ที่โรงแรมฟ้าหลวง รีสอร์ท อ.เมือง จ.อุดรธานี นางปาลลิน พวงมี ผู้อำนวยการกองวิจัยและพัฒนางานส่งเสริมการเกษตร นายสำลี พลขันธ์ ผู้อำนวยการศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 10 อุดรธานี น.ส.ปริญญารัตน์ ภูศิริ ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยด้านส่งเสริมการเกษตร และ ดร.เจตษฎา อุตรพันธ์ อาจารย์ภาควิชาพืชไร่ คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกันแถลงข่าว โครงการยกระดับชุมชนสู่การผลิตเมล็ดพันธุ์ถั่วลิสงเกษตรศาสตร์ สวก.1 ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
นางปาลลิน พวงมี ผู้อำนวยการกองวิจัยและพัฒนางานส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ในปี 2566 กรมส่งเสริมการเกษตร ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรมวิชาการเกษตร และบริษัท แม่รวยการเกษตร จำกัด (โก๋แก่) ดำเนินการส่งเสริมและพัฒนาการวิจัย โครงการส่งเสริมและพัฒนาการถ่ายทอดเทคโนโลยี การผลิต ถั่วลิสงพันธุ์เกษตรศาสตร์ สวก. 1 เพื่อเพิ่มผลผลิตและคุณภาพในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งได้รับทุนสนับสนุน จากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) ดำเนินการทำแปลงสาธิต 48 ไร่ เกษตรกรรวม 480 ราย ในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยนำพันธุ์นี้มาขยายผลในพื้นที่เป้าหมาย 12 จังหวัด คือ จังหวัดอุดรธานี มหาสารคาม ร้อยเอ็ด อำนาจเจริญ กาฬสินธุ์ สกลนคร ศรีสะเกษ ยโสธร บุรีรัมย์ ขอนแก่น นครพนม และจังหวัดมุกดาหาร โดยค่าเฉลี่ยผลผลิตในพื้นที่เหมาะสมอยู่ที่ 263.49 กิโลกรัมต่อไร่ ได้ผลผลิตทั้งหมด 6,557 กิโลกรัม ซึ่งเกษตรกรส่วนใหญ่พอใจและยอมรับในเมล็ดพันธุ์ถั่วลิสงพันธุ์เกษตรศาสตร์ สวก.1 เนื่องจากผลผลิตดก เมล็ดใหญ่ เมล็ดเต็ม รสชาติดี และมีตลาดรองรับ โดยผลผลิตที่ได้ถูกจัดสรรให้กับเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการเพื่อไปใช้เป็นเมล็ดพันธุ์ในฤดูกาลต่อมาและอีกส่วนหนึ่งนำมาเป็นเมล็ดพันธุ์ที่จะผลิตและขยายพันธุ์ในโครงการปี 2567
จึงเป็นที่มาของโครงการยกระดับชุมชนสู่การผลิตเมล็ดพันธุ์ถั่วลิสงเกษตรศาสตร์ สวก.1 ในพื้นที่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในปี 2567 ซึ่งเป็นการดำเนินการร่วมกันระหว่างกรมส่งเสริมการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และกรมวิชาการเกษตร ที่นำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ (RU: Research Utilization) ต่อเนื่องจากปี 2566 เพื่อพัฒนาศักยภาพกลุ่มเกษตรกรให้เป็นผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ ถั่วลิสงเกษตรศาสตร์ สวก.1 ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ดำเนินการจัดทำแปลงเรียนรู้ในพื้นที่ที่มีความพร้อมในการผลิตเมล็ดพันธุ์ในฤดูฝน เพื่อนำมากระจายเมล็ดพันธุ์สู่พื้นที่อื่น ๆ ในฤดูแล้ง โดยจัดกิจกรรม 1.พัฒนาศักยภาพวิทยากรต้นแบบ 2.การจัดทำแปลงผลิตเมล็ดพันธุ์ 3. การพัฒนาชุมชนต้นแบบในการผลิตเมล็ดพันธุ์โดยชุมชนมีส่วนร่วม และ 4.การเชื่อมโยงภาคีเครือข่ายในพื้นที่ โดยดำเนินการในกลุ่มเกษตรกร 12 จังหวัด คือ จังหวัดนครพนม ยโสธร อำนาจเจริญ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด สกลนคร อุดรธานี อุบลราชธานี หนองบัวลำภู เลย และจังหวัดบุรีรัมย์ รวมทั้งจัดทำแปลงผลิตเมล็ดพันธุ์ในพื้นที่ของศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 5 จ.บุรีรัมย์ ศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 7 จ.มหาสารคาม ศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 10 จ.อุดรธานี โดยมีเกษตรกรที่ เข้าร่วมโครงการ 610 ราย
ผู้อำนวยการกองวิจัยและพัฒนางานส่งเสริมการเกษตร กล่าวอีกว่า การดำเนินโครงการโครงการยกระดับชุมชนสู่การผลิตเมล็ดพันธุ์ถั่วลิสงเกษตรศาสตร์ สวก.1 ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือในครั้งนี้จะสามารถยกระดับกลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่ ศูนย์ผลิตเมล็ดพันธุ์พืชตระกูลถั่วชุมชนที่เข้าร่วมโครงการให้เป็นต้นแบบเกษตรกรผู้ปลูกถั่วลิสงพันธุ์เกษตรศาสตร์ สวก.1 คุณภาพ และถั่วลิสงยังเป็นพืชทางเลือกที่สร้างรายได้ให้เกษตรกร และการผลิตเมล็ดพันธุ์ถั่วลิสงโดยชุมชนมีส่วนช่วยให้เกษตรกร มีเมล็ดพันธุ์ดีไว้ใช้ในชุมชน ทำให้มีผลผลิตเพิ่มขึ้น มีรายได้เพิ่มขึ้น รวมทั้งช่วยลดปริมาณการนำเข้าถั่วลิสงจากต่างประเทศ จากพื้นที่ปลูกทั้งหมด 153 ไร่ ซึ่งคาดว่าจะได้เมล็ดพันธุ์ถั่วลิสงเกษตรศาสตร์ สวก.1 คุณภาพดีได้จำนวน 38,250 กิโลกรัม ไว้สำหรับเพาะปลูกในฤดูกาลต่อไปและกระจายพันธุ์ไปยังพื้นที่อื่น ๆ ที่มีความสนใจ.