สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงมอสโก ประเทศรัสเซีย เมื่อวันที่ 14 ต.ค.ว่าประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน กล่าวเมื่อวันพุธที่ผ่านมา เกี่ยวกับวิกฤติพลังงานในยุโรป ที่ราคาขายส่งก๊าซธรรมชาติพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ว่าเป็นผลพวงจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ปริมาณก๊าซสำรองในภูมิภาคลดลง และการเก็งกำไรในตลาดซื้อขายล่วงหน้าที่มากเกินไป ปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้ราคาก๊าซในยุโรป "ไม่มีความสมดุลและคาดการณ์ได้ยาก" 
อย่างไรก็ดี ในส่วนของรัสเซียนั้นปฏิบัติตามข้อตกลงมาตลอด และยินดีเพิ่มกำลังการผลิตให้แก่ยุโรปเป็นกรณีพิเศษ "หากได้รับการร้องขอ" แต่ในขณะเดียวกัน ปูตินกล่าวถึงการที่ยุโรปวิจารณ์รัฐบาลมอสโกใช้เรื่องก๊าซธรรมชาติ ที่ยุโรปมักมีความต้องการสูงอยู่แล้วในช่วงฤดูหนาว "เป็นอาวุธทางการเมือง" เพื่อเจรจาต่อรองผลประโยชน์ คือการกล่าวหา "ที่ไม่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริง"
ทั้งนี้ รัสเซียกับโปแลนด์และยูเครน กำลังมีข้อพิพาทเรื่องโครงการท่อส่งก๊าซ "นอร์ด สตรีม ทู" ที่จะเป็นการส่งก๊าซโดยตรงจากรัสเซียไปยังเยอรมนี ลอดผ่านใต้ทะเลบอลติก ทำให้ไม่ผ่านโปแลนด์และยูเครน สร้างความไม่พอใจอย่างหนักให้กับทั้งสองประเทศ โดยโครงการก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์แล้ว เมื่อเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา หลังใช้เวลานานเกือบ 10 ปี แต่ยังส่งก๊าซไม่ได้ ท่ามกลาง "การคัดค้าน" ของสหรัฐ ด้านแหล่งข่าวในรัฐบาลมอสโกมองว่า การเดินเครื่องนอร์ด สตรีม ทู น่าจะช่วยบรรเทาวิกฤติพลังงานในยุโรปได้บ้าง
ขณะที่คณะกรรมาธิการยุโรป ( อีซี ) กำลังพยายามอย่างหนัก เพื่อหาทางแก้ไขวิกฤติพลังงานครั้งนี้ ที่ราคาขายส่งก๊าซในยุโรปเพิ่มขึ้นสูงถึง 250% ตั้งแต่เดือน ม.ค.ที่ผ่านมา โดยหนึ่งในแนวทางที่มีการหารือ คือการให้แต่ละประเทศจับกลุ่มซื้อก๊าซร่วมกัน และมีการคาดการณ์ว่า ราคาก๊าซจะยังอยู่ในระดับสูงเช่นนี้ไปจนถึงเดือน เม.ย.ปีหน้า
ในอีกด้านหนึ่ง องค์การพลังงานระหว่างประเทศ ( ไออีเอ ) เรียกร้องนานาชาติร่วมกันลงทุนด้านพลังงานสะอาดให้ได้ 4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ( ราว 132.76 ล้านล้านบาท ) ภายในปี 2573 เพิ่มขึ้นสามเท่าจากระดับปัจจุบัน เพื่อให้ประชาคมโลกร่วมกันบรรลุเป้าหมาย "คาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์" ภายในปี 2593.

เครดิตภาพ : AP