ศ.นพ.วีรศักดิ์ จรัสชัยศรี อาจารย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ได้พูดถึงเรื่องนี้ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว หมอหมู วีระศักดิ์ ซึ่งเปิดผลการศึกษาพบว่า “ไมโครพลาสติกเพิ่มความเสี่ยงหัวใจวาย และโรคหลอดเลือดสมองจริงหรือไม่”

โดยหมอหมูระบุข้อความว่า “ไมโครพลาสติก (Microplastics) คือ อนุภาคพลาสติกที่มีขนาดเล็กกว่า 5 มิลลิเมตร โดยไมโครพลาสติกเกิดจากการย่อยสลายหรือแตกหักของขยะพลาสติกขนาดใหญ่ หรือถูกผลิตขึ้นมาให้มีขนาดเล็กเพื่อการใช้งานเฉพาะ เช่น เม็ดสครับในผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวหน้า ซึ่งไมโครพลาสติกสามารถปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมได้ง่ายและย่อยสลายได้ยาก เมื่อเข้าสู่ระบบนิเวศทางทะเลหรือแหล่งน้ำ ไมโครพลาสติกสามารถสะสมในห่วงโซ่อาหารและอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของสิ่งมีชีวิต รวมถึงมนุษย์”

นอกจากนี้ หมอหมูระบุข้อความอีกว่า “การศึกษาใหม่วิเคราะห์ผลกระทบของพลาสติกต่อสุขภาพหัวใจ โดยแสดงให้เห็นว่ามีความเสี่ยงต่อการเกิดอาการหัวใจวาย หรือโรคหลอดเลือดสมองเพิ่มขึ้น ผลการวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร New England Journal of Medicine”

โดยเมื่อเดือนมีนาคม ปี 2024 ได้แสดงให้เห็นว่าไมโครพลาสติกและนาโนพลาสติกที่มีขนาดเล็กกว่าส่งผลต่อหัวใจอย่างไร พบว่ามีดังนี้

  1. อนุภาคพลาสติกขนาดเล็ก ส่วนใหญ่เป็นอนุภาคขนาดนาโนที่มองไม่เห็น สามารถพบได้ในคราบพลัคหลอดเลือดแดง (Artery plaque) ของมนุษย์
  2. จากการวิเคราะห์ผู้เข้าร่วมวิจัยจำนวน 257 ราย ที่ต้องเข้ารับการผ่าตัดแก้ไขหลอดเลือดหัวใจอุดตัน พบว่ามีการสะสมของนาโนพลาสติกในคราบพลัคหลอดเลือดแดง 150 ราย และไม่พบการสะสมของนาโนพลาสติกในคราบพลัคหลอดเลือดแดง 107 ราย
  3. ผู้ป่วยได้รับการติดตามอาการเป็นเวลา 3 ปี โดยผลการติดตามอาการพบว่า กลุ่มผู้ป่วยที่มีพลาสติกในคราบพลัคหลอดเลือดแดง ร้อยละ 20 มีอาการโรคหัวใจวาย หรือโรคหลอดเลือดสมอง เทียบกับกลุ่มที่ไม่มีพลาสติกในคราบพลัคหลอดเลือดแดง ซึ่งมีอาการโรคหัวใจวาย หรือโรคหลอดเลือดสมอง เพียงร้อยละ 8
  4. นักวิจัยยังพบว่าหลอดเลือดของผู้ที่มีพลาสติกจะอักเสบมากกว่าผู้ที่ไม่มีพลาสติก ดังนั้นจึงอาจทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจวาย โรคหลอดเลือดสมอง และเสียชีวิตได้มากขึ้น

ทั้งนี้ จากผลการวิจัยดังกล่าว ในความเห็นส่วนตัวคิดว่า งานวิจัยนี้ถือเป็นการเตือนสติว่าบางทีเราอาจต้องให้ความสำคัญกับปัญหาไมโครพลาสติกมากขึ้น ในฐานะสาเหตุของโรคหลอดเลือดหัวใจและสมอง ซึ่งต้องได้รับการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมให้มากยิ่งขึ้น เพื่อสุขภาพที่ดีของประชน

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลทั้งหมดที่หมอหมูนำเสนอมีการอ้างอิงแหล่งที่มาชัดเจน และได้พยายามอ้างอิงจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ แต่บางครั้งอาจมีการโต้แย้งในข้อมูล ซึ่งเป็นเรื่องปกติในแวดวงวิชาการ ดังนั้นจึงขอเรียนทุกท่านว่า โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่านบทความของหมอหมู และควรหาข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อความถูกต้องอีกครั้ง

ขอบคุณข้อมูล : หมอหมู วีระศักดิ์