เมื่อวันที่ 5 ส.ค. นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข เป็นประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ครั้งที่ 8/2567 ซึ่งเป็นการประชุมฯ นัดแรกของคณะกรรมการฯ ชุดใหม่ วาระปี 2567 โดยได้เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมฯ ได้พิจารณาและเห็นชอบ “การกำหนดมาตรการตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่” เพื่อรองรับการขับเคลื่อนนโยบายฯ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ซึ่งจะเริ่มวันที่ 26 ส.ค.นี้ สำหรับหลักเกณฑ์ที่เห็นชอบมี 4 ฉบับ ดังนี้

1.ประกาศสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง การกำหนดหลักเกณฑ์และการดำเนินการให้บริการของหน่วยบริการตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2545 ฉบับที่ 2 ประกาศสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง การกำหนดหลักเกณฑ์และการดำเนินการในการรับบริการของประชาชนตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2567

“2 ฉบับนี้ หลักเกณฑ์และขั้นตอนการให้บริการของหน่วยบริการ และการเข้ารับบริการของประชาชนผู้ใช้สิทธิบัตรทองในพื้นที่ กทม. ตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ กรณีที่เจ็บป่วยทั่วไปหรือเจ็บป่วยเรื้อรังทั่วไปที่มีการรับยาต่อเนื่อง สามารถเข้ารับบริการที่หน่วยบริการปฐมภูมิ หน่วยบริการนวัตกรรม หรือหน่วยบริการประจำ ที่ได้รับการรับรองและติดป้ายสัญลักษณ์การเข้าร่วมให้บริการนโยบาย 30 บาทรักษาที่ทุกที่” ประธานบอร์ด สปสช. กล่าว

ส่วนฉบับที่ 3 ประกาศสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง กำหนดตราสัญลักษณ์และการใช้ตราสัญลักษณ์ ของหน่วยบริการที่เข้าร่วมเป็นหน่วยบริการตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ พ.ศ. 2567 และ 4.ประกาศสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง การกำหนดหลักเกณฑ์และการดำเนินการในการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพของผู้รับบริการในหน่วยบริการที่เข้าร่วมเป็นหน่วยบริการตามนโยบาย 30 บาท รักษาทุกที่ ในพื้นที่กรุงเทพฯ  

ด้าน นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) กล่าวว่า สิ่งที่อยากฝากคือ อยากให้ สปสช. ทำการสื่อสารประชาสัมพันธ์กับประชาชนใน กทม. ให้ชัดเจนว่า นโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ใน กทม. เป็นการเข้ารับบริการเฉพาะกรณีที่ปฐมภูมิเท่านั้น เพราะกังวลว่าหากไม่ชัดเจน โดยประชาชนเข้าใจว่าไปที่ไหนก็ได้ก็จะมุ่งไปรับบริการที่โรงพยาบาลใหญ่ ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาได้ ดังนั้นจึงขอให้ สปสช. ทำการสื่อสารกับประชาชนให้ชัดเจน 

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ประชาชนที่จะเข้ารับบริการต้องเป็นหน่วยบริการที่มีตราสัญลักษณ์ให้บริการ 30 บาทฯ ติดอยู่เท่านั้น และหน่วยบริการที่จะได้รับตราสัญลักษณ์นี้ได้ต้องผ่านการรับรองจาก สปสช. ก่อน ต้องมีการเชื่อมต่อข้อมูลในระบบก่อน อย่างไรก็ตามจากที่กรรมการในที่ประชุมได้มีข้อสังเกต ทาง สปสช. ก็จะรับไปดำเนินการต่อไป รวมถึงการจัดให้มีการประเมินผลนโยบายฯ เพื่อการดำเนินการต่อไปให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น.