ดร.ศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการหัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร และหัวหน้าสายงานพัฒนาความยั่งยืนตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวกับทีม Sustainable Daily ในการสัมภาษณ์พิเศษถึงการยกระดับ SET ESG Ratings สู่มาตรฐานสากล

ดร.ศรพล ระบุว่า นับตั้งแต่ปี 58 ที่ ตลท.ไทยได้จัดทำ “รายชื่อหุ้นยั่งยืน THSI (Thailand Sustainability Investment)” ซึ่งเป็นหุ้นของบริษัทจดทะเบียนที่มีการดำเนินธุรกิจ โดยคำนึงหลัก ESG (Environmental, Social and Governance)  ตั้งแต่การดูแลสิ่งแวดล้อม การมีความรับผิดชอบต่อสังคม และการบริหารงานตามหลักบรรษัทภิบาล เพื่อเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับนักลงทุนใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจลงทุนต่อมาในปี 2566 จึงได้เปลี่ยนชื่อจาก “รายชื่อหุ้นยั่งยืน” เป็น “หุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings” พร้อมทั้งประกาศผลประเมินในรูปแบบ ESG Ratings เป็นปีแรก เพื่อส่งเสริมให้นักลงทุนมีข้อมูลประกอบการตัดสินใจลงทุน 

สำหรับบริษัทจดทะเบียนที่ได้รับการประกาศผลประเมิน SET ESG Ratings จาก ตลท. จะถือเป็นบริษัทที่มีการนำแนวคิดด้านความยั่งยืนเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินธุรกิจ โดยคำนึงถึงการบริหารความเสี่ยงและเตรียมรับมือกับความเสี่ยงใหม่ที่อาจเกิดขึ้น พร้อมรับมือกับปัจจัยการเปลี่ยนแปลงด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และให้ความสำคัญกับผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วน สามารถนําแบบประเมินหุ้นดังกล่าว ไปใช้เป็นเครื่องมือสําหรับปรับปรุงและพัฒนาการดําเนินงานด้าน ESG ทั้งยังมีประโยชน์ในการนำไปพิจารณาผลการประเมินหุ้นยั่งยืนเพื่อยกระดับการดําเนินงานด้าน ESG โดยเปรียบเทียบกับอุตสาหกรรม ตลอดจนสามารถสร้างโอกาสให้บริษัทจดทะเบียนเป็นที่สนใจ และได้รับการยอมรับจากนักลงทุนและผู้มีส่วนได้เสียอื่น ๆ เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันและเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้

ล่าสุดตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ร่วมกับ “FTSE Russell” บริษัทย่อยในกลุ่มตลาดหลักทรัพย์ลอนดอน (London Stock Exchange Group)  ผู้ประเมิน ESG ระดับโลก ในฐานะผู้ให้บริการโซลูชันด้านการลงทุนที่เป็นนวัตกรรมสำหรับผู้ลงทุน ซึ่งได้รับการยอมรับจากทั้งผู้ลงทุน สถาบัน และผู้ลงทุนรายย่อยทั่วโลก มีสินทรัพย์ภายใต้การบริหารจัดการคิดเป็นมูลค่าประมาณ 15.9 ล้านล้านดอลลาร์ ที่มุ่งพัฒนาศักยภาพตลาดทุนไทย เดินหน้า ยกระดับการประเมินความยั่งยืน SET ESG Ratings สู่มาตรฐานสากล

“เรื่องนี้ ตลท. ศึกษาการยกระดับมาแล้วกว่า 2 ปี ไม่ใช่ว่าช่วงที่ผ่านมามีข่าวคราวบางบริษัทแล้วเราเพิ่งมาทำ” 

เดิมที การประเมิน SET ESG Ratings ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เป็นลักษณะภาคสมัครใจ โดย บจ. ต้องสมัครเข้าร่วมการประเมิน และตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นผู้พิจารณาหลักเกณฑ์และกระบวน การประเมิน ซึ่งบริษัทต้องผ่านเกณฑ์ทั้งด้านคะแนนจากการกรอกข้อมูลเพื่อตอบแบบประเมินด้านคุณสมบัติ ขณะที่กระบวนการประเมินในรูปแบบใหม่อย่าง “FTSE Russell” จะเน้นการประเมินจากข้อมูลที่ บจ. เปิดเผยสู่สาธารณะ ซึ่งเป็นวิธีการ  (Methodology) ที่ใช้ประเมินบริษัทกว่า 8,000 แห่งใน 47 ประเทศทั่วโลก เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ ยกระดับความโปร่งใสของการประเมิน ทั้งยังเป็นการลดภาระการตอบแบบประเมินความยั่งยืนของ บจ. และช่วยให้ บจ. มีกรอบการดำเนินงาน ESG ตามมาตรฐานสากล ขณะเดียวกันผู้ลงทุนยังสามารถเปรียบเทียบผลประเมินกับบริษัททั้งในและต่างประเทศได้ด้วยมาตรฐานเดียวกัน

ไม่เพียงเท่านี้ FTSE Russell ซึ่งอยู่ภายใต้ตลาดหลักทรัพย์ลอนดอน ยังมีการดำเนินงานที่สอดคล้องกับ Code of Conduct หรือ แนวทางการขับเคลื่อนองค์กรอย่างยั่งยืนตามหลักการ CG ได้แก่ จรรยาบรรณธุรกิจ, การป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์, การป้องกันการทุจริตคอร์รัปชัน, การป้องกันการใช้ข้อมูลภายใน และมาตรการการแจ้งเบาะแส โดย FTSE ESG Data Model จะถูกกำกับดูแลโดยคณะกรรมการอิสระ ซึ่งประกอบด้วยภาคธุรกิจ ผู้ลงทุน NGOs และนักวิชาการ ฉะนั้น แนวทางและวิธีการประเมินจึงสะท้อนมุมมองของผู้มีส่วนได้เสียในหลากหลายมิติ

สำหรับความร่วมมือระหว่างตลาดหลักทรัพย์ฯ และ FTSE Russell เป็นก้าวสำคัญของตลาดทุนไทยที่จะช่วยส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียนไทยพัฒนาการดำเนินงานด้านความยั่งยืนสู่ระดับสากล และสนับสนุนให้ผู้ลงทุนพิจารณา ESG ประกอบการตัดสินใจลงทุนตามเทรนด์การลงทุนอย่างยั่งยืน ได้วาง Roadmap ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.), สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย, สมาคมบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์, เอ็ม เอ ไอ, สมาคมบริษัทจัดการลงทุน และสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน ยกระดับการประเมิน ESG ไปสู่มาตรฐานสากลดังกล่าวเป็นไปอย่างราบรื่นและเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย กำหนดให้มีโครงการประเมินนำร่องในปี 2567-2568 เพื่อให้ทุกฝ่ายเตรียมความพร้อม ก่อนที่จะดำเนินการประเมินและประกาศผลสู่สาธารณะตั้งแต่ปี 2569 เป็นต้นไป

สำหรับเกณฑ์การคัดเลือกบริษัทจดทะเบียนไทยเพื่อเข้าร่วมประเมินโดย FTSE Russell มีด้วยกัน 3 ด้าน ดังนี้ 1. บริษัทที่อยู่ในหุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings ในปีที่ผ่านมา  สำหรับในปี 2567 การประเมิน โดย FTSE Russell จะครอบคลุมบริษัทใน SET ESG Ratings ทั้งหมด 192 บริษัท ส่วนปีในถัด ๆ ไป จะประเมินบริษัทที่เคยอยู่ในหุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings มาก่อน (ปีใดปีหนึ่ง) 2. บริษัทที่อยู่ใน SET100 Index: ทุกบริษัทที่อยู่ใน SET100 Index ไม่ว่าจะอยู่ในหุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings หรือไม่ จะได้รับการประเมินโดยพิจารณาจากการคำนวณดัชนี 3 รอบล่าสุด และ 3. โควตาสำหรับบริษัทที่ต้องการเข้าร่วมโดยสมัครใจ: บริษัทที่ไม่ได้อยู่ในเกณฑ์การคัดเลือก แต่มีความสนใจจะเข้าร่วมการประเมินโดย FTSE Russell สามารถสมัครเข้าร่วมการประเมินได้ โดยจะเริ่มเปิดรับสมัครสำหรับการประเมินตั้งแต่ปี 2568 เป็นต้นไป ประกาศผลคะแนน ESG  สู่สาธารณะตั้งแต่ปี 2569 เป็นต้นไป

“เมื่อจะพัฒนาเรื่อง ESG จะพัฒนาต้องพัฒนาทั้งระบบ ทั้งในส่วนของบริษัทจดทะเบียน กองทุน นักลงทุน หรือด้านบุคลากรที่เกี่ยวข้อง ซึ่งถูกเชื่อมโยงเข้าไว้ด้วยการมีฐานข้อมูลที่โปร่งใส น่าเชื่อถือ ทันเหตุการณ์ และเป็นมาตรฐานสากล ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะเร่งเดินหน้าทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ทุกฝ่ายสามารถปรับตัวและมีความพร้อมในการยกระดับการประเมินสู่มาตรฐานสากล ซึ่งจะช่วยพัฒนาศักยภาพตลาดทุนไทยให้มีความโดดเด่นด้านความยั่งยืน และน่าสนใจในสายตานักลงทุนมากขึ้น” ดร.ศรพล กล่าวทิ้งท้าย.