กรณีช่วงบ่ายที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์ สั่งให้ยุบพรรคก้าวไกลรวมถึงตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคเป็นเวลา 10 ปี ตามที่นำเสนอไปแล้วนั้น

‘ศิริกัญญา’ เผย 9 ส.ค.นี้ เตรียมโยกไปพรรคใหม่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เพจเฟซบุ๊ก “ฝ่ายมนุษยธรรม SGCU” โพสข้อความระบุ “ชวนทุกคนมาแสดงพลังไม่เห็นด้วยต่อคำตัดสินศาลรัฐธรรมนูญกรณียุบพรรคก้าวไกล”พร้อมกันที่ sky walk แยกปทุมวัน วันนี้ (7 ส.ค. 67) เวลา 18:00 น. โดยกิจกรรมที่จัดขึ้นจะเป็นรูปแบบ ‘แฟลชม็อบ‘ ร่วมแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วย และขอเชิญชวนประชาชนทุกคนที่สะดวกมาร่วมแสดงพลังร่วมกัน แล้วเจอกันเย็นนี้”

คืบหน้าล่าสุดเวลา 18.30 น. วันเดียวกัน ที่ลาน sky walk แยกปทุมวัน ใกล้เคียงห้างMBK กทม. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เริ่มมีกลุ่มผู้ชุมนุมถยอยเดินทางมายังจุดนัดหมาย พร้อมกันนียังมีการปูผ้าดิบบนพื้นพร้อมเขียนข้อความเชิญชวนให้ผู้ร่วมชุมนุมเขียนแสดงความคิดเห็น โดยระบุข้อความ “คุณรู้สึกอย่างไร?ที่พรรคก้าวไกลถูกยุบ”

ต่อมาเวลา 18.45 น. นาย อภิสิทธิ์ ฉวานนท์ นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชั้นปี 4 นายกองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การจัดกิจกรรมในวันนี้เป็นการแสดงจุดยืนว่าทางองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาฯ ไม่เห็นด้วยโดยจะยืนคัดค้านกรณียุบพรรคก้าวไกล เป็นระยะเวลา 112 วินาที เพื่อแสดงจุดยืนว่าพรรคก้าวไกลที่มีนโยบายในการแก้ไข ม.112 ไม่ใช่ล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่อย่างใด ซึ่งคำวินิจฉัยนี้ขัดต่อเจตจำนงของประชาชนในการเลือกตั้งที่ผ่านมา กว่า 14 ล้านเสียง โดยในวันนี้ยังมีตัวแทนจากหลายมหาวิทยาลัยมาร่วมด้วย อาทิเช่น ตัวแทนจากแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมร่วมอ่านคำแถลงการณ์ด้วย

ด้าน นายธีรภพ เต็งประวัติ นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชั้นปีที่ 2 ในฐานะแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ได้อ่านคำแถลงการณ์โดยมีใจความว่า ในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทยตลอด 20 ปีที่ผ่านมามีพรรคการเมืองถูกสั่งยุบไปแล้วร่วม 110 พรรค ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พรป.) ว่าด้วยพรรคการเมืองหลายฉบับ ด้วยหลากหลายข้อกล่าวหา อาทิการไปรวมกับพรรคการเมืองอื่น การไม่ส่งรายงานใช้จ่ายเงินสนับสนุน จนถึงการเกี่ยวข้องกับการล้มล้างระบอบการปกครอง ทำให้พรรคการเมือง นักการเมืองจำนวนมาก โดยเฉพาะพรรคการเมืองในกลุ่มที่ถูกนิยามว่าเป็น “ฝ่ายประชาธิปไตย” ต้องถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบเลิก และเพิกถอนสิทธิทางการเมือง เป็นการพรากความฝันและดับซึ่งความหวังของพ่อแม่พี่น้องประชาชนที่ได้ฝากไว้กับพรรคและนักการเมืองเหล่านั้น

ในประเทศที่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริงควรสนับสนุน ส่งเสริมการรวมกลุ่มของประชาชน การยุบพรรคการเมืองต้องเป็นทางเลือกสุดท้าย และไม่ควรถูกยุบจากองค์กรอิสระที่ไม่ได้มีอะไรยึดโยงกับประชาชน

“การเป็นนิติรัฐ” ย่อมไม่หมายความเพียงว่ารัฐต้องผูกพันกับกฎหมาย หากแต่การกระทำของรัฐต้องมีความชอบด้วยกฎหมาย แต่ยังหมายถึงวัตถุประสงค์ในการจำกัดอำนาจรัฐและผู้ปกครองในประเทศโดยกฎหมาย ซึ่งก็คือเพื่อไม่ให้กระทำการตามอำเภอใจ หากแต่ใน 20 ปีที่ผ่านมา แทนที่จะเป็นที่พึ่งในการพิทักษ์สิทธิเสรีภาพของประชาชนและองค์กรที่ตรวจสอบและจำกัดอำนาจผู้ปกครองตามหลักนิติรัฐ ศาลรัฐธรรมนูญกลับกลายเป็นเครื่องมือในการขยายขอบเขตของอำนาจรัฐและสถานะของผู้ปกครองในระบบยุติธรรม

แนวร่วมธรรมศาสตร์และการขุมนุมจึงขอยืนยันว่าการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาย่อมเป็นสิ่งที่กระทำได้ตามระบอบประชาธิปไตย โดยในระบบรัฐสภา และประณามการตัดสินใจที่จะยุบพรรคก้าวไกล ว่าเป็นการกระทำที่ยอมรับมิได้และเป็นการขัดต่อหลักนิติรัฐและหลักการประชาธิปไตยที่อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน ยิ่งไปกว่านั้น แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมขอยืนยันว่า ทุกการกระทำที่ชนชั้นนำไทยใช้ในการตอบโต้ความพ่ายแพ้ในการเลือกตั้ง ตั้งแต่การบิดเบือนการเลือกตั้ง การทำรัฐประหาร รวมจนถึงการยุบพรรคอย่างที่เห็นกันในวันนี้ เป็นการที่มิใช่ มิควร และมิเคยเป็นเรื่องปกติในทุกสังคมประชาธิปไตย โดยบรรดาประเทศที่นิยามตัวเองว่ามีระบอบการปกครองในรูปแบบประชาธิปไตย

โดยภายหลังจากการอ่านคำแถลงการณ์ ยังผู้เข้าร่วมการชุมนุมยังร่วมกัน ตะโกนคำว่า “สุขสันต์วันรพี” 3 ครั้ง