ในทุกปี เมื่อเข้าสู่ฤดูเก็บเกี่ยวอ้อย ม่านควันสีขาวขุ่นต่างก็ปกคลุมหลายพื้นที่ในประเทศไทย ‘การเผาอ้อย’ เป็นวิธีการดั้งเดิมที่เกษตรกรใช้เพื่อกำจัดเศษใบอ้อยก่อนการเก็บเกี่ยว แม้จะเป็นภาพที่คุ้นตา ทว่าเบื้องหลังควันไฟเหล่านั้น นำมาซึ่งปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ร้ายแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของภาวะโลกร้อน
การเผาอ้อยไม่เพียงแต่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จำนวนมหาศาลสู่ชั้นบรรยากาศเท่านั้น แต่ยังก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ ฝุ่นละอองขนาดเล็กที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ และส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนในบริเวณใกล้เคียง นอกจากนี้ การเผาอ้อยยังทำลายดิน ทำให้ดินเสื่อมสภาพและสูญเสียความอุดมสมบูรณ์ ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ
ปัญหาดังกล่าวถูกรายล้อมไปด้วยปัจจัยเชิงโครงสร้างที่ทำให้เกษตรกรยังไม่สามารถตัดอ้อยสดได้ทั้งหมด อาทิ การตัดอ้อยด้วยรถ จำเป็นต้องทำในพื้นที่มากกว่า 20 ไร่ แต่ค่าเฉลี่ยพื้นที่ปลูกอ้อยต่อครัวเรือนนั้นอยู่ที่ 15.6 ไร่ต่อครัวเรือน อีกทั้งพื้นที่เพาะปลูกส่วนใหญ่ของประเทศ อย่างในภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ มีพื้นที่เพาะปลูกน้อยกว่า 20 ไร่ ขณะที่เกษตรกรที่มีพื้นที่เพาะปลูกมากกว่า 20 ไร่ อยู่ในพื้นที่ภาคกลางและตะวันออก
ปัจจัยประการถัดไปคือเรื่องต้นทุนแรงงานเกี่ยวอ้อยสดสูงและใช้ระยะเวลาเก็บเกี่ยวมากกว่า โดยใน 1 วัน สามารถตัดอ้อยสดได้ 1.8 ตัน ในทางกลับกัน หากใช้วิธีเผาจะเก็บเกี่ยวได้มากถึง 5 ตัน นี่จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้แรงงานเลือกตัดอ้อยด้วยวิธีการเผา เนื่องจากลงแรงน้อย และได้ค่าจ้างที่สูงกว่า แม้การเผาอ้อยจะเข้าข่ายการกระทำผิดตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 ก็ตาม นอกจากนี้ยังมี เรื่องของระยะเวลาในการรับซื้อของโรงงานน้ำตาลนั้นมีจำกัด ส่งผลให้เกษตรกรที่เก็บเกี่ยวใกล้ระยะเวลาปิดหีบ จำเป็นต้องเก็บเกี่ยวด้วยการเผาเพื่อให้ขายอ้อยได้ทันเวลา
แม้ว่ารัฐบาลจะมีมาตรการสนับสนุนอ้อยสดเพื่อแก้ปัญหาฝุ่นละอองในภาคเกษตรออกมาตั้งแต่ปี 2562 ส่งผลให้ปริมาณอ้อยเผาที่มีการรับซื้อลดลงอย่างต่อเนื่อง ทว่าก็ยังไม่สามารถลดอ้อยเผาให้เป็นศูนย์ได้ โดยปริมาณอ้อยเผาเฉลี่ยยังคงอยู่ที่ราว 30% ซึ่งจะก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก (GHG) เฉลี่ยมากถึงปีละ 2.4 ล้านตันต่อปี หรือคิดเป็น 4% ของ GHG ของภาคเกษตรในประเทศไทย
ทว่าก็ยังไม่นับว่าไร้หนทางต่อปัญหาดังกล่าวเสียทีเดียว วิจัยจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ‘คาร์บอนเครดิต’ เป็นเครื่องมือทางการเงินที่จะช่วยส่งเสริมให้มีการทำโครงการลด GHG โดย GHG ที่ลดได้ สามารถนำมาขึ้นทะเบียนคาร์บอนเครดิตและซื้อขายได้ ประเทศไทยมีคาร์บอนเครดิตตามโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (T-VER) ที่ขึ้นทะเบียนกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (TGO) ซึ่งในปัจจุบันมีโครงการขึ้นทะเบียน T-VER แล้วจำนวน 429 โครงการ ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่คาดว่าจะลด/กักเก็บ 12.9 ล้าน tCO2-e เป็นโครงการประเภทเกษตร 9 โครงการ ปริมาณ GHG ที่คาดว่าจะลด/กักเก็บได้ 343,195 tCO2-e หรือ 3% ของโครงการที่ขึ้นทะเบียน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการทำสวนยาง การเก็บเกี่ยวอ้อยสดทดแทนการเผาสามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้ 4.9 tCO2 ต่อไร่ อย่างไรก็ดี การเก็บเกี่ยวอ้อยสดมีต้นทุนที่สูงกว่าการเก็บเกี่ยวด้วยการเผา ซึ่งส่งผลให้เกษตรกรที่เก็บเกี่ยวอ้อยสดมีกำไรน้อยกว่าอ้อยเผา 519 บาทต่อไร่ (รูปที่ 7) โดยคำนึงถึงเฉพาะด้านเม็ดเงินที่เกษตรกรจะได้รับ อย่างไรก็ตาม คาร์บอนเครดิตที่ได้จากการหยุดเผาเศษวัสดุทางการเกษตร และยังไม่มีมาตรฐานคาร์บอนเครดิตรองรับ จะต้องมีการออกมาตรฐานมารับรองคาร์บอนเครดิตจากกิจกรรมดังกล่าวด้วย
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังได้เสนอแนวทางแก้ไขปัญหาการเผาอ้อย ด้วย 3 แนวทาง ดังนี้ 1. กำหนดมาตรฐานคาร์บอนเครดิตจากการหยุดเผาเศษวัสดุทางการเกษตร และขึ้นทะเบียนคาร์บอนเครดิต โดยเบื้องต้น หากมีมาตรฐานดังกล่าว ราคาคาร์บอนเครดิตอาจต้องไม่น้อยกว่า 126 บาท ต่อ tCO2 หรือคิดเป็นเงิน 915 ล้านบาทต่อปี เพื่อชดเชยต้นทุนจากการไม่เผา 2. เพิ่มความเชื่อมโยงคาร์บอนเครดิตในประเทศกับมาตรฐานในต่างประเทศ เพื่อเพิ่มโอกาสเข้าถึงตลาดที่มีอุปสงค์มากขึ้น 3. ลดสัดส่วนการปลูกอ้อยโดยอาจหันมาปลูกไม้โตไว ซึ่งนอกจากตัดขายเป็นรายได้ ยังสามารถขึ้นทะเบียนคาร์บอนเครดิตได้ ควบคู่กับนโยบายส่งเสริมจากภาครัฐ ได้แก่ ปรับปรุงเครื่องจักรเก็บเกี่ยวให้เหมาะสมกับพื้นที่, จัดทำระบบคาดการณ์และจัดลำดับการเก็บเกี่ยวอ้อย, สนับสนุนค่ารับรองคาร์บอนเครดิต และสนับสนุนค่าใช้จ่ายจากการซื้อคาร์บอนเครดิตเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย Net Zero
ขอบคุณข้อมูลจาก: ศูนย์วิจัยกสิกรไทย