เมื่อวันที่ 7 ส.ค.67 เวลา 13.30 น. ในการประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายครั้งที่ 2/2567 ที่มี พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการฯ พร้อมด้วยนายสมบูรณ์ ม่วงกล่ำ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม, พล.อ.พิสิษฐ์ นพเมือง เจ้ากรมพระธรรมนูญ, นายไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม, นางสาวเอมอร เสียงใหญ่ อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ และผู้แทนจากกระทรวงมหาดไทย, สำนักงานอัยการสูงสุด ผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมาย ด้านสิทธิมนุษยชน ด้านนิติวิทยาศาสตร์ การแพทย์ทางจิตเวช จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมหารือที่ห้องประชุม ชั้น 6 อาคารสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม กระทรวงกลาโหม(ศรีสมาน) อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวก่อนเริ่มการประชุมว่า การสร้างความยอมรับให้เกิดขึ้นกับนานาประเทศ ในผลของการบังคับใช้ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทำร้ายและการกระทำที่ทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 หรือที่เรียกว่า “พ.ร.บ.อุ้มหาย” ถือเป็นเรื่องท้าทายสำคัญ ภายหลังประเทศไทยเป็นชาติแรกในอาเซียนและลำดับต้นๆ เอเชีย ที่ได้เข้าร่วมเป็นภาคีสหประชาชาติ ที่มีหลักประกันแก่ประชาชนว่า จะไม่มีใครถูกทรมาน ซึ่งในบางครั้ง ในกลุ่มประเทศที่มีความขัดแย้งทางสังคม ความเชื่อ หรือการเมือง การยกระดับกฎหมายป้องกันการอุ้มหาย อาจสร้างความแปลกใจแก่ผู้มีอำนาจ

อีกทั้ง ในบางเรื่องของกฎหมายจำเป็นต้องมีกระบวนการที่พิถีพิถันถึงการปกป้องคุ้มครองประชาชนไม่ให้ถูกอุ้มหาย ถูกทรมาน รวมถึงความพยายามผลักดันรัฐบาลให้การสนับสนุนการค้นหาความจริงด้วยวิธีสากลตามหลักทางนิติวิทยาศาสตร์ ซึ่งต้องทำความเข้าใจแก่ประชาชนด้วย จึงอาจตั้งคณะโฆษกขึันมาทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์ในหลายเรื่องดังกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมครั้งนี้ มีวาระที่สำคัญหลายประเด็น อาทิ การติดตามและตรวจสอบกรณีการกระทำให้บุคคลสูญหายในต่างประเทศ 9 ราย ที่แบ่งออกเป็น 1.ผู้สูญหาย ใน สปป. ลาว จำนวน 5 ราย ได้แก่ นายอิทธิพล สุขแป้น, นายวุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ, นายสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์(สุรชัย แซ่ด่าน) , นายชัชชาญ บุปผาวัลย์ และนายไกรเดช ลือเลิศ 2.ผู้สูญหายในเวียดนาม จำนวน 3 ราย ได้แก่ นายชูชีพ ชีวะสุทธิ์, นายกฤษณะ ทัพไทย และนายสยาม ธีรวุฒิ 3.ผู้สูญหายในกัมพูชา จำนวน 1 ราย ได้แก่ นายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ โดยการพิจารณาแนวทางเพื่อขับเคลื่อนในวาระดังกล่าว พบว่า มีอุปสรรคใหญ่ที่มีบางราย เช่น นายสุรชัย แซ่ด่าน กับ นายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ มีเบาะแสในต่างประเทศที่ไม่ชัดเจนว่า เข้าข่าย พ.ร.บ.อุ้มหาย หรือไม่ แม้จะยังไม่ยุติการการติดตามตรวจสอบ แต่ก็ไม่สามารถมีข้อมูลนำไปขอความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อให้เกิดข้อยุติในการติดตามตรวจสอบได้

“ในที่ประชุมเห็นพ้อง ในการตั้งคณะอนุกรรม 1 ชุด ที่มีองค์ประกอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาทำหน้าที่หาเบาะแสในต่างประเทศ เพื่อให้การติดตามตรวจสอบเรื่องดังกล่าวมีความคืบหน้าและเป็นไปด้วยความรวดเร็ว”

ส่วนกรณีนายสยาม ธีรวุฒิ การติดตามดำเนินการมาตลอด แต่มีหลักฐานเพียงว่า พบครั้งสุดท้ายที่เวียดนาม ก่อนการบังคับใช้ พ.ร.บ.อุ้มหาย แต่ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่า ถูกการกระทำในทางอาญาโดยเจ้าหน้ารัฐหรือไม่ จึงให้สำนักงานอัยการสูงสุดดำเนินการรวบรวมข้อมูลต่อไป ส่วนกรณีนายไกรเดช ลือเลศ พบว่าเสียชีวิตในบริเวณแม่น้ำโขง ฝั่งประเทศไทย ไม่มีข้อมูลว่าเป็นเหตุจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ ที่จะเข้าเข้าข่าย พ.ร.บ.อุ้มหาย จึงมอบหมายให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ รวบรวมข้อมูลอีกครั้ง

ทั้งนี้ในการรายงานสถิติผลการดำเนินการตาม พ.ร.บ.อุ้มหายฯ ซึ่งในสถิติการรับเรื่องราวร้องทุกข์ ร้องเรียน ตามมาตรา 29 มีคดีที่ได้รับความสนใจจากประชาชน เช่น คดีนายชัชชัย ดินแดง พบข้อเท็จจริง ปรากฎรอยฟกช้ำ บาดแผลบนร่างกาย เป็นการเสียชีวิตระหว่างการควบคุมของเจ้าหน้าที่รัฐ แต่การสอบสวนตาม พ.ร.บ.อุ้มหาย พบอุปสรรคคือ คลิปวิดีโอในช่วงการจับกุมไม่มีความต่อเนื่อง ขาดช่วงจังหวะสำคัญที่อาจเป็นการตัดต่อ จึงมีการนำไปตรวจสอบที่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ และอธิบดีกรมการปกครอง สั่งการให้พนักงานสอบสวนฝ่ายปกครอง สอบปากคำผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเพื่อสรุปคดีแล้ว รวมถึงคดีนายปัญญา คงแสนคำ หรือลุงเปี๊ยก จะมีการเชิญกรมสอบสวนคดีพิเศษ มารายงานการสรุปคดี

ขณะที่สถิติผู้สูญหายตามบัญชีคณะทำงานสหประชาชาติว่าด้วยการหายสาบสูญ โดยถูกบังคับหรือไม่สมัครใจ มีรายชื่อยังอยู่ระหว่างการแสวงหาข้อเท็จจริง 6 ราย ประกอบด้วย นายสมชาย นีละไพจิตร, นายกมล เหล่าโสภาพันธ์, นายมนเทพ อมรเวชยกุล ขณะทีมี 2 รายให้ยุติการสืบสวน ประกอบด้วย นางสาวเพ็ญศรี บุญประเสริฐ, นายอ๊อด ไชยวงศ์ มีเพียงนางสาวสุชาดา พรหมดำ ที่สูญหายจากเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ปี 35 พบตัวแล้วว่ามีชีวิตในต่างประเทศ

นอกจากนี้ ในที่ประชุมยังมีการพิจารณาอีกหลายเรื่อง เช่น การจัดทำระบบเชื่อมโยงข้อมูลตาม พ.ร.บ.อุ้มหาย (มาตรา 5, 6 และ7), ร่างระเบียบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการกระทำให้บุคคลว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติหน้าที่และค่าใช้จ่ายอื่น พ.ศ….. และร่างบัญชีรายการและอัตราค่าใช้จ่ายแนบท้ายระเบียบ รวมถึงข้อกังวลของประธานคณะกรรมการฯ ที่มีต่อชาวอุยกูร์ 45 คน หลังถูกกักตัวอยู่ในประเทศไทยมานานนับ 10 ปีอีกด้วย.