กรณีชายชาวญี่ปุ่น อายุ 36 ปี เข้าแจ้งความกับพนักงานสอบสวน สน.ทองหล่อ ว่า ถูกนายอุทัย (สงวนนามสกุล) หรือ “เอมี่” หลอกลงทุน โดยผู้เสียหายรู้จักกับนายเอมี่ ครั้งแรก เมื่อ 12 ม.ค. นายเอมี่ หลอกว่ามาจากฮ่องกง มาขอเงินผู้เสียหายเพื่อเข้าพักโรงแรม จากนั้นได้ทำความรู้จักกัน นายเอมี่ นัดเจอผู้เสียหายหลายครั้ง หลอกผู้เสียหายไปรูดบัตรเครดิตซื้อทอง แล้วนำไปเปลี่ยนเป็นเงินสดจนสูญเงินกว่า 15 ล้านบาทนั้น
เกี่ยวกับเรื่องนี้เมื่อวันที่ 3 ส.ค. พล.ต.ท.ธิติ แสงสว่าง ผบช.น. สั่งการ พล.ต.ต.นพศิลป์ พูลสวัสดิ์ รอง ผบช.น. พล.ต.ต.ธีรเดช ธรรมสุธีร์ ผบก.สส.บชน. พล.ต.ต.วิทวัฒน์ ชินคำ ผบก.น.5 พ.ต.อ.พันษา อมราพิทักษ์ ผกก.สน.ทองหล่อ พร้อมด้วย พ.ต.อ.อรรชวศิษฏ์ ศรีบุณยชมานนท์ ผกก.3 บก.สส.บช.น. พร้อมชุดสืบสวนติดตามเร่งรัดจับกุม กระทั่งสามารถติดตามจับกุมตัว นายอุทัย นันทะขันธ์ หรือ เอมี่ (สาวประเภทสอง) ผู้ต้องหาตามหมายจับศาล เลขที่ 1158/67 ข้อหา “ฉ้อโกง
สำหรับพฤติการณ์ของนายอุทัยเป็นบุคคลที่ชอบหลอกลวง โดยจะเลือกเหยื่อส่วนใหญ่เป็นชาวญี่ปุ่นหรือนักท่องเที่ยว ชักชวนผู้คุยกับผู้เสียหายว่าตนเองนั้นเดินทางมาจากประเทศฮ่องกง ได้รับความเดือดร้อนต้องการขอความช่วยเหลือทำกระเป๋าเงินหล่นหาย พร้อมกับเอกสารหนังสือเดินทางหายไปเช่นเดียวกันขณะที่นั่งรถมาจากพัทยา จนกระทั่งมาถึงกรุงเทพฯ จึงทำทีขอยืมเงินจากผู้เสียหายเพื่อให้จ่ายเงินในการออกค่าทำหนังสือเดินทางไปให้ก่อนและจะนำเงินมาคืนให้ภายหลัง ก่อนที่จะแลกเปลี่ยนเบอร์โทรศัพท์หรือช่องทางการติดต่อของผู้เสียหายไว้
ต่อมานายอุทัยยังคงมีการติดต่อผู้เสียหายอยู่บ่อยครั้ง พร้อมทั้งขอยืมเงินผู้เสียหายมาโดยตลอด ซึ่งมักจะอ้างเหตุผลต่าง ๆ นา ๆ อาทิ ต้องการนำเงินไปปิดประกันภัยโดยเร่งด่วน / ต้องการนำเงินไปเป็นค่ารักษาพยาบาลเนื่องจากติดเชื้อโควิด- 19 / ต้องนำเงินไปจ่ายค่าประกันภัยล่วงหน้า โดยใช้บทตีหน้าเศร้าเล่าความเท็จเรียกความสงสารเห็นใจ ทางผู้เสียหายจึงได้ตัดสินใจให้นายอุทัยยืมเงินไป
นอกจากนี้ยังอีกหลอกผู้เสียหายว่า ทำงานโปรเจคให้กับบริษัทยาชื่อดัง โปรเจกต์มีปัญหาต้องใช้เงิน ต้องการให้ผู้เสียหายช่วยเรื่องเงิน โดยจะโอนคืนผู้เสียหายภายหลัง สุดท้ายอ้างว่าบัญชีถูกล็อก โปรเจกต์ล่ม ผู้เสียหายทวงถามเงินคืนหลายครั้ง แต่ไม่ได้คืน ต่อมาผู้เสียหายตรวจสอบสื่อโซเชียลมีเดีย พบว่านายเอมี่ ก่อเหตุหลอกผู้เสียหายคนอื่น มากกว่า 10 ครั้ง จึงตัดสินใจเข้าแจ้งความกับตำรวจ
จากการตรวจสอบประวัติและพฤติการณ์นายเอมี่ ตั้งแต่ปี 2011-2024 พบว่ามีชาวญี่ปุ่นถูกหลอก ทั้งหมด 73 คน มูลค่าความเสียหาย เกือบ 26 ล้านบาท รายละเอียด ดังนี้
– ปี 2011 ผู้เสียหาย 25 ราย มูลค่าความเสียหาย 942,000 บาท
– ปี 2012 ผู้เสียหาย 9 ราย มูลค่าความเสียหาย 2,166,000 บาท
– ปี 2014 ผู้เสียหาย 16 ราย มูลค่าความเสียหาย 1,588,000 บาท
– ปี 2015 ผู้เสียหาย 2 ราย มูลค่าความเสียหาย 330,000 บาท
– ปี 2018 ผู้เสียหาย 8 ราย มูลค่าความเสียหาย 307,000 บาท
– ปี 2020 ผู้เสียหาย 6 ราย มูลค่าความเสียหาย 293,000 บาท
– ปี 2022 ผู้เสียหาย 3 ราย มูลค่าความเสียหาย 90,000 บาท
– ปี 2023 ผู้เสียหาย 1 ราย มูลค่าความเสียหาย 16,000,000 บาท
– ปี 2024 ผู้เสียหาย 3 ราย มูลค่าความเสียหาย 4,072,000