ถือเป็นช่วงโค้งสุดท้าย ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญ(รธน.) จะอ่านคำวินิจฉัยในคดียุบพรรคก้าวไกล (ก.ก. )วันที่ 7 ก.ย. ที่ผ่านมาแกนนำพรรคสีส้ม ได้แถลงชี้แจงถึงรายละเอียดของคดีอย่างต่อเนื่อง แม้จะถูกศาลรธน.เคยเตือนในประเด็นการแสดงความคิดเห็น เพราะถูกมองว่าเป็นการกดดันศาลรธน.โดยชี้ให้เห็นข้อต่อสู้ใน 9 ประเด็น ประกอบด้วย

1.ศาลรธน.ไม่มีอำนาจรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย
2.การยื่นคำร้องนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
3.คำวินิจฉัยศาลรธน.ที่3/2567 ไม่มีผลผูกพันในการพิจารณาวินิจฉัยคดีนี้
4.นอกจากการเสนอนโยบายแก้ไขกฎหมายประมวลกฎหมายอาญามาตรา112 แล้ว การกระทำอื่นตามคำร้อง มิได้เป็นการกระทำของพรรคก.ก.
5.การกระทำตามที่กรรมการการเลือกตั้ง( กกต.)กล่าวหา มิได้เป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเป็นการกระทำอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
6.ศาลรธน.ไม่ควรยุบพรรคก.ก.
7.แม้ศาลรธน.จะมีคำสั่งยุบพรรค ก็ไม่มีอำนาจกำหนดระยะเวลาการเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรค( กก.บห)
8.การกำหนดระยะเวลาเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ของกรรมการบริหารพรรคต้องพอสมควรแก่เหตุ
9.การเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ต้องเพิกถอนเฉพาะของกรรมการบริหารพรรคที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิด

อย่างไรก็ตามแม้แกนนำพรรคสีส้ม จะไม่ยอมเปิดเผยรายชื่อ พรรคการเมืองที่เตรียมไว้รองรับ หากพรรคเจอวิบากกรรม แต่ก็มีรายงานข่าวปรากฎชื่อ “พรรคถิ่นกาขาวชาววิไล” ตัวย่อ “ถกชว.” เดิมชื่อ “พรรคถิ่นกาขาว” ก่อตั้งเมื่อปี 2555 มี “นายตุลย์ ตินตะโมระ” เป็นหัวหน้าพรรค นายกฤติน นิธิเบญญากร เป็นเลขาธิการพรรค มีสมาชิกพรรคทั้งหมด 10,474 คน โดยมีสโลแกนในทำงานการเมืองคือ “ขอดูแล ปกป้อง รักษา พระพุทธศาสนา ให้มั่นคง ยั่งยืน” คงต้องรอดูว่า จะมีสส.พรรคก้าวไกล แตกแถวหรือไม่ เพราะก่อนหน้านี้มีแกนนำพรรคพลังประชารัฐ พรรคมีสส.อยู่ในสังกัดประมาณ 50 คน ทั้งที่ตัวเลขอย่างเป็นทางการ พรรคร่วมรัฐบาลมีสส.อยู่ 40 คนคำถามคือ จำนวนที่เพิ่มมาจากไหน รวมทั้งจะมีพรรคการเมืองอื่น หวังดึงสส. พรรคสีส้มไปร่วมงานด้วยหรือไม่ แม้จะมีบทเรียนสมัยพรรคอนาคตใหม่ ถูกยุบ และมีสส.ทำตัวเป็นงูเห่า ย้ายไปร่วมงานกับพรรคร่วมรัฐบาล แต่ในที่สุดพอถึงวันเลือกตั้ง ก็ถูกลงโทษเจอวิบากกรรม สอบตกหมด งานนี้จะมีใครกล้าเสี่ยงแหกโผหรือไม่

ขณะที่ “นายชัยธวัช ตุลาธน” สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล ออกมาเปิดเผยว่า มีความพยายามจากหลายพรรคการเมืองฝั่งรัฐบาล ที่จะติดต่อกับสมาชิกของพรรคก.ก.ล เยอะมาก เพื่อหวังจะดึงพรรคก้าวไกลไปร่วมงานด้วย นั่นหมายความว่า บางพรรคการเมืองก็ใช้ยุทธิวิธี ซ่อนดาบไว้หลังรอยยิ้ม ปากบอกว่าเห็นใจ แต่ลึก ๆ ก็หวังจะได้สส.ไปเพิ่มอำนาจต่อรองทางการเมือง ยังมีประเด็นที่หลายคนจับตามมอง การยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจของพรรคฝ่ายค้าน ที่มีพรรคก้าวไกล เป็นแกนนำ ในสมัยการประชุมสภาฯที่กำลังดำเนินการอยู่นี้ จะเกิดขึ้นหรือไม่ เพราะไล่ดูแกนนำพรรคฝ่ายค้านทั้งก้าวไกล และ ประชาธิปัตย์ ต่างก็มีปัญหาในตนเอง

ในส่วนของพรรคก้าวไกล คงต้องรอให้ผ่านคดียุบพรรควันที่ 7 ส.ค.ไปก่อน จากนั้นจะได้มากำหนดยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนถูก หากต้องถูกยุบพรรคจะเหลือสส. กี่คน ซึ่งก็คงกระทบกับขวัญและกำลังใจพอสมควร การเตรียมข้อมูล เพื่อนำมาใช้ในการเปิดศึกซักฟอก จะมีประสิทธิภาพมากแค่ไหน ซึ่งปกติพรรคฝ่ายค้านในยุคก่อนหน้านี้ จะไม่ปล่อยให้โอกาสทองต้องหลุดมือไป เพราะเป็นการเปิดแผลฝ่ายบริหาร ยิ่งถ้านำไปขยายผลต่ออาจทำให้รัฐบาลต้องมีอันเป็นไป แต่ฝ่ายค้านที่มีพรรคก.ก. เป็นแกนนำ กลับไม่ค่อยกระตือรือร้น ส่วนพรรคฝ่ายค้านมืออาชีพอย่าง “ปชป.” ที่มี “นายเฉลิมพันธ์ ศรีอ่อน” เป็นหัวหน้าพรรค และมี “นายเดชอิศม์ ขาวทอง” เป็นเลขาธิการพรรค ก็ยังไม่แสดงให้เห็นถึงการทำหน้าที่พรรคฝ่ายค้าน อย่างมีประสิทธิภาพและเข้มข้นเหมือนในอดีตที่ผ่านมา อีกทั้งเมื่อสัปดาห์ที่ผ่าน ยังมีข่าวพรรคปชป.ถูกทาบทามให้เข้าร่วมรัฐบาล เพื่อทดแทนเสียงของพรรคพปชร.

ในส่วนซีกสส.ของ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค หลังมีข่าวพรรคแกนนำรัฐบาล ไม่พอใจที่คนใกล้ชิด”บิ๊กป้อม” คือ “นายสามารถ เจนชัยจิตรวาณิช” ออกมาวิจารณ์ทำงานของ “นายเศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี เพราะ สส.พรรคปชป.ในส่วนที่นายเฉลิมชัย ดูแลอยู่มีอยู่ 21 คน แต่ล่าสุดหลัง “นายสามารถ” ออกมารับปากกับแกนนำพรรคพปชร. จะยุติการเคลื่อนไหว ที่มองว่าอาจเป็นการดิสเครดิตฝ่ายบริหาร นั่นหมายความว่า การปรับครม. คงยังไม่มีการดำเนินในเรื่องนี้ เท่ากับว่า แกนนำพรรคปชป.ที่ต้องการร่วมรัฐบาล ก็ต้องรอต่อไป หรือจะเป็นได้เพียงแค่ฝัน แต่ไม่มีทางเป็นจริง ซึ่งจะส่งผลต่อ การทำหน้าที่ตรวจสอบฝ่ายบริหารด้วย

เท่ากับว่ากระบวนการตรวจสอบในสภาฯมีปัญหา พรรคก้าวไกล ต้องต่อสู้กับคดีความ ที่เกิดจากการกระทำของตนเอง ส่วน”ปชป.” ก็ทำได้เพียงแค่แต่งตัวรอ หวังได้รับเชิญเข้าร่วมรัฐบาล เท่ากับประโยชน์จะตกอยู่กับรัฐบาล ผิดกับในอดีตที่ผ่าน เวลา “ปชป.” ทำหน้าที่พรรคฝ่ายค้าน เปิดอภิปรายไม่ไว้วงวางใจครั้งใด ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองทุกครั้ง คงต้องรอลุ้นในสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยนี้ จะได้เห็นกระบวนการตรวจสอบฝ่ายบริหารอย่างเข้มข้นหรือไม่

ขณะปมร้อนที่ยังต้องติดตาม หลัง “คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน(กสม.)” แถลงผลสอบกรณี การรักษาตัวของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่โรงพยาบาลตำรวจ 181 วัน โดยระบุว่า การที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครและโรงพยาบาลตำรวจ กำหนดให้นายทักษิณพักรักษาตัวที่ห้องพิเศษของโรงพยาบาลตำรวจอย่างต่อเนื่อง โดยเรือนจำไม่ได้โต้แย้งจนกระทั่งนายทักษิณออกจากโรงพยาบาล เป็นการดำเนินการโดยอาศัยช่องว่างของกฎกระทรวงการส่งตัวผู้ต้องขัง ไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ.2563 ทำให้นายทักษิณได้รับประโยชน์นอกเหนือกว่าสิทธิที่ควรได้รับ ถือเป็นการกระทำที่ขัดต่อหลักความเสมอภาคและเป็นการเลือกปฏิบัติ อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

นอกจากนี้ กสม.มีความเห็นการกระทำของเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร โรงพยาบาลตำรวจ และผู้ที่เกี่ยวข้องยังเข้าข่ายเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่บุคคล อันอาจเป็นการกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ซึ่งอยู่ในหน้าที่และอำนาจตรวจสอบของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยได้ทราบว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช.รับเรื่องในประเด็นนี้ไว้แล้ว ดังนั้น เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการ กสม.จึงมีมติให้ส่งรายงานผลการตรวจสอบฉบับนี้ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.พิจารณา ดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจต่อไป.

จากนี้คงต้องไปไล่ติดตาม กระบวนการตรวจสอบของป.ป.ช. ก่อนหน้านี้ ที่มีหลายภาคส่วนไปยื่นเรื่องให้ตรวจสอบมีความคืบหน้าไปถึงไหน แม้ทางกรมราชทัณฑ์ยืนยันกรณีที่อนุมัติให้อดีตนายกฯได้นอนรักษาตัวภายนอกเรือนจำตามระยะเวลาดังกล่าว มาจากการใช้ความเห็นแพทย์ในการพิจารณา ส่วนโรงพยาบาลตำรวจ ชี้แจงว่าการรักษาผู้ป่วยทุกคนอย่างเท่าเทียม ไม่มีการเลือกปฏิบัติ ซึ่งโรงพยาบาลมีหน้าที่ดูแลรักษาผู้ป่วย แต่ในการควบคุมดูแลเป็นหน้าที่ของกรมราชทัณฑ์ โดยที่ผ่านมา กสม.และป.ป.ช. ได้ขอเอกสารรายละเอียดการรักษานายทักษิณ ซึ่งโรงพยาบาล.ตำรวจ ก็ได้นำส่งเอกสารดังกล่าวให้ กสม.เรียบร้อยแล้ว ซึ่งไม่ได้มีความวิตกกังวลอะไรเพราะรักษาผู้ป่วยทุกคนอย่างเท่าเทียม รอดูกระบวนการรักษาอาการป่วยของ “นายทักษิณ ชินวัตร”