เมื่อวันที่ 2 ส.ค. 67 ที่โถงแสงจันท์ ศาลากลาง จ.จันทบุรี นายธีระ วงษ์เจริญ ประธานเครือข่ายอาสาธนาคารสมอง พร้อมด้วย นายนิวัติ ธัญญชาติ ผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการประมงประจำจังหวัด และคณะทำงานแก้ไขปัญหาปลาหมอคางดำระดับชาติตลอดจน นายสมพร รุ่งกำเนิดวงศ์ ประมงจันทบุรี นำเครือข่ายภาคประชาสังคม ร่วมแถลงการณ์ Kick off “จันทบุรีโมเดล ไฟเขียวเปิดยุทธการล่าปลาหมอคางดํา” แก้ไขปัญหาอย่างมีส่วนร่วม

ทั้งนี้จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของปลาหมอคางดํา ได้ขยายพันธุ์อย่างรวดเร็วลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ กลายเป็นวิกฤตระดับประเทศ ที่ส่งผลกระทบต่อสมดุลย์ธรรมชาติ ชีวภาพ และระบบนิเวศในแหล่งน้ำ ตลอดจนสร้างความเดือดร้อนให้กับเกษตรกร ผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและชาวประมงในหลายจังหวัด ซึ่ง จันทบรี เป็น 1 ในหลายจังหวัด ที่พบมีการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดําอย่างรุนแรง 2 แห่ง คือ บริเวณลุ่มนํ้าพังราด อ.นายายอาม / และบริเวณอ่าวคุ้งกระเบน อ.ท่าใหม่ แม้ที่ผ่านได้พยายามหามาตรการ และแนวทางควบคุมอย่างเร่งด่วน ในการกําจัดไม่ให้ปลาชนิดนี้แพร่ขยายพันธุ์ โดยเฉพาะตามแหล่งกักเก็บน้ำ ที่อยู่ทางตอนบนในพื้นที่

โดยแผนปฏิบัติการเร่งด่วนของภาคประชาสังคม จะทำการไฟเขียว เปิดมาตรการล่าปลาหมอคางดำ เริ่มตั้งแต่ วันที่ 6 ,13, และ 19 สิงหาคม นี้ ในพื้นที่ ที่พบการแพร่ระบาด ขณะเดียวกันได้เปิดจุดรวบรวมรับซื้อปลาหมอคางดำ 5 จุด ประกอบด้วย เทศบาลตำบลช้างข้าม 2 จุด / นิวัติ (เดือนเต็มซีฟู๊ด) อ.นายายอาม / ท่าเทียบเรืออ่าวคุ้งกระเบน / และจุดใกล้ อบต.คลองขุด ในราคากิโลกรัมละ 15 บาท เพื่อรวบรวมนำไปกำจัดโดยการแปรสภาพให้สำนักงานพัฒนาที่ดิน ทำปุ๋ยหมัก ปุ๋ยอินทรีย์ ซึ่งผู้ที่ไม่ประสงค์จำหน่าย ก็สามารถส่งต่อ ให้กับผู้ล่า และเครื่อข่ายร่วมนำไปทำเป็นปุ๋ยหมักได้อีกด้วย

นายนิวัติ กล่าวว่า จันทบุรี ตกลงที่จะเน้นการดำเนินการในพื้นที่สำคัญ 6 แห่ง ซึ่งพบว่ามีความเสี่ยงสูง ต่อการถูกทำลายของระบบนิเวศ โดยเฉพาะแหล่งหญ้าทะเลที่มีความสมบูรณ์ที่สุด ในอ่าวคุ้งกระเบน ทั้งนี้จากการศึกษาและสำรวจ พบว่า ปลาหมอคางดำ มีพฤติกรรมกินพืชและสัตว์น้ำวัยอ่อน ซึ่งส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อระบบนิเวศ การระบาดนี้ ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่ไม่สามารถจับสัตว์น้ำชนิดอื่นได้ ทางจังหวัดจึงได้จัดกิจกรรมล่าปลาหมอคางดำ ที่บริเวณอ่าวคุ้งกระเบน เพื่อเริ่มกระบวนการกำจัด

โดยจะประสานงาน ร่วมกับเครือข่ายภาคประชาสังคมและหน่วยงานท้องถิ่นต่างๆ ในการร่วมกิจกรรมนี้ด้วย อย่างไรก็ตาม การดำเนินการรับซื้อปลาหมอคางดำในราคา กิโลละ 15 บาท ยังประสบปัญหาม่มีชาวบ้าน ชาวประมง จับมาขาย เนื่องจากประสบกับภาวะน้ำท่วม ส่งผลให้ปลาหนีน้ำ และยังมองว่า การจับกุ้งขายทำรายได้กิโลกรัมละ 200 บาท มีรายได้ที่ดีกว่า