ร้อยโท ทศพล ไชยโกมินทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี ร่วมงานวันรพี ประจำปี 2567 และร่วมปลูกต้นไม้ “ต้นอินทนิล” เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ พระบิดาแห่งกฎหมายไทย โดยมี นางสาวรังสิมา ละธนันท์ ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดกาญจนบุรี เป็นประธานในพิธีฯ พร้อมด้วย นางสาวกนกพร ศิลาภากุล ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดกาญจนบุรี นางสาวทิพรัตน์ เติมเพ็ชร อัยการจังหวัดกาญจนบุรี พลตำรวจตรี นครินทร์ สุคนธวิท ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดกาญจนบุรี หัวหน้าส่วนราชการในสังกัดกระทรวงยุติธรรม ประธานสภาทนายความจังหวัดกาญจนบุรี และนักเรียน นักศึกษา ร่วมพิธี ณ ศาลจังหวัดกาญจนบุรี อำเภอเมืองกาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ประสูติเมื่อวันพุธที่ 21 ต.ค.2417 มีพระนามเมื่อแรกประสูติว่า พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ 14 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นพระองค์ที่ 2 ในเจ้าจอมมารดาตลับ เมื่อปี พ.ศ.2428 ได้เสด็จไปศึกษาที่กรุงเอดินบะระ ประเทศสกอตแลนด์ ทรงศึกษาวิชาภาษาละติน วิชาภาษาอังกฤษ และวิชาภาษาฝรั่งเศสอยู่ 2 ปี ต่อมาปี 2431 เสด็จไปศึกษาต่อในชั้นมัธยม ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ปี 2434 ทรงเลือกศึกษาวิชากฎหมายต่อที่วิทยาลัยไครส์ตเชิร์ช ในมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด จนกระทั่งปี 2437 ทรงสามารถสอบไล่ได้ตามหลักสูตรชั้นปริญญาเกียรตินิยม

จากนั้นจึงเสด็จนิวัติประเทศไทย ทรงเริ่มรับราชการในสำนักราชเลขาธิการ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นองคมนตรี ประกอบพระกรณียกิจจนได้รับโปรดเกล้าให้ดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงยุติธรรมในปี พ.ศ.2439 ทรงมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการปฏิรูปการศาล ซึ่งปัญหาสำคัญสำหรับศาลไทยในเวลานั้น คือ เรื่องของศาลกงสุลต่างชาติ ที่มีอยู่เป็นจำนวนมากในยุคนั้น รวมถึงประกอบพระกรณียกิจในการปฏิรูปศาลอีกหลายเรื่อง ทรงจัดตั้งโรงเรียนกฎหมายขึ้น จนนับเป็นการผลิตนักกฎหมายที่มีคุณภาพ และทรงได้รับสถาปนาเลื่อนพระอิสริยยศเป็น พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหมื่นราชบุรีดิเรกฤทธิ์ และพระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ตามลำดับ

โดย “วันรพี” ตรงกับวันที่ 7 สิงหาคม ของทุกปี ซึ่งเป็นวันคล้ายวันสิ้นพระชนม์ของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมขึ้น เพื่อรำลึกถึงคุณงามความดีของพระองค์ที่มีต่อวงการกฎหมายไทย และทรงได้รับการยกย่องเทิดทูนว่าเป็น “พระบิดาแห่งกฎหมายไทย”