ไล่ตามประเด็นข่าวที่น่าสนใจ ในวันแรกของการทำงานประจำสัปดาห์ หนีไม่พ้นกระแสข่าวปรับคณะรัฐมนตรี(ครม.) หลัง”นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” รอง นายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน ในฐานะหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ( รทสช. ) ได้ทำหนังสือถึง “นายเศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี แสดงเจตจำนงว่า สำหรับโควตารัฐมนตรีของพรรครทสช.ที่ว่างอยู่ 1 ตำแหน่งนั้น ยังเป็นโควตาของพรรค และจะมีการสลับปรับเปลี่ยนภายในพรรครทสช.เอง หลังจาก”นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ” ลาออกจากตำแหน่ง รมช.คลัง

ทั้งนี้ หากมีการปรับครม.พรรคขอเสนอชื่อ”นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์” สส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะเลขาธิการพรรค เข้าดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี เนื่องจากขณะนี้นายเอกนัฏไม่มีคดีความติดตัวแล้ว อีกทั้งนายเอกนัฏได้ทำผลงานในการเลือกตั้ง และงานสภาฯได้เป็นอย่างดีมาโดยตลอด ดังนั้น หากนายกฯจะปรับครม. พรรครทสช.พร้อมเสนอชื่อนายเอกนัฏทันที โดย หนังสือฉบับดังกล่าว ได้ส่งถึงมือของนายเศรษฐาแล้วเมื่อวันที่ 3 ส.ค.ที่ผ่านมาแล้ว.

จากนี้ต้องรอดูว่า นายกฯจะตอบสนองข้อเรียกร้อง ของพรรครทสช.เลยหรือไม่ ในส่วนพรรคร่วมรัฐบาลอื่นจะมีการปรับไปพร้อมกัน หรือมีการดึงพรรคอื่นเข้ามาเสริม เพราะก่อนหน้านี้ข่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์(ปชป. )จะเข้าร่วมรัฐบาล

ส่วนความเคลื่อนไหวของวุฒิสภา หลังมีการประชุมนัดแรก เพื่อเลือกประธานและรองประธานวุฒิสภา ”นายมงคล สุระสัจจะ” ประธานวุฒิสภา ได้ออกหนังสือนัดประชุมวุฒิสภาวันที่ 5 และ 6 ส.ค. โดยมีวาระพิจารณาที่บรรจุในระเบียบวาระที่น่าสนใจคือ ในวันที่ 5 ส.ค.พิจารณาเรื่องด่วนญัตติญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา (ฉบับที่…) พ.ศ… ที่มีคณะผู้เสนอ 5 ฉบับ ได้แก่  นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ สมาชิกวุฒิสภา(สว.)สายสาธารณสุข  นายประภาส ปิ่นตบแต่ง สว.สายประชาสังคม องค์กรสาธารณประโยชน์ นายเทวฤทธิ์ มณีฉาย สว.สายสื่อมวลชน นายเอกชัย เรืองรัตน์ สว. และ พล.ต.ท.ยุทธนา ไทยภักดี สว.สายอื่นๆ รวมถึงประเด็นการหารือเพื่อกำหนดวันนัดประชุมวุฒิสภาประจำสัปดาห์

ที่น่าสนใจคือ จำนวนกรรมาธิการ(กมธ )จากเดิมมี 26 คณะ จะคงเดิม ลดลงหรือเพิ่มขึ้น เนื่องจากจำนวนสว.ลดลงเหลือ 200 คน จากเดิมมี 250 คน ส่วนความเห็น”นายสรชาติ วิชย สุวรรณพรหม” หนึ่งในสว. ระบุว่า ในกลุ่มของตนมีมติให้สนับสนุนร่างแก้ไขข้อบังคับ ฉบับที่ พล.ต.อ.ยุทธนา ไทยภักดี สว.สายอื่นๆ และคณะเป็นผู้นำเสนอ เนื่องจากได้หารือร่วมกัน และมีข้อสรุปเมื่อวันที่ 1 ส.ค.ที่ผ่านมาว่าจะเสนอให้มีกมธ. จำนวน 21 คณะ และมีกมธ.วิสามัญ 1 คณะว่าด้วยการเทิดทูนและพิทักษ์สถาบัน อย่างไรก็ดีก่อนหน้านี้ที่เคยนำเสนอร่างแก้ไขให้มีกมธ.จำนวน 23 คณะ และกมธ.วิสามัญ 3 คณะนั้น จากที่ได้หารือร่วมกันแล้วเห็นว่าควรปรับปรุง โดยรวมกมธ.บางคณะเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อให้มีจำนวนคณะกมธ.ที่เหมาะสม ที่สำคัญคือเก้าอี้ประธานกมธ.ฯ ซึ่งมีบทบาทในการตรวจสอบประเด็นต่างๆ

การแบ่งสรรปันส่วนของ สว.แต่ละกลุ่มจะเป็นอย่างไร โดยเฉพาะ “สายสีน้ำเงิน”ที่มีเสียงมากในสภาสูง จะกำหนดแนวทางอย่างไร โดยเฉพาะตำแหน่งประธานกมธ.คณะสำคัญอย่างเช่น คณะกมธ.การเกษตรและสหกรณ์ คณะกมธ.การคมนาคม คณะกมธ.การเศรษฐกิจการเงินการคลังและรัฐวิสาหกิจ คณะกมธ.การต่างประเทศ. คณะกมธ.การทหารและความมั่นคงของรัฐ คณะกมธ.รการปกครองท้องถิ่น คณะกมธ.การการบริหารราชการแผ่นดิน คณะกมธ.กรรมาธิการการพลังงาน จะส่งสว.ในสายยึดครองไว้ทั้งหมดหรือไม่ ถ้าดำเนินการเช่นนั้น จะถูกต่อต้านจากสว.สายอื่น หรือมีปฎิกริยาอย่าง คงต้องรอติดตามดูบทสรุปที่เกิดขึ้น ถือเป็นช่วงโค้งสุดท้าย ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญ(รธน.) จะอ่านคำวินิจฉัยในคดียุบพรรคก้าวไกล (ก.ก. )วันที่ 7 ก.ย. ที่ผ่านมาแกนนำพรรคสีส้ม ได้แถลงชี้แจงถึงรายละเอียดของคดีอย่างต่อเนื่อง แม้จะถูกศาลรธน. ส่งสัญญาณเตือนในประเด็นการแสดงความคิดเห็น อาจถูกมองว่าเป็นการชี้นำกดดันศาล

แต่ที่น่าสนใจคือ การออกมาเปิดเผยของ”นายชัยธวัช ตุลาธน“ หัวหน้าพรรคก.ก. ที่ออกมาให้สัมภาษณ์กรณีมีกระแสข่าวสส.พรรค ก.ก. จะย้ายสังกัดไปอยู่กับพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ว่า ตนคิดว่าเรื่องนี้พูดกันได้ แต่เรื่องยังไม่เกิด และที่ผ่านมาต้องเรียนตามตรง มีความพยายามจากหลายพรรคการเมืองฝั่งรัฐบาลที่จะติดต่อกับสมาชิกของพรรคเยอะมาก เพื่อหวังจะดึงสส.ก.ก. หรือที่เรียกว่า ซื้องูเห่า และจนถึงวันนี้ก็ยังมีความมั่นใจในสส.ของพรรค ก.ก. จะเคารพกับความไว้วางใจที่ประชาชนมอบให้ แต่ก่อนหน้านี้มีแกนนำพรรคพปชร. ออกมาระบุ พรรคมีสส.อยู่ในสังกัดประมาณ 50 คน ทั้งที่ตัวเลขอย่างเป็นทางการของพรรคร่วมรัฐบาล มีสส.อยู่ 40 คน

คำถามคือจำนวนที่เพิ่มมาจากไหน เพราะถ้าพรรคก.ก. มีอันเป็นไป และกรรมการบริหารพรรค(กก.บห.) ถูกตัดสิทธิ จำนวนสส.จะลดลง อำนาจต่อรองจะเปลี่ยนทันที ดังนั้นอาจมีสส.อยากย้ายพรรคไปอยู่บ้านหลังใหม่ที่มีสถานะเป็นพรรคร่วมรัฐบาล แม้จะเสี่ยงกับการสอบตก แต่ด้วยอายุของสภาฯที่ยังเหลืออีก 3 ปี สถานการณ์ต่างๆอาจจะเปลี่ยนไปก็ได้ ที่สำคัญ พรรคที่จะมาสืบสานอุดมการณ์จากก.ก. หากยังมีนโยบายที่อ่อนไหว ย่อมสุ่มเสี่ยงกับการเผชิญวิบากกรรม เพราะไม่เป็นที่พอใจของผู้มากบารมี ดังนั้นการไปต่อกับพรรคการเมืองอื่น ซึ่งไม่ถูกจับจ้องจากผู้มีอำนาจ จะเป็นทางเลือกที่ดีกว่าไหม ไม่ต้องลุ้นว่าอนาคตทางการเมืองจะเกิดความเสี่ยงอย่างไร

ส่วนท่าที ”นายสรวงศ์ เทียนทอง”เลขาธิการพรรคพท. ให้ความเห็นกรณีพรรค ก.ก. ออกมาระบุว่ามีความพยายามจากพรรคร่วมรัฐบาลติดต่อดึง สส.พรรค ก.ก.ไปร่วมงานด้วย หากพรรคถูกยุบ ว่า ไม่ขอก้าวล่วงพรรคอื่น ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของแต่ละคน แต่ในส่วนของพรรค พท. ในฐานะเลขาธิการพรรคยืนยันว่าไม่มี เมื่อถามว่า จะมีผลอะไรกับรัฐบาลหรือไม่ นายสรวงศ์ กล่าวว่า ไม่น่ามีอะไร หากพรรคร่วมรัฐบาลมีเสียงเพิ่มขึ้นก็ต้องว่าไปตามข้อตกลง ที่เคยพูดคุยกันตอนร่วมตั้งรัฐบาล นั่นหมายความว่า แม้พรรคร่วมรัฐบาลจะมีเสียงสส. เพิ่มขึ้น ก็ไม่มีผลต่อโควต้ารัฐมนตรี เพราะพรรคแกนนำรัฐบาลยึดถือ ข้อตกลงตั้งแต่ร่วมจัดตั้งรัฐบาล เท่ากับเป็นการตัดไฟตั้งแต่ต้นลม หากจะมีเพื่อนร่วมงานมาร้องขอตำแหน่ง ก็ไม่มีผลใดใดทั้งสิ้น

ส่วนอีกปมร้อนที่ยังต้องติดตาม หลัง”คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน(กสม.)” แถลงผลสอบกรณีการรักษาตัวของ”นายทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี ที่โรงพยาบาลตำรวจ 181 วัน โดยระบุว่า การที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครและโรงพยาบาลตำรวจ กำหนดให้นายทักษิณพักรักษาตัวที่ห้องพิเศษของโรงพยาบาลตำรวจอย่างต่อเนื่อง โดยเรือนจำไม่ได้โต้แย้ง จนกระทั่งนายทักษิณออกจากโรงพยาบาล เป็นการดำเนินการโดยอาศัยช่องว่างของกฎกระทรวงการส่งตัวผู้ต้องขัง ไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ.2563 ทำให้นายทักษิณได้รับประโยชน์ นอกเหนือกว่าสิทธิที่ควรได้รับ ถือเป็นการกระทำที่ขัดต่อหลักความเสมอภาคและเป็นการเลือกปฏิบัติ อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

นอกจากนี้ กสม.มีความเห็น   การกระทำของเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร โรงพยาบาลตำรวจ และผู้ที่เกี่ยวข้องยังเข้าข่ายเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่บุคคล อันอาจเป็นการกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ซึ่งอยู่ในหน้าที่และอำนาจตรวจสอบของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยได้ทราบว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช.รับเรื่องในประเด็นนี้ไว้แล้ว ดังนั้น เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการ กสม.จึงมีมติให้ส่งรายงานผลการตรวจสอบฉบับนี้ให้ป.ป.ช.พิจารณาดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจต่อไป.

จากนี้คงต้องไปไล่ติดตาม กระบวนการตรวจสอบของป.ป.ช. ก่อนหน้านี้ ที่มีหลายภาคส่วนไปยื่นเรื่องให้ตรวจสอบ มีความคืบหน้าไปถึงไหน แม้”กรมราชทัณฑ์” จะออกมายืนยันกรณีที่อนุมัติให้อดีตนายกฯได้นอนรักษาตัวภายนอกเรือนจำ ตามระยะเวลาดังกล่าว มาจากการใช้ความเห็นแพทย์ในการพิจารณา ส่วนโรงพยาบาลตำรวจ ชี้แจงว่าการรักษาผู้ป่วยทุกคนอย่างเท่าเทียม ไม่มีการเลือกปฏิบัติ ซึ่งโรงพยาบาลมีหน้าที่ดูแลรักษาผู้ป่วย แต่ในการควบคุมดูแลเป็นหน้าที่ของกรมราชทัณฑ์ โดยที่ผ่านมา กสม.และป.ป.ช. ได้ขอเอกสารรายละเอียดการรักษานายทักษิณ ซึ่งโรงพยาบาลตำรวจ ก็ได้นำส่งเอกสารดังกล่าวให้ กสม.เรียบร้อยแล้ว ซึ่งไม่ได้มีความวิตกกังวลอะไร เพราะรักษาผู้ป่วยทุกคนอย่างเท่าเทียม

ด้าน ”นายนิวัติไชย เกษมมงคล“ เลขาธิการป.ป.ช.กล่าวถึงกรณีพิจารณาเรื่องที่มีผู้ร้องเรียนผู้เกี่ยวข้องขบวนการเอื้อประโยชน์นายทักษิณ ชินวัตร เข้าพักรักษาตัวที่ ห้องพิเศษชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ ว่า เรื่องนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อเท็จจริงรวบรวมพยานหลักฐานของคณะทำงานไต่สวนที่ทำหน้าที่ในการตรวจสอบข้อเท็จจริงและทบทวนพยานหลักฐาน ซึ่งรายงานของกสม. ที่ส่งมาให้ป.ป.ช.เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ก็จะถูกนำมาพิจารณาประกอบด้วยเช่นกัน ส่วนจะใช้ระยะเวลาในการพิจารณาเรื่องนี้นานแค่ไหนนั้น ยังไม่สามารถตอบได้ เพราะเป็นอำนาจของคณะทำงานฯ ยืนยันว่าเราไม่ได้มีการถ่วงเวลาทุกอย่างอยู่ที่ข้อเท็จจริงพยานหลักฐานต่างๆ คงต้อง รอดูกระบวนการรักษาอาการป่วยของ”นายทักษิณ ชินวัตร” จะกลายเป็นฉนวนเหตุให้หน่วยงานภาครัฐต้องถูกรับโทษ หรือเผชิญวิบากกรรมตามมาหรือไม่

“ทีมข่าวการเมือง”