สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงธากา ประเทศบังกลาเทศ เมื่อวันที่ 6 ส.ค. ว่า สหประชาชาติ (ยูเอ็น) เผยแพร่แถลงการณ์ของนายอันโตนิโอ กูเตร์เรส เลขาธิการ เรียกร้อง “การเปลี่ยนผ่านตามกระบวนการประชาธิปไตย” ในบังกลาเทศ และ “การสอบสวนที่เต็มรูปแบบ เป็นอิสระ เป็นกลาง และโปร่งใส” เกี่ยวกับความรุนแรงซึ่งเกิดขึ้นตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา


ขณะที่นายเดวิด แลมมี รมว.การต่างประเทศสหราชอาณาจักร ประเทศซึ่งเป็นอดีตเจ้าอาณานิคมของบังกลาเทศ เรียกร้องการสืบสวนสอบสวนอย่างละเอียด โดยให้ยูเอ็นเป็นหัวเรือใหญ่


ด้านนายแมทธิว มิลเลอร์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ เรียกร้องทุกภาคส่วนถอยห่างจากการใช้ความรุนแรง และกล่าวด้วยว่า รัฐบาลวอชิงตัน “ชื่นชม” ที่กองทัพบังกลาเทศไม่ใช้กำลังกับประชาชนซึ่งออกมาประท้วงอย่างสันติ และ “ยินดี” ที่มีการจัดตั้งรัฐบาลชั่วคราว เพื่อการเปลี่ยนผ่านทางการเมือง ตามกระบวนการทางกฎหมายของบังกลาเทศ

อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่า บรรดาประเทศในเอเชียใต้สงวนท่าทีอย่างชัดเจน ในการให้ความเห็นต่อสถานการณ์การเมืองภายในบังกลาเทศ สะท้อนว่า แต่ละประเทศในภูมิภาคแห่งนี้ ต้องรักษาสมดุลทางการเมืองและเศรษฐกิจ กับอินเดีย จีน และตะวันตก


ทั้งนี้ ชีค ฮาสินา ซึ่งตอนนี้เป็นอดีตนายกรัฐมนตรีไปแล้ว และเป็นบุตรสาวของชีค มูจิบูร์ เราะห์มาน ผู้ก่อตั้งบังกลาเทศ ลงจากอำนาจที่ผูกขาดมานาน 15 ปี จากวิกฤติหลายเรื่องที่ยืดเยื้อมานาน จนเป็นระเบิดเวลาซึ่งปะทุในที่สุด เมื่อเดือนที่แล้ว จากการประท้วงเรียกร้องให้มีการยุติการใช้โควตาสงวนตำแหน่งงานทางราชการ ที่มีผู้เสียชีวิตจากความรุนแรงแล้วมากกว่า 300 ราย


ส่วน พล.อ.วาเกอร์-อุซ-ซามัน ประธานคณะเสนาธิการทหารร่วมบังกลาเทศ ยังไม่ได้กล่าวอย่างชัดเจน ว่าจะดำรงตำแหน่งผู้นำรัฐบาลชั่วคราวเองหรือไม่ แต่กล่าวว่า จะหารือกับทุกภาคส่วน “ยกเว้น” พรรคสันนิบาตอวามีของฮาสินา


อนึ่ง กองทัพบังกลาเทศเคยจัดตั้งรัฐบาลรักษาการ หรือรัฐบาลชั่วคราว เมื่อปี 2550 ซึ่งรัฐบาลชุดดังกล่าว อยู่ในอำนาจนานประมาณ 2 ปี “เพื่อรักษาความสงบ” จากวิกฤติการเมืองในเวลานั้น.

เครดิตภาพ : AFP