เมื่อวันที่ 5 ส.ค. นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในช่วงนี้หลายพื้นที่มีฝนตกหนักต่อเนื่อง เกิดน้ำท่วมฉับพลันน้ำป่าไหลหลาก โดยมักพบโรคที่มากับน้ำท่วม 4 กลุ่มที่ต้องเฝ้าระวังดังนี้ 1. โรคระบบทางเดินหายใจ เช่น ไข้หวัดใหญ่ ปอดบวม 2. โรคติดต่อทางอาหารและน้ำ เช่นอาหารเป็นพิษ อุจจาระร่วง 3. โรคติดเชื้อ เช่น ไข้ฉี่หนู น้ำกัดเท้า  ตาแดง และ 4. โรคติดต่อนำโดยแมลง ได้แก่ ไข้เลือดออก ส่วนภัยสุขภาพที่ต้องระวัง คือ แมลงหรือสัตว์มีพิษกัดต่อย ไฟฟ้าดูดไฟฟ้าช็อต และการจมน้ำ

วิธีป้องกันคือ 1. ไม่ทิ้งขยะ หรือขับถ่ายของเสียลงแหล่งน้ำ ให้ทิ้งขยะหรือสิ่งปฏิกูลลงในถุงพลาสติกและมัดปากถุงให้แน่นแล้วเก็บไว้ในที่แห้ง 2. อย่าปล่อยให้เด็กลงเล่นน้ำโดยลำพัง เสี่ยงจมน้ำและรับเชื้อโรคจากน้ำที่มีสิ่งสกปรก ทำให้ป่วยโรคตาแดง หรือถูกสัตว์มีพิษที่หนีน้ำกัด ต่อย 3. ล้างมือ ล้างเท้าด้วยน้ำและสบู่บ่อย ๆ อาบน้ำทันทีหลังเสร็จจากการทำงานหรือลุยน้ำ 4. รับประทานอาหารปรุงสุก ร้อน สะอาด ป้องกันโรคอาหารเป็นพิษและอุจจาระร่วง หลีกเลี่ยงการกินอาหารค้างคืนโดยไม่มีภาชนะปิด เพราะอาจติดเชื้อโรคจากหนูและสัตว์นำโรคอื่น ๆ

5. หลีกเลี่ยงการเดินเท้าเปล่าลุยน้ำ หากจำเป็นต้องเดินลุยน้ำ ควรสวมรองเท้าบูทหรือนำถุงพลาสติกที่สะอาด มาสวมเพื่อป้องกันไม่ให้เท้าสัมผัสน้ำโดยตรง กรณีมีบาดแผล ควรปิดแผลด้วยพลาสเตอร์กันน้ำ 6. ป้องกันยุงกัด เช่น ทาโลชั่นกันยุง หรือนอนในมุ้ง 7. รักษาสุขอนามัยเบื้องต้น ล้างมือบ่อย ๆ หากอยู่ในที่แออัด หรือมีอาการป่วย เช่น ไอ จาม มีน้ำมูก ควรสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดโรคระบบทางเดินหายใจ 8. ทำความสะอาดบริเวณบ้านให้โล่ง และตรวจสอบบริเวณมุมอับของบ้าน เพื่อป้องกันสัตว์มีพิษ 9. หากถูกสัตว์มีพิษกัดให้จดจำลักษณะสัตว์ ล้างแผลด้วยน้ำสะอาด จำกัดบริเวณที่ถูกกัด ทั้งนี้ หากมีอาการไข้สูงเฉียบพลัน ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว ให้รีบไปพบแพทย์ทันที สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

ทางด้าน นพ.ขวัญชัย วิศิษฐานนท์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าว่า โรคที่มักมากับน้ำท่วมคือโรคผิวหนังและโรคน้ำกัดเท้า ซึ่งศาสตร์และภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยได้นำสมุนไพรในครัวเรือน 5 ชนิด มาใช้ในการรักษา ได้แก่ 1. ขมิ้นชัน แก้คัน ยับยั้งเชื้อโรคและเชื้อรา วิธีรักษาน้ำกัดเท้าด้วยขมิ้นชันให้นำแง่งขมิ้นชันมาฝนกับน้ำ หรือตำกับน้ำแล้วนำ มาชโลมแผลน้ำกัดเท้าก็ได้

2.ข่าแก่ รักษาโรคผิวหนังติดเชื้อแบคทีเรียและเชื้อรารักษากลาก เกลื้อน และแก้ลมพิษ ทั้งนี้การใช้ข่ารักษาโรคผิวหนังจะใช้เหง้าข่าแก่เท่าหัวแม่มือตำให้ละเอียด ผสมเหล้าโรงจนเข้ากันแล้วนำมาทาแผลน้ำกัดเท้าหลาย ๆ ครั้งจนกว่าอาการจะทุเลาลง

3.ใบพลู มีน้ำมันหอมระเหย Betel oil สรรพคุณยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย เชื้อราบนผิวหนัง วิธีการคือนำใบพลูมาล้างสะอาด ตำผสมกับเหล้าขาว หรือแอลกอฮอล์ ใช้ทาแก้อาการคัน ลมพิษ หรือคั้นน้ำใบพลู ทารักษาโรคกลาก เกลื้อน ฝี หนอง สิว และแผลอักเสบต่างๆ

4. เปลือกมังคุดแห้ง มีสารแทนนินมาก มีฤทธิ์ต้านการอักเสบและมีฤทธิ์ช่วยรักษาแผลน้ำกัดเท้าได้ นำเปลือกมังคุดแห้งมาฝนกับน้ำหรือน้ำปูนใสให้ข้นพอควร แล้วทาแผลน้ำกัดเท้า วันละ 2-3 ครั้ง

5. ทองพันชั่ง มีสาร Diospyrol มีฤทธิ์รักษาเชื้อรา รักษากลาก เกลื้อน และต้านอาการผิวหนังอักเสบ โดยใช้ใบทองพันชั่งประมาณ 1 กำมือตำให้ละเอียด แล้วนำมาพอกหรือทาบริเวณที่เป็นวันละ 3-4 ครั้ง ติดต่อกันทุกวัน จนกว่าแผลจะหาย

ปัจจุบัน มียาแผนไทยในบัญชียาหลักแห่งชาติ ที่รักษากลุ่มอาการทางระบบผิวหนังที่มักพบได้บ่อยช่วงฤดูฝนได้แก่ ยาทิงเจอร์ทองพันชั่ง ทาแก้ กลาก เกลื้อน โรคผิวหนังที่เกิดจากเชื้อรา น้ำกัดเท้า ยาทิงเจอร์พลู บรรเทาอาการผิวหนังอักเสบ อาการอักเสบจากแมลง กัด ต่อย ยาเปลือกมังคุด ทาแผลสด และ แผลเรื้อรัง ยาขี้ผึ้งพญายอ บรรเทาอาการอักเสบ ปวด บวม จากแมลง กัด ต่อย ทั้งนี้ เพื่อความปลอดภัยในการใช้ยา ควรปฏิบัติตามคำแนะนำ และวิธีการใช้ยา ตามฉลากกำกับยาอย่างเคร่งครัด.