ทำให้องค์กรที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ ต่างเดินหน้าสนับสนุนให้ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่อาจไม่ได้มีเงินทุนหนา จะปรับเปลี่ยนธุรกิจตัวเองเข้าสู่การใช้พลังงานสะอาด ได้รวดเร็วแบบธุรกิจขนาดใหญ่ ล่าสุดภาครัฐ นำโดยกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ร่วมกับหลายหน่วยงาน ออกสินเชื่อ SME Green Productivity เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เข้าสู่อุตสาหกรรมสีเขียวให้มากที่สุด

“พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล” รมว.อุตสาหกรรม ฉายภาพการยกระดับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าสู่อุตสาหกรรมสีเขียวว่า กระทรวงอุตสาหกรรม ได้เร่งขับเคลื่อนนโยบายด้านการส่งเสริมการผลิตและสนับสนุนให้ภาคอุตสาหกรรม และผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย ยกระดับเพิ่มผลิตภาพเพื่อเข้าสู่อุตสาหกรรมสีเขียว หรือ “Green Industry” ซึ่งจะสร้างประโยชน์ช่วยให้ผู้ประกอบการมีศักยภาพการแข่งขันสูงขึ้น ลดต้นทุนธุรกิจ และสามารถปรับตัวเข้ากับกฎกติกาการค้าใหม่ระดับสากลได้ ควบคู่กับเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ใช้พลังงานสะอาด ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ธรรมชาติ ภาคอุตสาหกรรมอยู่คู่ชุมชนเกิดการสร้างงาน กระจายรายได้ นำไปสู่สังคมแห่งความสุข สร้างรากฐานแข็งแรงอย่างยั่งยืนให้แก่ประเทศไทย

ทั้งนี้การเปลี่ยนผ่านธุรกิจสู่อุตสาหกรรมสีเขียว จำเป็นต้องใช้ความรู้ควบคู่เงินทุน เพื่อปรับเปลี่ยนระบบ อุปกรณ์ นวัตกรรมหรือเทคโนโลยี ปัจจุบัน ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในระบบที่มีกว่า 3.2 ล้านราย มากกว่าครึ่งเข้าไม่ถึงแหล่งทุนจากสถาบันการเงินในระบบ จำเป็นที่รัฐบาลต้องมาช่วยสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เข้าถึงแหล่งทุน ผ่านโครงการ “สินเชื่อ SME Green Productivity” วงเงิน 15,000 ล้านบาท

โดยมอบหมายให้ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือเอสเอ็มอี ดี แบงก์ สนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งทุนในโครงการดังกล่าว มีจุดเด่นเป็นสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยตํ่า เพียง 3% ต่อปี คงที่ 3 ปีแรก วงเงินกู้สูงสุด 10 ล้านบาท ผ่อนชำระนานสูงสุดถึง 10 ปี แถมปลอดชำระหนี้เงินต้นสูงสุด 12 เดือนแรก อีกทั้ง ผ่อนปรนเงื่อนไขและหลักทรัพย์คํ้าประกัน ช่วยให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี มีเงินทุนดอกเบี้ยตํ่า และมีระยะผ่อนชำระนานเพียงพอที่จะสามารถพัฒนายกระดับเปลี่ยนผ่านธุรกิจสู่อุตสาหกรรมสีเขียวได้อย่างราบรื่น

ตั้งเป้าสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งทุนและเพิ่มผลิตภาพได้กว่า 1,500 ราย รวมทั้งสร้างประโยชน์ เกิดการจ้างงานกว่า 24,000 อัตรา สร้างเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจกว่า 68,700 ล้านบาท อีกทั้งยังช่วยแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างของภาคอุตสาหกรรม สนับสนุน การลดก๊าซเรือนกระจกในธุรกิจเอสเอ็มอีได้ประมาณ 345,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี”

“พิชิต มิทราวงศ์” กรรมการผู้จัดการ เอสเอ็มอี ดี แบงก์ กล่าวว่า โครงการสินเชื่อ “SME Green Productivity” จะทำงานร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน เบื้องต้น 11 แห่ง ได้แก่ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม สถาบันยานยนต์ สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ และองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ในการส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าถึงการพัฒนา เติมทักษะความรู้ควบคู่กับพาเข้าถึง “แหล่งทุน” ดอกเบี้ยตํ่า นำไปพัฒนา ปรับเปลี่ยนระบบอุปกรณ์ นวัตกรรม หรือเทคโนโลยี ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมีผลิตภาพสูงขึ้น พร้อมก้าวสู่อุตสาหกรรมสีเขียว สร้างการเติบโตอย่างเข้มแข็งและยั่งยืนให้ประเทศไทย ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ตามนโยบายของรัฐบาล.