สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานจากนครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย เมื่อวันที่ 8 ส.ค. ว่านิตยสารวิทยาศาสตร์ของออสเตรเลียถูกวิจารณ์อย่างหนัก หลังตีพิมพ์บทความที่สร้างโดยปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญเห็นว่าไม่ถูกต้องและอธิบายเนื้อหาแบบลวก ๆ เกินไป
‘คอสโมส’ ซึ่งจัดพิมพ์โดยหน่วยงานวิทยาศาสตร์แห่งชาติ และได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลออสเตรเลีย ใช้โปรแกรม ‘จีพีที-4’ ของบริษัท โอเพน เอไอ เพื่อตีพิมพ์ 6 บทความเมื่อเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา
แม้มีการเปิดเผยการใช้เอไอ แต่สมาคมผู้สื่อข่าววิทยาศาสตร์ออสเตรเลียเชื่อว่า การใช้เอไอสร้างความกังวลเป็นอย่างมาก นายแจ็คสัน ไรอัน ประธานสมาคม กล่าวว่า ในบทความ ‘What happens to our bodies after death?’ เกี่ยวกับร่างกายของมนุษย์หลังความตาย ซึ่งเขียนโดยเอไอ อธิบายกระบวนการทางวิทยาศาสตร์แบบไม่ถูกต้อง และไม่ละเอียดมากพอ เช่น อาการแข็งเกร็งเกิดใน 3-4 ชั่วโมงหลังความตาย ซึ่งในหลักการทางวิทยาศาสตร์ อาการนี้ไม่สามารถระบุเวลาได้อย่างชัดเจน
นอกจากนั้น เอไอได้อธิบายการสลายตัวของเซลล์ ซึ่งเป็นกระบวนการที่เซลล์ถูกทำลายโดยเอนไซม์ โดยระบุว่า “เซลล์ทำลายตัวเอง” ซึ่งไรอันเห็นว่าเป็นการอธิบายกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ที่ “แย่มาก” และความไม่แม่นยำอาจส่งผลต่อความไว้วางใจ และทัศนคติของคนอ่านต่อนิตยสารได้
ด้านโฆษกของสำนักงานวิทยาศาสตร์แห่งชาติอธิบายว่า เนื้อหาเอไอได้รับการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ และแก้ไขโดยทีมจัดพิมพ์ของคอสโมส ขณะที่โฆษกคอสโมสกล่าวว่า พวกเขาจะยังคงตรวจสอบ การใช้เอไอตลอดการทดลองเขียนบทความต่อไป
นิตยสารดังกล่าวถูกวิจารณ์หลังใช้ทุนสนับสนุนสื่อสารมวลชน ในการพัฒนาความสามารถของเอไอ ซึ่งส่งผลกระทบต่อสื่อมวลชน น.ส.เกล แม็กคัลลัม อดีตบรรณาธิการของคอสโมส กล่าวว่า แม้เธอจะเป็นผู้สนับสนุนการศึกษาเอไอ แต่การใช้มันสร้างบทความนั้น “เกินขอบเขตในสิ่งที่เธอทำ” เช่นเดียวกับอดีตบรรณาธิการ เอียน คอนเนลแลน ซึ่งให้ข้อมูลว่า เขาไม่ได้รับแจ้งเกี่ยวกับโครงการดังกล่าว และหากทราบ เขาอาจให้ความเห็นว่ามันเป็น “ไอเดียที่แย่”
การใช้เอไอกำลังกลายเป็นสนามรบของบรรดาสำนักข่าวและนักดนตรี เมื่อไม่นานมานี้ เดอะ นิวยอร์ก ไทม์ส ยื่นฟ้องโอเพนเอไอ ผู้ผลิตแชตจีพีทีและไมโครซอฟท์ ต่อศาลสหรัฐ เหตุบริษัททั้งสองแห่งใช้บทความหลายล้านเรื่อง ในการฝึกเอไอโดยไม่ได้รับอนุญาต เช่นเดียวกับยักษ์ใหญ่ด้านเอไอหลายแห่ง ที่กำลังเผชิญคดีความมากมายเกี่ยวกับการใช้เนื้อหาจากอินเทอร์เน็ต เพื่อการสร้างเนื้อหาสำหรับเอไอ.
เครดิตภาพ : GETTY IMAGES