แสนบาท รวมเป็นเงิน 10.1 ล้านบาท