เมื่อวันที่ 7 ส.ค. จาก “เดลินิวส์” นำเสนอข่าวการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำเอเลี่ยนมหันตภัยจากต่างแดน แบบเกาะติดต่อเนื่องเกือบ 2 เดือน ในขณะที่ภาคเอกชนโดยสหกรณ์กุ้งปากพนังและชมรมกุ้ง สงขลา-นครศรีฯ จัดกิจกรรม คิกออฟไล่ล่าจับปลาหมอคางดำในบ่อบำบัดน้ำเสียขนาดใหญ่ของโครงการส่งเสริมการเลี้ยงกุ้งทะเล เนื้อที่ 184 ไร่ ในพื้นที่ ต.ขนาบนาค อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งสามารถจับปลาหมอคางดำได้กว่า 3 ตัน จนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมประมงและรัฐบาล ได้หันมาให้ความสำคัญในเรื่องนี้ พร้อมกำหนดมาตรการในการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมทั่วประเทศ ที่มีการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำกว่า 17 จังหวัด โดยเฉพาะนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศให้มีการตั้งจุดรับซื้อปลาหมอคางดำกิโลกรัมละ 15 บาท จากเดิมที่มีการซื้อขายกันกิโลกรัมไม่เกิน 10 บาท
โดยล่าสุดทางประมงจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้มีการนัดลงแขกไล่ล่าปลาหมอคางดำในวันที่ 8 ส.ค. ณ คลองสาขาเขตรอยต่อหมู่ 4 ต.เกาะเพชร อ.หัวไทร กับหมู่ 9 ต.ขนาบนาค อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช ส่วนการตั้งจุดรับซื้อตามนโยบายของกรมประมงและรัฐบาลนั้น ได้มีการประกาศจุดรับซื้อปลาหมอคางดำในกิโลกรัมละ 15 บาท จำนวน 5 จุด ประกอบด้วยจุดที่ 1 สหกรณ์ผู้เลี้ยงกุ้งปากพนัง อำเภอปากพนัง 2.แพปลาพรเทพ ตำบลท่าพระยา อำเภอปากพนัง 3.แพปลาน้องเปีย ตำบลเกาะเพชร อำเภอหัวไทร 4.แพปลาพรชัยวัฒนาบริเวณสะพานปลา อำเภอปากพนัง และ 5.แพปลาณัฏชัยนาคเกษม ตำบลเกาะเพชร อำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช
สะพรึง! พิสูจน์มหันตภัย ‘ปลาหมอคางดำ’ ฉีกปากพบอมไข่-ลูกตัวเล็กสุดยั้วเยี้ย
อย่างไรก็ตาม นายประทีป น้ำขาว ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 5 ต.ท่าพระยา อ.ปากพนัง ซึ่งได้รับซื้อปลาหมอคางดำในพื้นที่มาโดยตลอด ได้พบ “ปลาหมอบ้าน” ตัวหนึ่งที่มีลักษณะผิดแผกไปจากปลาหมอบ้านทั่วๆ ไป สงสัยว่าอาจจะเป็นปลาหมอสายพันธุ์ใหม่ที่มีการผสมกันระหว่างปลาหมอคางดำกับปลาหมอบ้าน จึงแจ้งนายไพโรจน์ รัตนรัตน์ สมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัดนครศรีธรรมราช มาช่วยกันพิจารณาตรวจสอบปลาหมอตัวดังกล่าว
หลังจากมีการนำปลานิล ปลาหมอเทศ ปลาหมอคางดำ และปลาหมอบ้านตัวดังกล่าว มาเปรียบเทียบกันเพื่อพิจารณาจุดแตกต่าง พบว่าปลาหมอบ้านตัวดังกล่าว มีรูปร่างลักษณะ ลำตัวกลมเรียวคล้ายปลาช่อน แต่ส่วนหัวเหมือนปลาหมอบ้านทั่วๆ ไป แต่มีลักษณะคางดำ ส่วนครีบและเกล็ดตามลำตัวจะมีสีดำสลับเป็นช่วงๆ จนถึงปลายหาง แตกต่างไปจากปลาหมอคางดำ ปลาหมอเทศ และปลาหมอบ้าน อย่างชัดเจน
โดยทุกคนซึ่งส่วนใหญ่มีความเชี่ยวชาญด้านพันธุ์สัตว์น้ำเป็นอย่างดี ต่างยืนยันว่าไม่เคยพบเห็นปลาลักษณะดังกล่าวมาก่อน สงสัยว่าจะเป็นปลาหมอสายพันธุ์ใหม่ที่มีการผสมกันระหว่างปลาหมอคางดำกับปลาหมอบ้านหรือปลาในท้องถิ่นชนิดใดชนิดหนึ่งอย่างแน่นอน.