เมื่อวันที่ 3 ส.ค. นายอรรถกร ศิริลัทธยากร รมช.เกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ตลาดคลองด่าน ต.คลองด่าน อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ เพื่อพบปะเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและชาวประมง พร้อมมอบเครื่องมือประมงใช้จับปลาหมอคางดำ โดยได้พูดคุยกับเกษตรกรในพื้นที่ ว่า ได้มีการตรวจสอบไปหลายที่จากกรณีที่พี่น้องประชาชนบอกว่า มีขั้นตอนหลายอย่างในการที่จะเข้าร่วมโครงการกระทรวงเกษตรฯ ตั้งค่าหัวล่าปลาหมอคางดำ กก.ละ 15 บาท ซึ่งตนยืนยันว่า ไม่เป็นความจริง โดยกระทรวงเกษตรฯ ร่วมด้วยช่วยกันทั้ง 22 หน่วยงาน เราเปิดกว้างไม่ว่าคุณจะเป็นใครเป็นผู้ชายหรือเป็นผู้หญิง อายุเท่าไรก็ตาม ถ้าคุณมีความสามารถจับปลาหมอคางดำได้มากเท่าไร เรามีจุดรับซื้อทั่วประเทศ 73 จุด โดยไม่ต้องใช้เอกสาร ไม่ต้องผ่านกระบวนการมากมายอย่างที่เป็นข่าว

“ผมมาวันนี้เพื่อจะมาขอความร่วมมืออีกครั้ง และผมเชื่อว่าวันนี้จะไม่ใช่วันสุดท้าย ผมในฐานะตัวแทนของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ มาขอความร่วมมือกับพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะพี่น้องที่เป็นชาวประมงมาร่วมจับปลาหมอคางดำกับพวกเรา เพราะปัญหาปลาหมอคางดำเป็นปัญหาของพวกเราทุกคน ถ้าเรายังปล่อยให้มีการระบาด นั่นหมายความว่า เราจะส่งต่อมรดกที่เรียกว่าปลาหมอคางดำสู้รุ่นลูกรุ่นหลานของเราต่อไป” รมช.เกษตรฯ กล่าว

รมช.เกษตรฯ กล่าวต่อว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ยุคนี้ ไม่ว่าเป็นกรมประมง กรมส่งเสริมสหกรณ์ก็ดี กรมพัฒนาที่ดิน กรมการเกษตร การยาง หรือแม้กระทั่งหน่วยงานอื่นๆ เราทำงานร่วมกัน ในส่วนของกรมประมง จ.สมุทรปราการ ตนขอเรียนว่า ท่านทำงานด้วยตัวคนเดียวไม่ได้ ท่านต้องประสานกับหน่วยงานในพื้นที่ ต้องขอความร่วมมือจากผู้ว่าฯ และตนได้รับการยืนยันจากนายสุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม และ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม หากพื้นที่ใดมีการชุกชุมของปลาหมอคางดำ ท่านประสานเข้าไปขอกำลังเขาทหารเพื่อมาช่วยจับได้ ทั้งนี้ ตนเชื่อว่าอีก 1-2 เดือน เมื่อเรามาประเมินสถานการณ์การปลาหมอคางดำจะต้องดีขึ้น ถ้าพวกเราช่วยกันก็จะแก้ไขปัญหาได้เร็วยิ่งขึ้น 

รมช.เกษตรฯ กล่าวว่า ยอมรับตรงๆ ว่าวันแรกของโครงการก็คือ วันที่ 1 ส.ค. ที่ผ่านมา อาจจะยังมีความไม่เข้าใจ หรืออาจจะเกิดความบกพร่องในเรื่องของการสื่อสารไปยังพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะชาวประมงทำให้พี่น้องยังไม่มีความมั่นใจว่า จับมาแล้วจะเอาไปแลกเป็นเงินค่าหัวที่ ร.อ.ธรรมนัส ประกาศไว้ว่า กก.ละ 15 บาทได้หรือไม่ ซึ่งขอยืนยันว่า เรายินดี รับทุกกิโล เพื่อที่จะให้ทุกฝ่ายเข้ามาร่วมด้วยช่วยกันในการที่จะนำปลาหมอคางดำออกจากระบบให้มากที่สุด โดยไม่มีกระบวนการยุ่งยาก เราโดยเปิดจุดรับซื้อปลาหมอคางดําทั้งหมดแล้ว ตั้งแต่วันที่ 1-31 ส.ค. นี้ 

รมช.เกษตรฯ กล่าวว่า สําหรับจุดรับซื้อแต่ละจังหวัด มีดังนี้ จ.จันทบุรี มีจุดรับซื้อทั้งหมด 4 จุด จ.ระยอง 2 จุด จ.ฉะเชิงเทรา 3 จุด จ.สมุทรปราการ 6 จุด จ.นครปฐม 1 จุด จ.นนทบุรี 1 จุด จ.สมุทรสาคร 6 จุด จ.สมุทรสงคราม 3 จุด จ.ราชบุรี 1 จุด จ.เพชรบุรี 10 จุด จ.ประจวบคีรีขันธ์ 13 จุด จ.ชุมพร 14 จุด จ.สุราษฎร์ธานี 3 จุด จ.นครศรีธรรมราช 5 จุด และ จ.สงขลา 1 จุด รวมทั้งสิ้น 73 จุดรับซื้อ โดยผู้ขายรายย่อย (เกษตรกร ชาวประมง) ไม่มีหลักเกณฑ์กําหนดในการรับซื้อ สามารถนํามาขาย ณ จุดรับซื้อต่าง ๆ ได้ไม่จํากัดจํานวน แต่หากเกษตรที่มีการขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ (ทบ.1) จับจากบ่อตนเอง ให้แจ้งข้อมูล ทบ.1 กับเจ้าหน้าที่ ณ จุดรับซื้อ เพื่อเก็บเป็นฐานข้อมูลต่อไป

นายอรรถกร ยังกล่าวถึงงบประมาณที่จะนำไปใช้ในโครงการรับซื้อปลาหมอคางดำ เราได้รับความร่วมมือจากการยางแห่งประเทศไทย ในการที่จะใช้เงินทุน ที่ไม่ใช่เงินกองทุนที่เขาจะนำไปใช้ช่วยเหลือพี่น้อง ชาวสวนยาง แต่ตอนนี้เราใช้เงินทุนของการยาง เบื้องต้นจะใช้ 50 ล้าน ในการที่จะระดมนำปลาหมอคางดำออกจากระบบนิเวศให้มากที่สุด แล้วนำไปทำอย่างอื่น โดยเชื่อว่าการนำไปแปรรูปก็จะเป็นประโยชน์ต่อไป

รมช.เกษตรฯ กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรฯ ได้ประกาศ 7 มาตรการ เพื่อแก้ปัญหาปลาหมอคางดำของกระทรวงเกษตรฯ ประกอบด้วย 1. จำเป็นต้องกำจัดและนำปลาหมอคางดำออกจากระบบนิเวศของไทยให้มากที่สุด 2.มาตรการรอการกำจัด โดยต้องรอให้ปลาหมอคางดำลดลง หลังจากนั้นจะใช้วิธีธรรมชาติบำบัดโดยการปล่อยปลานักล่าลงไป อาทิ ปลากะพง ปลาอีกง ที่เราเชื่อว่าในช่วงเวลาที่เหมาะและพื้นที่ที่เราศึกษามาแล้ว โดยแต่ละพื้นที่จะใช้ปลานักล่าไม่เหมือนกัน ซึ่งจะช่วยลดปริมาณปลาหมอคางดำได้มากขึ้น 3.นำปลาหมอคางดำที่จับขึ้นมาได้ไปใช้เรื่องอื่นๆ โดยตั้งเป้าภายในปีนี้จนถึงกลางปีหน้าเราจะจับให้ได้ไม่ต่ำกว่า 4,000 ตัน หรือ 4 ล้าน กก. 

นายอรรถกร กล่าวว่า 4. มาตรการเฝ้าระวังไม่ให้มีการแพร่ระบาดไปพื้นที่อื่น 5.ทำความเข้าใจเรื่องการแพร่ระบาดกับประชาชน โดยเฉพาะพื้นที่ 17 จังหวัดที่มีการแพร่ระบาด 6.ใช้การวิจัย นวัตกรรมเข้ามาช่วย เช่น การเหนี่ยวนำโครโมโซม จาก 2n เป็น 4n ซึ่งจะทำให้ปลาเป็นหมัน และเราจะใช้ฟีโรโมน หรือสารคัดหลั่งในการดึงดูดทางเพศ ในการนำแสงสีไปล่อให้ปลาหมอคางดำมารวมอยู่ในบริเวณเดียวกัน เพื่อง่ายต่อการจับและกำจัด ซึ่งเป็นแนวคิดเดียวกับการใช้แสงสีเขียวล่อหมึก 7.การฟื้นฟู กระทรวงเกษตรฯ จะต้องไปศึกษาแหล่งน้ำที่เราพบปลาหมอคางดำ ในปัจจุบันมีปลา ปู กุ้ง หอย อะไรบ้าง เพื่อเป็นข้อมูลให้กรมประมงเตรียมเพาะพันธุ์สัตว์เพื่อคืนระบบนิเวศที่อุดมสมบูรณ์ให้กลับมา 

ทั้งนี้ รมช.เกษตรฯ ยังได้ร่วมกิจกรรมปฏิบัติการลงแขกลงคลอง เพื่อจับปลาหมอคางคำร่วมกับชาวบ้านในพื้นที่ด้วย.