จากกรณี “เดลินิวส์” เสนอข่าวปัญหาการถือครองที่ดินของรัฐ และการประกอบธุรกิจวิลล่าหรูให้เช่าของชาวต่างชาติบนเกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี มาอย่างต่อเนื่อง จนนำไปสู่การตรวจสอบของ กอ.รมน.ภาค 4 และพบปัญหาความรุนแรงในหลายพื้นที่ โดยมีการประเดิมกล่าวโทษเอาผิดการก่อสร้างวิลล่าหรู จำนวน 53 หลัง บนเขาเฉวงน้อย พื้นที่ หมู่ที่ 3 ต.บ่อผุด ต่อ พนักงานสอบสวน บก.ปทส. ตามข่าวที่เสนอไปแล้วนั้น

เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 8 ส.ค. ที่ สภ.บ่อผุด อ.เกาะสมุย นายพัลลภ มีเพียร นิติกรชำนาญการเทศบาลนครเกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี นำสำเนาคำสั่งประกาศเทศบาลนครเกาะสมุย เรื่อง การกำหนดวันเข้าทำการรื้อถอนอาคาร พร้อมหนังสือคำสั่ง จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งลงนามโดยนายนันทวัช เจริญวรรณ รอง ผวจ.ปฏิบัติหน้าที่ราชการแทน ผู้ว่าราชการจังหวัด เข้าลงบันทึกประจำวันเป็นหลักฐานในการนำเครื่องจักรและคนงานเข้ารื้อถอนอาคาร 2 หลัง ในพื้นที่ ต.แม่น้ำ และ ต.บ่อผุด จ.สุราษฎร์ธานี

ขณะเดียวกัน ฝ่ายปกครอง อ.เกาะสมุย นำกำลังเจ้าหน้าที่ อส. เข้าร่วมกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายโยธาธิการ เทศบาลนครเกาะสมุย นำเชือกกั้นเข้าล้อมเขตบริเวณก่อสร้างที่จะทำการรื้อถอน และประกาศห้ามไม่ให้บุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องเข้าในเขตพื้นที่ และให้นำรถยนต์ ซึ่งมีผู้นำไปจอดไว้ใต้อาคารออกจากพื้นที่ ต่อมาเวลา 10.30 น. ร.ต.ต.พงศกร มีพันธุ์ ผอ.สอบสวน 4 สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน พร้อมด้วย นายกัมปนาท กลิ่นเสาวคนธ์ นายอำเภอเกาะสมุย, พ.ต.อ.เด่นดวง ทองศรีสุข ผกก.สภ.เกาะสมุย, นายพัลลภ มีเพียร นิติกรชำนาญการเทศบาลนครเกาะสมุย, พ.อ.ดุสิต เกษรแก้ว หัวหน้าคณะทำงานตรวจสอบการก่อสร้างอาคารที่พักบนพื้นที่ภูเขาสูงและการประกอบธุรกิจของชาวต่างด้าวบนเกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี

รูปภาพนี้มี Alt แอตทริบิวต์เป็นค่าว่าง ชื่อไฟล์คือ IMG_3177-1280x960.jpg

โดย กอ.รมน.ภาค 4 และตำรวจกองบังคับการป้องกันและปราบปรามการทำลายทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม (ปทส.) ร่วมสังเกตการณ์ และควบคุมการปฏิบัติในการรื้อถอน มีนายช่างโยธาชำนาญการ สำนักงานโยธาธิการและผังเมือง จ.สุราษฎร์ธานี ร่วมกับนายช่างโยธาเทศบาลนครเกาะสมุย ควบคุมการทำงานเพื่อให้เป็นไปตามหลักวิศวกรรมและความปลอดภัย ซึ่งบรรยากาศทั่วไปเป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย มีเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.บ่อผุด เข้าอำนวยความปลอดภัยและการจราจร รวมถึงมีล่ามแปลภาษา จากสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวเกาะสมุย คอยชี้แจงให้กับชาวต่างชาติที่พักอาศัยอยู่ในเขตพื้นที่การรื้อถอน

ด้านนายพัลลภ มีเพียร นิติกรชำนาญการเทศบาลนครเกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี กล่าวว่า ในการรื้อถอนวันนี้ เจ้าของอาคารได้ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี โดยขณะที่เจ้าหน้าที่เข้าดำเนินการ เจ้าของอาคารได้เข้าแจ้งความประสงค์เป็นผู้รับผิดชอบ การรื้อถอน โดยได้จัดคนงานพร้อมอุปกรณ์ เครื่องเจาะกระแทกคอนกรีต เครื่องตัดเหล็ก เข้าร่วมทำงานกับคนงานของเทศบาล ซึ่งคาดว่าการรื้อถอนจะต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 7 วัน เนื่องจากพื้นที่ก่อสร้างเป็นที่ลาดชันสูงทำให้ไม่สามารถนำเครื่องจักรขนาดใหญ่ขึ้นไปได้

รูปภาพนี้มี Alt แอตทริบิวต์เป็นค่าว่าง ชื่อไฟล์คือ IMG_3181-1280x960.jpg

อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนเข้าปฏิบัติการรื้อถอน กอ.รมน.ภาค 4 นำโดย พล.ต.อนุสรณ์ โออุไร รองแม่ทัพภาคที่ 4 / รอง ผอ.รมน.ภาค 4 และ รองหัวหน้าคณะทำงานแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่กองทัพภาคที่ 4 ได้มีการประชุมคณะทำงาน “สมุยโมเดล” ร่วมกับ นายนันทวัช เจริญวรรณ รอง ผวจ.สุราษฎร์ธานี ด้านความมั่นคง, ร.ต.อ.พงศกร มีพันธุ์ ผอ.สอบสวน 4 สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน, เจ้าหน้าที่กองบังคับการป้องกันและปราบปรามการทำลายทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม (ปทส.) และ เจ้าหน้าที่ตำรวจภูธรจังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อสรุปถึงความคืบหน้าในการทำงาน

ในที่ประชุม ร.ต.อ.พงศกร ได้มีความเห็นเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายคำสั่งทางปกครอง ที่เทศบาลนครเกาะสมุย มีคำสั่งห้ามใช้อาคาร และคำสั่งรื้อถอนอาคาร ใน 3 โครงการก่อสร้าง ที่พบว่า มีร่วม 100 คำสั่ง หลังจากสำนักผู้ตรวจการแผ่นดิน ร่วมกับ กอ.รมน.ภาค 4 ได้เข้าดำเนินการ ตั้งแต่ปี 2562 และพบว่าในการออกคำสั่งครั้งนั้นมีผู้มาอุทธรณ์คำสั่งจำนวน 25 ราย แต่ต่อมาผู้ยื่นอุทธรณ์ได้เพิกถอนคำร้องไป และเทศบาลยังคงมีการออกคำสั่งซ้ำวนไปมา ไม่ได้ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย

รูปภาพนี้มี Alt แอตทริบิวต์เป็นค่าว่าง ชื่อไฟล์คือ IMG_3180-1280x960.jpg

โดยล่าสุดพบว่ามีการออกคำสั่งทางปกครองในการรื้อถอนอาคาร และห้ามใช้อาคารในกลุ่มอาคารทั้ง 3 โครงการ อีกครั้งเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2566 การกระทำดังกล่าวของเทศบาลนครเกาะสมุย อาจจะเป็นการเข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ เพราะนอกจากเทศบาลนครเกาะสมุยจะมีอำนาจในการบังคับรื้อถอน และห้ามใช้อาคารกับผู้ที่ครอบครองอาคารแล้ว แต่ผู้ที่ครอบครองอาคารไม่ปฏิบัติตามคำสั่งทางปกครอง มาตรา 43 วรรคหนึ่ง (2) แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 เทศบาลจะต้องมีหน้าที่ ต้องปฏิบัติตามบทกำหนดโทษและขั้นตอนการดำเนินคดี

อาคารที่กระทำความผิดพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย บทที่ 8 โดยคณะผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้กำชับ และขอความร่วมมือกับจังหวัดสุราษฎร์ธานี ในฐานะผู้บังคับบัญชาของปกครองท้องถิ่น ในการบังคับใช้กฎหมายให้เด็ดขาด เพราะที่ผ่านมาทราบว่าไม่เคยมีการดำเนินการเปรียบเทียบปรับจากผู้ครอบครองอาคารที่ได้รับคำสั่งทางปกครองแต่อย่างใด

รูปภาพนี้มี Alt แอตทริบิวต์เป็นค่าว่าง ชื่อไฟล์คือ IMG_3176-1280x960.jpg

สำหรับบทลงโทษบทที่ 8 เกี่ยวกับขั้นตอนการดำเนินคดีอาญาและบทลงโทษ สำหรับผู้กระทำผิด พระราชบัญญัติควบคุมอาคารกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ใจความสำคัญว่า หากผู้ได้รับคำสั่งฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามที่กฎหมาย คือ 1.การก่อสร้าง ดัดแปลงโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือผิดจากแบบที่ได้รับอนุญาต รับโทษตามมาตรา 65 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 จำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำ ทั้งปรับ และยังกำหนดโทษปรับรายวันอีกวันละไม่เกิน 10,000 บาท ตลอดเวลาที่ฝ่าฝืน หรือจนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง

2.การฝ่าฝืนคำสั่งให้รื้อถอนอาคารทั้งหมด หรือบางส่วน โดยมิได้อยู่ระหว่างการอุทธรณ์คำสั่ง รับโทษตามมาตรา 66 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 จำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำ ทั้งปรับ และยังกำหนดโทษปรับรายวันอีกวันละไม่เกิน 30,000 บาท ตลอดเวลาที่ฝ่าฝืน หรือจนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง

รูปภาพนี้มี Alt แอตทริบิวต์เป็นค่าว่าง ชื่อไฟล์คือ IMG_3178-1280x960.jpg

3.การฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่สั่งระงับการก่อสร้าง ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาต หรือผิดจากแบบที่ได้รับอนุญาต และฝ่าฝืนคำสั่งห้ามใช้หรือเข้าไปในส่วนใดๆ ของอาคารรับโทษตามมาตรา 67 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 จำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำ ทั้งปรับ และยังกำหนดโทษปรับรายวันอีกวันละไม่เกิน 30,000 บาท ตลอดเวลาที่ฝ่าฝืน หรือจนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง.