นายวิวัฒน์ ผลประเสริฐ รองผอ.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) พิจิตร เขต 2 กล่าวว่า ระหว่างวันที่ 3-4 ส.ค. 2567 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา จัดโครงการพัฒนาครูต้นแบบในเขตภาคกลาง เพื่อพลิกโฉมคุณภาพการศึกษาโดยพัฒนาครูให้มีศักยภาพสอดคล้องกับศตวรรษที่ 21 ในการพัฒนากระบวนการเรียนรู้ด้วยกระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบไปสู่การสร้างผู้เรียนให้เป็นนวัตกร อันเป็นกิจกรรมสำคัญของการอบรมครูตามโครงการพัฒนานวัตกรรม เพื่อยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษาด้วยรูปแบบ Active Learning สำหรับครูและบุคลากรทางการศึกษา สังกัดสพฐ. (1 อําเภอ 1 โรงเรียนคุณภาพ) ระดับประถมศึกษา โดยแบ่งสถานที่อบรมเป็น 3 จุด ได้แก่ สพป.พิจิตร เขต 1 โรงเรียนอนุบาลบางมูลนาก “ราษฎร์อุทิศ” สพป.พิจิตร เขต 2 และ สพป.นครสวรรค์ เขต 2 โดยมีครูเข้ารับการอบรมรวมทั้งสิ้น 468 คน เพื่อสร้างต้นแบบในพื้นที่ภาคกลาง 7 จังหวัด ได้แก่ นครสวรรค์ พิจิตร อุทัยธานี ลพบุรี อ่างทอง สระบุรี และพระนครศรีอยุธยา

นายวิวัฒน์ กล่าวต่อไปว่า การจัดอบรมครั้งนี้จะช่วยให้โรงเรียนคุณภาพสามารถนำวิธีการจัดการเรียนการสอนแบบ Active Learning ไปใช้กับเด็ก เชื่อว่าจะส่งผลให้นักเรียนสามารถสร้างนวัตกรรมได้ด้วยตนเอง สามารถนำไปเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้นได้ และเชื่อด้วยว่าผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน และการทดสอบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการทดสอบความสามารถพื้นฐานของผู้เรียนระดับชาติ (National Test : NT)  การทดสอบเพื่อประเมินความสามารถในการอ่าน (Reading Test : RT) และการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-net) ของโรงเรียนจะสูงขึ้นด้วย เพราะครูจะสามารถนำการเรียนรู้แบบ Active Learning ที่ได้จากการอบรมไปบูรณาการได้กับทุกกลุ่มสาระ ทำให้นักเรียนลดเวลาในการเรียนรู้ และส่งเสริมให้ครูมีกระบวนการเรียนการสอนที่หลากหลาย ซึ่งผลสุดท้ายก็จะลงที่ตัวเด็ก เพราะการเรียนรู้แบบ Active Learning เป็นการเรียนรู้ที่กระตุ้นความคิดของเด็กเป็นหลักและเป็นการเรียนรู้ที่เปิดให้เด็กมีอิสระในการลงมือกระทำด้วยตนเอง เพราะฉะนั้นถ้าเด็กสามารถเรียนรู้จากการกระทำของตนเองก็จะทำให้มีความสุขในการเรียนได้ และยังเป็นการกระตุ้นให้เกิดความอยากที่จะเรียนรู้ ซึ่งเป็นการฝึกความคิดของสมองในการทำงานร่วมกับร่างกายของเด็กได้เป็นอย่างดี ส่งผลให้เด็กมีความสุขที่จะได้เรียนรู้ในสิ่งใหม่ และเป็นการเรียนรู้ที่จะสามารถสร้างองค์ความรู้ได้ด้วยตนเองซึ่งจะติดตัวเด็กไปตลอด

นายวิวัฒน์ กล่าวอีกว่า ตรงข้ามกับการเรียนรู้ที่บังคับให้เด็กเรียน เช่น บังคับให้จำ บังคับให้สอบ ซึ่งจะส่งผลให้ทัศนคติในการเรียนรู้ของเด็กไม่ชอบในการเรียนรู้ต่อไป แต่ถ้าให้อิสระเด็กได้เรียนรู้ในสิ่งที่ต้องการหรือสิ่งที่ชอบ และให้เด็กได้ฝึกคิดฝึกปฏิบัติเป็นกระบวนการคิด กระบวนการทำงานอย่างต่อเนื่อง ก็จะฝึกให้เด็กมีองค์ความรู้สามารถสร้างองค์ความรู้ได้ด้วยตนเองและเป็นองค์ความรู้ที่จะติดตัวเด็กไปตลอด ซึ่งจะสามารถต่อยอดจนเป็นนวัตกรรมในอนาคตได้

ดร.บุญครอง กูลดี รอง.ผอ.สพป.พิจิตร เขต 1 กล่าวว่า ความสำคัญของการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ คือ เพื่อให้ผู้บริหาร ครู และนักเรียนได้ตระหนักถึงความสำคัญในการจัดการเรียนรู้ ซึ่งจะมีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาให้ผู้เรียนเป็นนวัตกรที่จะนำไปสู่การเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจสร้างสรรค์ Soft Power ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาในการเปลี่ยนรูปแบบวิธีการจัดการเรียนการสอน ถ้าเป็นครูรุ่นเก่าอาจจะมีปัญหาในเรื่องของการใช้เทคโนโลยี แต่คิดว่าปัจจุบันครูของเราเป็นคนรุ่นใหม่ซึ่งสามารถใช้เทคโนโลยีเป็นสื่อในการจัดการเรียนการสอนได้ดี ขณะเดียวกันตัวเด็กเองก็ต้องปรับตัวเพื่อรองรับกับการเรียนการสอนด้วย Active Learning ซึ่งทางสำนักงานเขตพื้นที่ฯก็ได้มีนโยบายให้โรงเรียนสร้างความตระหนักและมีความจริงจังในการขับเคลื่อนการจัดการการศึกษาของไปสู่เป้าหมาย ดังนั้น การจัดอบรมนี้ถือว่าตอบโจทย์ได้เป็นอย่างดี เพราะการใช้ Active Learning ในการจัดกระบวนการเรียนรู้จะทำให้เด็กได้ลงมือปฏิบัติ และนำไปสู่ทักษะที่จะใช้ในชีวิตจริง งานการเรียนการสอนเด็กจะสามารถหาองค์ความรู้ได้อย่างหลากหลายด้วย

ด้าน นายสายัณห์ สีคง รองผอ.สพป.นครสวรรค์ เขต 2 กล่าวว่า กระบวนการเรียนรู้แบบ Active Learning ด้วยเทคนิค GPAS 5 Steps จะทำให้นักเรียนได้ลงมือปฏิบัติด้วยตัวเอง และสามารถนำความรู้ไปใช้ทำประโยชน์ได้ ซึ่งจะทำให้การศึกษามีความแข็งแกร่ง เกิดประโยชน์กับสังคมและประเทศชาติในอนาคต อย่างไรก็ตามคิดว่าโครงการอบรมลักษณะนี้ถ้าจะให้เกิดความยั่งยืนก็สมควรจะทำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะถ้าทำให้ครบทุกระดับการศึกษาก็จะมีประโยชน์อย่างมาก เพราะโลกทุกวันนี้ความรู้เปลี่ยน วิธีการเปลี่ยน ครูก็ต้องได้รับความรู้ที่ทันกับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลง จะได้สามารถนำความรู้ไปพัฒนาเด็กเพื่อพัฒนาการศึกษาต่อไป