‘สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล’ (ESG) ถือเป็นประเด็นที่กำลังได้รับความสนใจและถูกกล่าวถึงอย่างกว้างขวางในโลกของธุรกิจ การเติบโตทางความต้องการของข้อมูล ESG สะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มการลงทุนที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมุมมองของนักลงทุนที่ให้ความสำคัญกับบริษัทที่มีแนวทางการดำเนินงานอย่างยั่งยืน เนื่องจากเล็งเห็นว่าบริษัทเหล่านี้นอกจากจะสามารถสร้างโอกาสด้านผลตอบแทนทางการเงินที่ดีได้แล้ว ยังมีส่วนร่วมในการสร้างสังคมที่น่าอยู่และส่งต่อโลกที่ยั่งยืน สอดรับกับเทรนด์ของผู้บริโภคและตลาดโลกในปัจจุบันและอนาคตอันใกล้

‘ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย’ (ตลท.) ในฐานะสถาบันหลักในการกำกับดูแลตลาดทุนของประเทศไทย ได้ตระหนักถึงความสำคัญของข้อมูลด้าน ESG ซึ่งมีผลต่อการตัดสินใจลงทุนของนักลงทุนมากขึ้นในทุกขณะ จึงมีการส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียน (บจ.) หันมาให้ความสำคัญกับการเปิดเผยข้อมูลด้าน ESG อย่างโปร่งใสและครบถ้วน ซึ่งจะช่วยให้นักลงทุนสามารถประเมินความเสี่ยงและโอกาสในการลงทุนได้อย่างรอบด้าน เพื่อนำไปสู่การเลือกลงทุนกับบริษัทที่มีแนวทางการดำเนินงานที่สอดคล้องกับค่านิยมและเป้าหมายในการลงทุนของตนเอง

ดังที่ล่าสุด ตลาดหลักทรัพย์ฯ มีการลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ EXIM BANK หรือ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) สถาบันการเงินภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง ใน ‘โครงการเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูล ESG เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนระบบนิเวศสำหรับการเงินเพื่อความยั่งยืน’ (Sustainable Finance) รวมถึงข้อมูลการดำเนินงานด้านความยั่งยืนของ บจ. ผ่านระบบ ESG Data Platform และสนับสนุนระบบ SET Carbon สำหรับลูกค้าของธนาคารให้มีการดำเนินงานตามเป้าหมายความยั่งยืน โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ และ EXIM BANK จะร่วมกันพัฒนาสินเชื่อจากการใช้ข้อมูลด้าน ESG ประกอบการพิจารณา ตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ปี 2567 และเริ่มให้บริการในปี 2568

สำหรับโครงการดังกล่าว ตลาดหลักทรัพย์ฯ และ ธสน. จะเชื่อมต่อและแลกเปลี่ยนข้อมูล เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการดำเนินงาน เพิ่มโอกาสให้กับผู้ประกอบการที่ต้องการเงินลงทุนในการสนับสนุนเป้าหมายด้านความยั่งยืน และร่วมกันพัฒนาผลิตภัณฑ์การเงิน บริการ รวมถึงสิทธิประโยชน์ให้กับผู้มีส่วนได้เสีย นอกจากนี้ ยังจะต่อยอดและพัฒนาระบบนิเวศด้านความยั่งยืน เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยสามารถดำเนินงาน ปรับปรุง พัฒนา ตลอดจนวางแผนการจัดการด้านการลงทุนในกิจการ อันจะนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนและควบคู่ไปกับการเติบโตทางธุรกิจ 

ดร. ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ระบุว่า ปัจจุบันบจ. มีความตื่นตัวในการหันมาดำเนินธุรกิจด้วยความยั่งยืนและเริ่มมีการรายงานข้อมูลในส่วนของ ESG ในจำนวนที่มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทว่าสิ่งที่ทางตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้ความสำคัญมากกว่าการรายงานข้อมูลคือ ข้อมูลที่รายงานมา สำคัญกับบจ.นั้นๆ มากน้อยเพียงใด ตัวเลขมีความถูกต้องหรือไม่ และข้อมูลดังกล่าวจะถูกนำไปใช้ต่อในด้านใด ฉะนั้น ตั้งแต่ปี 2565 ตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงได้พัฒนาระบบ ‘SET ESG Data Platform’ ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มรองรับการเปิดเผยข้อมูลด้าน ESG ของบจ. อย่างเป็นระบบ และ ส่งเสริมให้มีการนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ต่อในทุกภาคส่วน ที่ให้บริการข้อมูลตั้งแต่ปี 2566 โดยรวบรวมข้อมูลด้าน ESG ของ บจ. กว่า 700 บริษัท คิดเป็น 76% จำนวนบจ. ทั้งหมดที่มีปริมาณข้อมูลที่ครอบคลุมการดำเนินงานด้าน ESG กว่า 120 ตัวชี้วัด สอดคล้องตามข้อกำหนดและมาตรฐานการรายงาน ซึ่งในปัจจุบันมีหน่วยงานที่ให้ความสนใจและเชื่อมต่อข้อมูลดังกล่าวหลายแห่ง อาทิ กลุ่มผู้ลงทุนสถาบันในประเทศ สถาบันวิจัย และรัฐวิสาหกิจ เป็นต้น

ขณะเดียวกัน ยังได้พัฒนาระบบ ‘SET Carbon’ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการคำนวณ และจัดทำข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของธุรกิจที่ได้มาตรฐานสากล อีกทั้งยังช่วยให้บจ. และบริษัทในห่วงโซ่อุปทานสามารถจัดทำและตรวจสอบข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมีประสิทธิภาพบนระบบงานเดียวกันได้อย่างสะดวก ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการทดลองใช้ระบบโดย บจ. นำร่องในปี 2567 และจะเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในปี 2567

“ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้สร้างความร่วมมือกับหน่วยงานทั้งในและต่างประเทศ เพื่อให้มีการแลกเปลี่ยนและนำข้อมูลไปใช้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การใช้ข้อมูล ESG เพื่อการระดมทุนและการลงทุน เราเชื่อมั่นว่าความร่วมมือกับ EXIM BANK ในครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญของการพัฒนาระบบนิเวศทางการเงินที่ยั่งยืนของประเทศไทย เนื่องจากจะช่วยเพิ่มโอกาสให้ภาคธุรกิจเข้าถึงแหล่งเงินทุนและเครื่องมือทางการเงินได้มากยิ่งขึ้น” ดร. ภากร กล่าว

ด้าน ดร. รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) กล่าวว่า ภาคการเงินการธนาคารมีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนการเติบโตอย่างสมดุล ทั้งในมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม รวมถึงการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมโลกในปัจจุบัน ธนาคารทั่วโลกโดยเฉพาะในกลุ่มธนาคารเพื่อการพัฒนา (Development Banks) มีบทบาทสำคัญในการเป็นแหล่งเงินทุนสนับสนุนให้ภาคธุรกิจปรับตัวและเติบโตได้มากถึง 1 ใน 3 ของมูลค่า Climate Finance หรือ การเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก EXIM BANK ในฐานะธนาคารเพื่อการพัฒนาสีเขียวของประเทศไทย (Green Development Bank) จึงได้พัฒนานวัตกรรมทางการเงินสีเขียว (Greenovation) ที่สนับสนุนโครงการหรือธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมาอย่างต่อเนื่อง

ความร่วมมือกับตลาดหลักทรัพย์ฯ ในครั้งนี้นับเป็นการบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน โดยนำฐานข้อมูลที่ได้มาตรฐานสากลมาใช้ในการขับเคลื่อนการพัฒนาภาคการเงินการธนาคารของไทยไปสู่ความยั่งยืน ทั้งยังช่วยส่งเสริมให้ภาคธุรกิจคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการได้ดียิ่งขึ้น

“ข้อมูลด้าน ESG จากตลาดหลักทรัพย์ฯ จะช่วยให้ธนาคารดำเนินธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะที่ภาคธุรกิจก็จะได้รับการส่งเสริมให้สามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์และสิทธิประโยชน์ทางการเงินต่างๆ ตลอดจนการเข้าร่วมอยู่ในห่วงโซ่คุณค่าของการส่งออกสีเขียว (Green Export Supply Chain) นอกจากนี้ ยังสามารถพัฒนาการจัดทำรายงานและวางแผนเพื่อการจัดการก๊าซเรือนกระจกได้อย่างสะดวก ครบครัน และมีประสิทธิภาพ พร้อมปฏิบัติตามมาตรฐานสากลด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อก้าวไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน และเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์” ดร. รักษ์ กล่าวทิ้งท้าย