โรคใบด่างมันสำปะหลังที่เกิดจากเชื้อไวรัส วงศ์ (Family) Geminiviridae สกุล (Genus) Begomovirus ซึ่งมีชนิดของสารพันธุกรรมเป็นแบบดีเอ็นเอสายเดี่ยวขดเป็นวง มีจำนวน 2 โมเลกุล (Bipartite genomes) เรียกว่า DNA-A และ DNA-B เชื้อสาเหตุโรคใบด่างมันส าปะหลัง  ปัจจุบันมีรายงานทั้งหมด 10 ชนิด ในทวีปแอฟริกาพบ 8 ชนิด ทวีปเอเชียพบ 2 ชนิด ได้แก่ Indian cassava mosaic virus (ICMV) พบในประเทศอินเดีย และ Sri Lankan cassava mosaic virus (SLCMV) พบในประเทศศรีลังกา

สำหรับโรคใบด่างมันสำปะหลังที่ระบาดคือ Sri Lankan cassava mosaic virus (SLCMV)   เป็นโรคที่มีความสำคัญทำให้ผลผลิตเสียหาย 80-100 เปอร์เซ็นต์ เกษตรกรไม่สามารถเก็บผลผลิตได้  และสามารถเข้าทำลายมันสำปะหลังได้ทุกระยะการเจริญเติบโต  โดยเชื้อไวรัสสาเหตุโรคใบด่างสามารถติดมากับท่อนพันธุ์และมีแมลงหวี่ขาวยาสูบ เป็นแมลงพาหะจึงทำให้มีความเสี่ยงที่เชื้อไวรัสนี้จะแพร่ระบาดทำความเสียหายให้กับผลผลิตของเกษตรกรและอาจส่งผลถึงเศรษฐกิจของประเทศ

ลักษณะอาการของโรค  มันสำปะหลังมีลักษณะอาการใบด่างเหลือง ต้นแคระแกร็น ใบเสียรูปทรง ลดรูป ยอดที่แตกใหม่แสดงอาการด่างเหลือง  หากใช้ท่อนพันธุ์ที่ติดเชื้อไวรัสมาปลูกจะทำให้เกิดอาการใบด่างเหลืองทั้งต้น  ถ้ามันสำปะหลังได้รับการถ่ายทอดโรคจากแมลงหวี่ขาวยาสูบที่มีเชื้อไวรัส จะแสดงอาการใบด่างเหลืองชัดเจนที่ส่วนยอด ความรุนแรงของโรคขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ของไวรัส และพันธุ์พืช

แนวทางในการป้องกันกำจัดโรคใบด่างให้เลือกท่อนพันธุ์ที่สะอาดและทนทานโรคใบด่างมันสำปะหลัง ได้แก่ พันธุ์ระยอง 72 เกษตรศาสตร์ 50 ห้วยบง 60 และไม่ควรปลูกพันธุ์อ่อนแอต่อโรคใบด่างมันสำปะหลัง ได้แก่ระยอง 11 และ CMR 43-08-89  เกษตรกรควรหมั่นสำรวจแปลงปลูกมันสำปะหลังทุก 2 สัปดาห์ หากพบต้นที่แสดงอาการต้องสงสัยให้ดำเนินการถอนทำลายต้นที่ต้องสงสัยและต้นข้างเคียงในพื้นที่ 4×4 เมตร (ไม่เกินจำนวน 16 ต้น) โดยวิธีฝังกลบในหลุมลึกไม่น้อยกว่า 2-3 เมตรทำการกลบด้วยดินหนาไม่น้อยกว่า 0.5 เมตร และพ่นสารฆ่าแมลงเพื่อกำจัดแมลงหวี่ขาวยาสูบ ด้วยสารเคมี อิมิดาโคลพริด 70% WG อัตรา 12 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ไดโนทีฟูแรน 10% SL อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ไทอะมีโทแซม 25% WG อัตรา 12 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ในแปลงที่พบอาการต้องสงสัยและแปลงใกล้เคียง เพื่อป้องกันกำจัดแมลงหวี่ขาวยาสูบซึ่งเป็นแมลงพาหะนำโรคที่สำคัญ  เกษตรกรควรเฝ้าระวังการระบาดของโรคด้วยการสำรวจพื้นที่ปลูกอย่างสม่ำเสมอ