เมิ่อวันที่ 1 ส.ค. ที่รัฐสภา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF (ซีพีเอฟ) ได้เข้ามาที่รัฐสภา เพื่อเข้าประชุมคณะ กมธ.อุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อชี้แจ้งเรื่องการแพร่ระบาดปลาหมอคางดำ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม นายประสิทธิ์ ให้สัมภาษณ์ว่า ตนได้ชี้แจงตามที่เคยได้ชี้แจงไปแล้ว ไม่ได้มีอะไรเพิ่มเติม 

เมื่อถามว่าจะมีมาตรการช่วยเหลืออะไรเพิ่มเติมหรือไม่ นายประสิทธิ์ กล่าวว่า โครงการช่วยเหลือนั้นก็คือ 5 โครงการ ซึ่งตอนนี้ก็อยู่ในช่วงการดำเนินการ ทั้งนี้ ยังมีอีก 2 สถาบัน ที่อยากจะเข้ามาร่วมโครงการ คือ สถาบันจุฬาลงกรณ์ และมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ที่จะเข้ามามีส่วนร่วม ตนขอเรียนให้ทราบว่าโครงการทั้งหมดนี้ จะเข้ามาเพื่อสนับสนุนมาตรการของรัฐบาล เพราะตนคิดว่าเราควรที่จะมีส่วนช่วยถึงแม้จะเกี่ยวข้องหรือไม่เกี่ยวข้อง ยกตัวอย่างในกรณีช่วงโควิด-19 ทางเราได้มีการช่วยเหลือทางด้านอาหาร ซึ่งกรณีนี้ก็คล้ายคลึงกัน 

นายประสิทธิ์ กล่าวต่อว่า เราตั้งเป้าหมายไว้จะช่วยสนับสนุนการรับซื้อปลาหมอคางดำจากทุกจังหวัดทั่วประเทศ ราคา 15 บาทต่อกิโลกรัม จำนวน 2,000,000 กิโลกรัม นำมาผลิตเป็นปลาป่นเพื่อเร่งกำจัดปลาหมอคางดำออกจากระบบให้มากและเร็วที่สุด และร่วมสนับสนุนภาครัฐและชุมชน ปล่อยปลาผู้ล่าลงสู่แหล่งน้ำจำนวน 200,000 ตัว

เมื่อถามว่าจะมีการเปิดเผยภาพหลักฐานบ้างหรือไม่ นายประสิทธิ์ กล่าวว่า ตนเองอาจพูดมากไม่ได้ เพราะบางภาพที่ออกมาก็ไม่ถูกต้อง แต่ยืนยันว่าเราส่งซากให้กรมประมงไปแล้ว และเราชี้แจงเพียงพอแล้ว ขอย้ำว่าเราทำตามกระบวนการ ให้เราส่งของไปให้ ก็ติดต่อประสานงานส่งของไปตามที่ได้ตกลงกัน ส่วนจะแถลงเพิ่มเติมหรือไม่ ก็อยู่ระหว่างการพิจารณา

นายประสิทธิ์ กล่าวต่อว่า ซีพีเอฟนำปลาหมอคางดำเข้ามา 2,000 ตัว แต่มีข้อมูลเกี่ยวกับการส่งออกปลาหมอคางดำกว่า 300,000 ตัว ซึ่งคิดเป็น 150 เท่า จึงน่าจะมีการพิจารณาว่าการแพร่กระจายเกิดจากอะไรกันแน่ เราเชื่อมั่นว่าไม่ได้เกิดจากเรา ส่วนเกิดจากอะไร ต้องให้คณะกมธ.หรือหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง  ตนก็ไม่ทราบ ส่วนนโยบายของทางภาครัฐก็ต้องเป็นไปตามนั้น และฝากสื่อมวลชนพิจารณาเพิ่มเติมว่ามาจากไหน แต่เราคงแสดงความคิดเห็นมากไม่ได้

เมื่อถามย้ำว่า มีบริษัทอื่นเข้ามาเกี่ยวข้องหรือไม่ นายประสิทธิ์ กล่าวว่า มันมีข่าวอยู่แล้ว เพราะมีการส่งออกปลาหมอคางดำจาก 11 บริษัท ไป 17 ประเทศ เห็นข้อมูลจากกรมประมง และข่าวต่าง ๆ ที่มีการสืบค้นเพิ่มเติม

นายประสิทธิ์ กล่าวย้ำว่า กระบวนการจัดการของบริษัทอยู่ในมาตรฐานสูง เรายืนยันกับทางกรมประมงไปแล้วว่า กระบวนการทั้งหมดเป็นลูกปลาอยู่กับเราแค่ 16 วัน หากใครที่เคยเลี้ยงปลา จะทราบว่าปลาที่นำเข้ามา 2,000 ตัว เมื่อมาถึงสนามบินเหลืออยู่ 600 ตัว และสภาพก็ไม่แข็งแรง ก็แสดงว่าปลาโดยรวมที่เหลือไม่แข็งแรง ขณะนั้นมีเจ้าหน้าที่มาตรวจเช็กที่สนามบินถือเป็นเรื่องปกติ ซึ่งข้อมูลดังกล่าว เป็นตัวเลขที่มีการนับกันโดยคาดประมาณการ

นายประสิทธิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เหตุผลการนำเข้าปลาหมอคางดำในขณะนั้น คือต้องการนำเข้าเพื่อการพัฒนาสายพันธุ์ปลา ซึ่งรายละเอียดต้องให้นักพัฒนาสายพันธุ์ปลาเป็นคนตอบ ตอนนั้นนำเข้ามาเกิดจากการประชุมการพัฒนาสายพันธุ์ที่มหาลัยเกษตรศาสตร์ ก่อนปี 2549 เกิดเป็นไอเดียในการนำเข้ามาทดลอง และกระบวนการยุ่งยากกว่าจะนำเข้ามาได้อย่างถูกกฎหมาย เนื่องจากใช้เวลากว่าจะนำเข้ามาก็มาถึงปี 2553 และเมื่อปลาไม่สมบูรณ์ก็ปิดโครงการ ในระยะเวลาทั้งหมด 16 วัน การฝังซากปลาก็ทำตามระบบขั้นตอน ฝังภายในฟาร์ม

รายงานข่าวจากซีพีเอฟ ระบุว่า บริษัทได้ชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการฯ ตามคำเชิญเพื่อให้ข้อมูลข้อเท็จจริง และแสดงความคิดเห็นการดำเนินการของบริษัท โดยยืนยันว่าเป็นผู้นำเข้าถูกต้องตามกฎหมายเพียงรายเดียว ไม่ใช่สาเหตุของปัญหาปลาหมอคางดำ โดยบริษัทมีการดำเนินการกักกัน (Quarantine) ลูกปลาอย่างถูกต้อง ตลอด 16 วัน และย้ำว่าหลังการทำลายลูกปลาที่เหลือทั้งหมด บริษัทไม่มีการวิจัยหรือเลี้ยงปลาหมอคางดำอีกเลย นับตั้งแต่เดือนมกราคมปี 2554 รวมถึงไม่การดำเนินการเชิงพาณิชย์ใดๆ ทั้งสิ้น

สำหรับกรณีที่เจ้าหน้าที่กรมประมงเข้าตรวจเยี่ยมฟาร์มเมื่อปี 2560 เป็นการสุ่มตรวจในบ่อพักน้ำที่เชื่อมต่อกับแหล่งน้ำธรรมชาติซึ่งไม่ได้เป็นส่วนของบ่อเลี้ยง แต่เป็นส่วนที่เชื่อมกับแหล่งน้ำธรรมชาติเพื่อรอการกรองและฆ่าเชื้อทำความสะอาด ก่อนนำน้ำเข้ามาใช้ในฟาร์ม ขณะที่ในช่วงเวลาดังกล่าว ฟาร์มไม่มีการเลี้ยงปลาใดๆ เนื่องจากอยู่ระหว่างปิดปรับปรุงฟาร์ม

สำหรับกรณีไม่อนุญาตบันทึกภาพและเสียง เนื่องจากมีรายละเอียดที่มีผลทางกฎหมาย

รายงานข่าวกล่าวอีกว่า ซีพีเอฟ มีความตั้งใจและยินดีให้ความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐในการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาปลาหมอคางดำ ตามมาตรการ 7 ข้อของรัฐบาล เช่น การจับปลาเพื่อลดปริมาณปลาหมอคางดำจากแหล่งแพร่ระบาด การปล่อยปลาผู้ล่าหลังปลาหมอคางดำลด การใช้ประโยชน์จากปลาไม่ให้สูญเปล่า ตลอดจนป้องกันการแพร่กระจายไปยังแหล่งน้ำข้างเคียง ให้ความรู้ประชาชนและรู้จักวิธีกป้องกันอันตรายจากสัตว์น้ำต่างถิ่น เป็นต้น

ปัจจุบัน ซีพีเอฟ ดำเนินโครงการที่สอดคล้องตามแนวทางของภาครัฐ 5 โครงการ ประกอบด้วย 1) โครงการร่วมกับกรมประมงรับซื้อปลาหมอคางดำจากทุกจังหวัดที่มีการแพร่ระบาดจำนวน 2 ล้านกิโลกรัม ซึ่งรับมาแล้ว 600,000 กิโลกรัม 2) โครงการสนับสนุนปล่อยปลาผู้ล่าสู่แหล่งน้ำ จำนวน 200,000 ตัว ตามแนวทางของกรมประมง และมีการปล่อยปลากะพงขาวไปแล้ว 49,000 ตัว โดยร่วมมือกับชุมชนและทุกภาคส่วนในพื้นที่ที่พบการระบาด 3) โครงการสนับสนุนการจับปลา ตลอดจนอุปกรณ์จับปลาและกำลังคนในพื้นที่ 4) โครงการร่วมมือกับสถาบันการศึกษา 3 แห่งคือ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลับขอนแก่น และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง พัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารจากปลาหมอคางดำ และ 5) โครงการร่วมทำวิจัยกับผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาตร์ และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ในการหาแนวทางควบคุมประชากรปลาหมอคางดำในระยะยาว รวมทั้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่สนใจเข้าร่วมโครงการนี้ด้วย