นายพงศ์กวิน จึงรุ่งเรืองกิจ ที่ปรึกษารมว.คมนาคม เปิดเผยว่า กระทรวงคมนาคมเสนอร่างพ.ร.บ.การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. …. ไปคณะรัฐมนตรี(ครม.) แล้ว สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี(สลค.) อยู่ระหว่างสอบถามความคิดเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คงเข้าสู่การพิจารณาของ ครม. เร็วๆ นี้ คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ภายในเดือน ก.ย.68 สอดรับกับเป้าหมายนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คมนาคม ที่จะดำเนินนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายให้ได้ทุกสีทุกสายในเดือน ก.ย.68
ด้านนายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กล่าวว่า ในปีงบประมาณ 68 สนข. ได้รับจัดสรรงบฯ 35 ล้านบาท เพื่อว่าจ้างที่ปรึกษาศึกษาพัฒนารูปแบบการกำกับดูแล และการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม อาทิ จัดตั้งหน่วยงานเพื่อทำหน้าที่บริหารจัดการระบบตั๋วร่วม และกำหนดแนวทางบริหารศูนย์บริหารจัดการรายได้กลาง (Central Clearing House : CCH) จัดทำข้อกำหนด และข้อตกลงทางธุรกิจในการพัฒนาระบบตั๋วร่วม และจัดทำร่างกฎหมายลำดับรอง 17 ฉบับ เพื่อรองรับการกำกับดูแลการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม และกองทุนส่งเสริมระบบตั๋วร่วม ระยะเวลา 720 วัน
จะเร่งจัดทำกฎหมายลำดับรองบางฉบับที่เกี่ยวข้องกับนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ให้แล้วเสร็จก่อนเดือน ก.ย.68 โดยเฉพาะกองทุนชดเชยรายได้ให้ผู้ประกอบการรถไฟฟ้า(ปีละประมาณ8พันล้านบาท) ซึ่งจะต้องให้ได้ข้อสรุป และเจรจาผู้ประกอบการรถไฟฟ้าที่ยังติดเงื่อนไขสัญญาสัมปทานให้แล้วเสร็จก่อนเดือน ก.ย.68 เบื้องต้นเงินที่จะนำมาเข้ากองทุนยังอยู่ระหว่างพิจารณามีหลายทางเลือก อาทิ รายได้ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) ที่ได้รับจากสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน
รวมถึงการเก็บค่าธรรมเนียมรถยนต์ที่วิ่งเข้าเขตใจกลางเมืองเหมือนในต่างประเทศ โดยอยู่ระหว่างศึกษารายละเอียด ซึ่งไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้ประชาชน แต่ต้องการดึงดูดให้ประชาชนหันมาใช้บริการขนส่งสาธารณะมากขึ้น
ผู้สื่อข่าวถามว่า ก่อนหน้านี้ศึกษาเรื่องระบบตั๋วร่วมมาแล้ว เหตุใดจึงต้องศึกษาฯ อีก นายปัญญา กล่าวว่า ที่ผ่านมาการเดินหน้าเรื่องตั๋วร่วมไม่ประสบความสำเร็จ ไม่สามารถบังคับให้ผู้ประกอบการทุกรายปฏิบัติตามได้ เพราะขาดกฎหมายที่จะมาบังคับใช้ ทำให้ทุกอย่างต้องหยุดรอร่าง พ.ร.บ.การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม สาเหตุที่ต้องศึกษาใหม่ เนื่องจากผลศึกษาเดิมศึกษาไว้นานแล้ว ระบบ และเทคโนโลยีต่างๆ ที่ศึกษาไว้อาจจะล้าสมัย จึงต้องศึกษาอีกครั้ง และข้อมูลเดิมเรื่องใดที่นำมาปรับใช้ได้ก็จะนำมาใช้ต่อไป ส่วนบัตรแมงมุมก่อนหน้านี้ ยังคงมีอยู่ เมื่อกฎหมายบังคับใช้ก็อาจนำมาใช้ได้ เช่นเดียวกับบัตรรถไฟฟ้าสายต่างๆ ก็ยังสามารถใช้ได้อยู่ เพียงแต่ต้องใส่ระบบที่ให้ใช้ระบบตั๋วร่วมเดียวกันได้ เพื่อให้ผู้โดยสารพกบัตรใบเดียวใช้ได้ทุกสาย
“ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่งเดลินิวส์” รายงานว่า เมื่อวันที่ 26 ส.ค. 64 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ อดีตรมว.คมนาคม ได้ตอบกระทู้ถามของส.ส.พรรคก้าวไกลในสภาฯเรื่องความล่าช้าของตั๋วร่วมว่า สนข.เริ่มโครงการศึกษาพัฒนาระบบตั๋วร่วมเมื่อปี 2555 จนถึงปี 64ใช้งบประมาณไปแล้ว 3 โครงการ รวม 674.1 ล้านบาท 1.โครงการศึกษาวางแนวทางการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วมดำเนินการตั้งแต่วันที่ 9 ม.ค.56 ใช้งบฯ301.7 ล้านบาท 2.โครงการจัดทำระบบศูนย์บริหารจัดการรายได้กลาง เมื่อปี 58 ใช้งบฯ 337.9 ล้านบาท และ 3.โครงการจัดทำแผนการกำกับบริหารจัดการระบบตั๋วร่วมเมื่อเดือน ส.ค. 63 ใช้งบฯ 34.5 ล้านบาท