เมื่อวันที่ 8 ส.ค. 67 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีที่ขณะนี้ หน่วยกำลังรบทางเรือ กองเรือยุทธการ กองทัพเรือ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ได้ดำเนินการนำเครื่องมือหนักเข้าปรับพื้นที่ พร้อมรื้อถอนป้ายชื่อหน่วย สัญลักษณ์เรือรบ เรือดำน้ำ และอื่นๆ บริเวณประตูทางเข้าหน้าค่าย กองเรือยุทธการ ติดถนนสุขุมวิท หมายเลข 3 สถานที่แห่งนี้ เดิมได้มีการถูกออกแบบจำลองเป็นรูปเรือรบ และเรือดำน้ำ ทำจากวัสดุปูนซีเมนต์ขึ้นรูป ถูกสร้างขึ้นในปี 2563 ตากแดดตากฝนมายาวนานร่วม 4 ปี ปัจจุบันเริ่มมีสภาพเก่า เมื่อครั้งก้าวเข้าสู่ยุคของ พล.ร.อ.อะดุง พันธุ์เอี่ยม ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ ในขณะนั้น ได้ดำเนินการปรับซ่อมทำไปบ้างแล้ว จึงมีดำริที่จะดำเนินการปรับปรุง แก้ไข แบบยั่งยืน สง่างาม ด้วยการเคลื่ยนย้ายเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง หมายเลข 99 ที่กองเรือยามฝั่ง ได้เสนอให้ปลดระวางประจำการไปเรียบร้อยแล้ว มาตั้งแทนที่เดิม

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ให้ข้าราชการกองทัพเรือทุกระดับชั้น หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนทั่วไป ที่ผ่านไป-มา ที่เห็นความเปลี่ยนแปลง เข้าใจไปในทิศทางเดียวกัน ไม่เกิดความเคลือบแคลงสงสัยในเรื่องนี้ โดย พล.ร.อ.อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผู้บัญชาการทหารเรือ ได้ขอความร่วมมือจากสื่อมวลชน ตลอดจนหน่วยขึ้นตรงกองทัพเรือ โดยเฉพาะกองเรือยุทธการ ช่วยประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบถึงการเปลี่ยนแปลงประตูทางเข้าเดิม เพื่อปรับพื้นที่ พร้อมทำโครงสร้างรองรับเรือ ต.99 ซึ่งขณะนี้เรืออยู่ระหว่างการปรับพื้นผิว ทาสีภายนอกให้สวยงาม โดยกรมโงงานฐานทัพเรือสัตหีบ เมื่อพร้อมก็จะเคลื่อนย้ายมาไว้ด้านหน้าทางเข้ากองเรือยุทธการ ก่อนสิ้นเดือนกันยายน 2567 นี้

พลเรือเอก อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผู้บัญชาการทหารเรือ ได้ให้เหตุผลว่า การที่ต้องการปรับเปลี่ยนจากเดิมที่เป็นเรือรบจำลอง ให้กลายเป็นสถานที่อนุรักษ์ เชิดชูชุดเรือหลวงของพ่อ ในหลวงรัชกาลที่ 9 เพราะเป็นเรือที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 มีดำริให้กองทัพเรือต่อเรือใช้เอง สนองโครงการเศรษฐกิจพอเพียง เรือ ต.99 ถือเป็น 1 ใน 9 เรือรบหลวงที่ต่อขึ้นใช้เองในราชการ ช่วงปี 2511-2530 แห่งกองทัพเรือไทย อันประกอบด้วย เรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง ต.91-ต.99 เป็นเรือที่ทรงคุณค่าทางจิตใจของทหารเรือทุกคน ซึ่งขณะนี้ที่ได้ปลดระวางไปแล้ว นำขึ้นจากท้องทะเล เพื่อซ่อมทำให้สมบูรณ์ สง่างาม พร้อมที่จะเคลื่อนย้ายมาจัดตั้งไว้บริเวณป้ายประตูทางเข้าหน่วยกองเรือยุทธการ ได้เป็นที่ประจักษ์ อวดโฉมอันสง่างาม สู่สายตาประชาชน โดยกำหนดการสร้างแล้วเสร็จ และพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ จะแจ้งให้ทราบภายหลัง

สำหรับ ประวัติความเป็นมาของเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง ต.99 เป็นเรือที่ประจำการอยู่ในสังกัด กองเรือยามฝั่ง ขึ้นระวางประจำการเมื่อ 9 ม.ค. 2531 ปฏิบัติภารกิจในท้องทะเลยาวนานถึง 34 ปี ได้ปลดระวางเมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2565 ซึ่งเป็นเรือที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (ในหลวงรัชกาลที่ 9) ในการพระราชทานทั้งพระราชดำริ และพระบรมราชวินิจฉัยเกี่ยวกับการต่อเรือ ภายใต้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง หลักการพึ่งพาตนเอง ถูกสร้างโดยกรมอู่ทหารเรือ ทำให้กองทัพเรือมีขีดความสามารถในการต่อเรือด้วยตนเอง สามารถประหยัดงบประมาณ รวมถึงเป็นแนวทางในการพัฒนาเรือรบที่ทันสมัย เพื่อใช้ปฏิบัติงานในภารกิจการรักษาอธิปไตย และปกป้องผลประโยชน์ของชาติทางทะเล

ดังนั้น การนำเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง ต.99 ที่ถือเป็นเรือหลวงของพ่ออันทรงคุณค่า สร้างคุณประโยชน์ต่อประเทศชาติมาอย่างยาวนาน ควรค่าแก่การอนุรักษ์เชิดชู ให้ได้ประจักษ์สู่สายตาประชาชนชาวไทย และชาวต่างชาติ อีกทั้ง เพื่อเป็นการ รำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ และเผยแผ่พระอัจฉริยภาพของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงมีความห่วงใยในด้านการพัฒนากำลังรบอย่างชัดแจ้ง และเป็นที่ประจักษ์แก่กองทัพเรือ ที่ทรงพระราชทานวินิจฉัย และคำแนะนำในการต่อเรือรบให้แก่กองทัพเรือ ได้พัฒนาต่อสร้างเรือรบด้วยตนเอง มาจนตราบทุกวันนี้

“เรือของพ่อ” เป็นเรือที่มีคุณค่ายิ่งต่อประวัติศาสตร์การต่อเรือรบของไทย โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่มีอัจฉริยภาพในการต่อเรือ เมื่อครั้งเสด็จฯ ไปทอดพระเนตรการต่อเรือยนต์รักษาฝั่งที่ประเทศเยอรมนี ในปี พ.ศ. 2503 ในขณะที่พระองค์ทรงเสด็จประพาสยุโรป ได้ทรงทอดพระเนตรกิจการการต่อเรือยนต์รักษาฝั่งของกองทัพเรือเยอรมัน จึงทรงมีพระราชดำริว่า “กองทัพเรือน่าจะต่อเรือยนต์เร็วรักษาฝั่งเช่นนี้ได้ เพื่อที่จะให้เกิดความชำนาญงาน และรู้จักใช้เทคนิคต่างๆ อันจะเป็นการประหยัดมากกว่าการจัดหาจากต่างประเทศ” จึงทำให้กองทัพเรือ โดยกรมอู่ทหารเรือรับสนองพระราชดำริโดยการต่อเรือในชุดเรือ ต.91 ขึ้น

ในระหว่างการดำเนินการนั้น พระองค์ทรงพระราชทานคำแนะนำ ตลอดจนแก้ปัญหาต่างๆ อันเกิดจากกระบวนการต่อเรือ รวมถึงทรงเป็นธุระติดต่อกับสถาบันวิจัย และทดลองแบบเรือแห่งชาติของประเทศอังกฤษ ให้ทำการทดสอบแบบของเรือ ต.91 แม้แต่การทดสอบเรือในทะเล พระองค์ก็ทรงเสด็จไปร่วมทดสอบด้วยพระองค์เอง ทั้งยังทรงตรวจแก้ข้อผิดพลาดต่างๆ จนทำให้การต่อเรือสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี และในวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2511 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเสด็จไปประกอบพิธีปล่อยเรือ ต.91 ลงน้ำ และนับจากนั้น กองทัพเรือได้ดำเนินการต่อเรือในชุดเรือ ต.91 เพิ่มเติมอีกคือ ต.92, ต.93, ต.94, ต.95, ต.96, ต.97, ต.98 และ ต.99 ในระหว่างปี 2514-2530 และยังคงพัฒนาไปอย่างไม่หยุดยั้ง.