เมื่อวันที่ 1 ส.ค. พล.ต.ท.อนุชา รมยะนันทน์ ผู้บัญชาการสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ในฐานะผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ (ก.พ.ค.ตร.) เปิดเผยถึงกรณีที่วันนี้ทางคณะกรรมการ ก.พ.ค.ตร. ประชุมพิจารณา เรื่องคำสั่งให้ พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. ออกจากราชการไว้ก่อน ว่า ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยบอกว่า วันอังคารที่ 30 ก.ค.ที่ผ่านมา หลังจาก พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ และ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ชี้แจงด้วยวาจาแล้วเสร็จ คณะกรรมการก็เริ่มพิจารณาจนถึง 19.00 น. ก่อนมาพิจารณาต่อในวันนี้

จากที่สอบถามทางที่ประชุม พบว่ามีเอกสารที่ใช้ประกอบการพิจารณารวมเป็น 1,000 แผ่น รวมเอกสารที่ยื่นมาเพิ่มเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา คณะกรรมการจำเป็นที่จะต้องตรวจสอบอย่างรอบคอบ ซึ่งใช้ระยะเวลาพอสมควร ไม่แล้วเสร็จในวันนี้อย่างแน่นอน โดยระหว่างวันนี้เป็นต้นไป คณะกรรมการจะทำงานอย่างต่อเนื่อง จึงเชื่อว่าผลการพิจารณาจะแล้วเสร็จภายในสัปดาห์หน้าแน่นอน

พล.ต.ท.อนุชา กล่าวว่า ตามกระบวนการแล้ว เมื่อคณะกรรมการพิจารณาและมีมติชี้ชัดว่า คำสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ก็จะนำไปสู่การทำคำวินิจฉัย ซึ่งตามระเบียบแล้วจะต้องแจ้งให้กับคู่กรณีทั้งสองฝ่ายรับทราบผล แล้วถึงจะเปิดเผยได้ ซึ่งตามอำนาจหน้าที่ทางคณะกรรมการไม่สามารถแถลงผลกับสื่อมวลชนให้ทราบได้ก่อน

ส่วนเมื่อวานนี้ที่มีกระแสข่าวเรื่องมติ 6:0 เห็นว่าคำสั่งดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายแล้วนั้น พล.ต.ท.อนุชา กล่าวว่า การประชุมของคณะกรรมการเป็นการประชุมลับ ความชัดเจนทั้งหมดอยู่ที่คณะกรรมการ ซึ่งตอนนี้ยังไม่มีมติอะไรออกมา คาดว่าเป็นแค่การนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนหรือบุคคลที่ยังไม่ได้รับการยืนยัน โดยส่วนตัวตอบไม่ได้ว่ามติดังกล่าวจริงหรือไม่ เพราะตัวเองไม่ได้อยู่ในชุดคณะกรรมการพิจารณา แต่ยืนยันว่าคณะกรรมการไม่ได้มีความกดดัน หลังจากเห็นกระแสข่าวเรื่องมติ ตอนนี้ก็ยังเห็นประชุมกันตามปกติ

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า หากผลการพิจารณาพบว่าคำสั่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ ในฐานะผู้เซ็นคำสั่งจะต้องรับผิดชอบอย่างไรหรือไม่ พล.ต.ท.อนุชา มองว่า ทางปกครองหากคำสั่งไม่ชอบด้วยกฎหมายก็ต้องเพิกถอนหรือเปลี่ยนแปลงคำสั่ง ส่วนเรื่องความรับผิดชอบอื่นๆ ว่าผู้ที่เซ็นคำสั่งจะเข้าข่ายความผิดคดีอาญาหรือไม่อย่างไรก็ต้องตรวจสอบต่อไป

เมื่อผู้สื่อข่าวถามต่อว่า หลังจากมีการพิจารณาเรื่องนี้แล้วเสร็จ จะต้องส่งต่อให้ทางสำนักนายกรัฐมนตรีหรือไม่ พล.ต.ท.อนุชา บอกว่า ขึ้นอยู่กับทางหน่วยงานราชการต่างๆ ว่ามีเอกสารขอผลการพิจารณาเข้ามายังสำนักงานตำรวจแห่งชาติหรือไม่ เช่นเดียวกับเรื่องคำวินิจฉัย หากเป็นที่สิ้นสุด พบว่าคำสั่งชอบด้วยกฎหมาย นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี สามารถนำไปทูลเกล้าฯ ได้เลยหรือไม่นั้น ก็อยู่ที่การพิจารณาของหน่วยราชการที่รับผิดชอบ

“ท้ายที่สุดหากคำสั่งมิชอบด้วยกฎหมายก็ถือว่าคำอุทธรณ์ของ พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ ฟังไม่ขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม หากมองว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมก็สามารถใช้สิทธิทางศาลต่อได้”

พล.ต.ท.อนุชา กล่าวทิ้งท้ายว่า หากมติการพิจารณาของคณะกรรมการเสียงเท่ากันคำสั่งระหว่างชอบด้วยกฎหมายและไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทางประธานคณะกรรมการก็ต้องออกเสียงเพิ่มอีกหนึ่งเสียง แต่ยืนยันว่าคณะกรรมการจะพิจารณาอย่างถูกต้องไม่มีการแทรกแซง เพราะผู้พิจารณาเป็นข้าราชการระดับสูงและผู้ทรงคุณวุฒิทั้งสิ้น

ขณะที่ ธวัชชัย ไทยเขียว หนึ่งในคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ หรือ ก.พ.ค.ตร. และรองโฆษก ก.พ.ค.ตร. โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ‘ธวัชชัย ไทยเขียว’ ระบุถึงกรณีที่ ก.พ.ค.ตร. ได้นัดประชุมพิจารณาสำนวนอุทธรณ์คำสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน ระหว่าง พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ หักพาล กับผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ว่า สมรรถชัย วิศาลาภรณ์ ประธาน ก.พ.ค.ตร. ได้เรียกประชุม ก.พ.ค.ตร. พิจารณาสำนวนอุทธรณ์ต่อเนื่อง โดยมีกรรมการเข้าร่วมประชุมครบจำนวน 6 ทุกท่าน

ด้วยปรากฏว่า คู่กรณีได้ยื่นคำแถลงเป็นหนังสือมากกว่า 290 หน้าและแถลงด้วยวาจาต่อ ก.พ.ค.ตร. มากกว่า 2 ชั่วโมง ร่วมกับคำอุทธรณ์ คำแก้อุทธรณ์ คำชี้แจง และพยานหลักฐานอื่นที่ ก.พ.ค.ตร. ได้มาจากการแสวงหาข้อเท็จจริงไว้ก่อนหน้านี้กว่า 300 หน้า

ดังนั้น เมื่อดูข้อมูลทั้งหมดแล้ว เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่คู่กรณี ก.พ.ค.ตร. จึงต้องพิจารณาและวินิจฉัยด้วยความรอบคอบ เพื่อให้เป็นไปตามข้อกฎหมายและข้อเท็จจริง

ฉะนั้น ก.พ.ค.ตร. จึงเห็นว่าสำนวนนี้ จะสามารถพิจารณาและจัดทำวินิจฉัย พร้อมจัดส่งคำวินิจฉัยไปให้คู่กรณีทั้งสองฝ่ายทราบตามที่อยู่ที่คู่กรณีแต่ละฝ่ายได้แจ้งไว้ต่อ ก.พ.ค.ตร. ได้ภายในสัปดาห์หน้า.