เมื่อวันที่ 6 ส.ค. 67 ศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช. พร้อมด้วย นายพชร นริพทะพันธุ์ ที่ปรึกษาประจำประธาน กสทช. และนายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการเลขาธิการ กสทช. ให้การต้อนรับ นางเตียง นี เชียง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสื่อสาร ประเทศมาเลเซีย และนายเดเรค เฟอร์นานเดซ คณะกรรมการการสื่อสารและมัลติมีเดียแห่งมาเลเซีย (MCMC) ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจโทรคมนาคม เข้าเยี่ยมคารวะ
นายพชร กล่าวว่า ทั้งสองฝ่ายให้ความสำคัญกับกรอบการประชุมกลุ่มอาเซียน เพื่อจัดการภัยสแกมเมอร์ และ AI ที่เป็นปัญหาระดับภูมิภาค หลังจาก กสทช. ของไทย ได้ดำเนินมาตรการเข้มข้นในการจัดการสัญญาณ SIMBOX หรือเครื่องแปลงสัญญาณโทรศัพท์จากต่างประเทศ ซิมม้า และบัญชีม้า เพื่อสกัดอาชญากรรมทางเทคโนโลยีตามนโยบายรัฐบาล
โดยประเทศไทยมีบทบาทนำมาตรการปราบปรามเรื่องนี้อย่างเด็ดขาด เราบูรณาการความร่วมกันระหว่างฝ่ายตำรวจ ทหาร กสทช. และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ในส่วนของปฏิบัติการ กสทช. ได้เร่งตัดสัญญานที่ให้บริการล้นไปยังประเทศเพื่อนบ้าน และถูกกลุ่มอาชญากรนำไปใช้ก่ออาชญากรรม ส่วนฝั่งวิศวกรรมและกฎหมาย สืบเสาะทำลายอุปกรณ์ผิดกฎหมายในพื้นที่ รวมถึงการระบุเครือข่ายการใช้ของอุปกรณ์คนร้าย เป็นต้น
หนึ่งในประเด็นหารือคือลักษณะการก่ออาชญากรรมที่เปลี่ยนแปลงไปใน 2 รูปแบบหลัก คือ การใช้ remote ddos เข้าบังคับเครื่องของประชาชนเพื่อโอนเงิน และการทำ pig butchering scam ผ่าน romance หรือ investment scam ซึ่งทางหน่วยกำกับดูแลโทรคมนาคม ได้พยายามปิดกั้นการเข้าถึงสัญญาณของอาชญากรข้ามชาติ แต่ยังติดเรื่องระบุตัวคนร้ายที่ใช้เทคนิค virtual control ที่สั่งการอยู่นอกประเทศไทย ปัญหาหลักตอนนี้คือการโอนเงินที่ง่ายเกินไป และปราศจากการป้องกันที่เพียงพอ ซึ่งจะเป็นประเด็นที่จะยกขึ้นในการประชุมสุดยอดอาเซียนที่ประเทศลาว ปลายปีนี้
สำหรับประเด็นสำคัญนี้ ทางประธาน กสทช. ได้สั่งการมอบให้ นายพชร ไปดำเนินการขอความร่วมมือกับหน่วยงานของรัฐอื่นๆ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพโดยเร็วที่สุด ป้องกันประชาชนจากการถูกหลอกลวงโอนเงินจากมิจฉาชีพ
นายพชร กล่าวด้วยว่า พร้อมจะนำแนวทางการป้องกันอาชญากรรมทางเทคโนโลยีนี้ ไปหารือกับกระทรวงดีอี และคณะทำงานที่มีธนาคารแห่งประเทศไทย และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เสริมแนวป้องกันทางเทคโนโลยีมากขึ้น เพราะข้อมูลของ กสทช. ที่ได้จากการปฏิบัติการต่อเนื่อง ร่วมกับตำรวจ พบว่าช่องว่างการก่ออาชญากรรมตอนนี้คือการโอนเงินผ่านระบบโมบายแบงก์กิ้ง และการโอนปลายทางไปยังสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งไม่สามารถระบุตัวตนได้จึงต้องมีการออกมาตรการ แนวทางทางวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ที่จะสามารถช่วยประชาชนจากการตกเป็นเหยื่อได้มากขึ้น
ทางด้านนายเดเรค เฟอร์นานเดซ กรรมการ MCMC ได้เสนอแนวทางกำกับดูแล ระดับภูมิภาค และยกระดับความร่วมมือ ว่าจากการหารือที่ สิงคโปร์ และ มาเลเซีย เน้นการสร้างความร่วมมือการดูแลฐานข้อมูล black list URL ที่ใช้ในการก่ออาชญากรรม และมาตรฐานการลงทะเบียนให้เหมือนกันทั้งหมดในระดับภูมิภาค เพื่อป้องกันการใช้ roaming sim ในการก่ออาชญากรรมต่อไป