หลังผ่านพ้นขั้นตอนที่คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมตำรวจ (ก.พ.ค.ตร.) ได้เรียกคู่กรณีทั้งสองฝ่ายคือ พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ หักพาล และ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รอง ผบ.ตร. ซึ่งในขณะนั้นดำรงตำแหน่ง รรท.ผบ.ตร. ที่เคยเซ็นคำสั่งให้ พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ “ออกจากราชการไว้ก่อน” เข้ามาชี้แจงด้วยวาจา เพื่อรวบรวมข้อมูลทำคำวินิจฉัยปมปัญหา อันเป็นชนวนเหตุให้มีการร้องขอความเป็นธรรม

ตั้งแต่วันที่ 25 เม.ย. 67 ที่ พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ ยื่นเรื่อง จนถึงวันที่ 30 ก.ค.ที่ผ่านมา นับเป็นเวลาทั้งสิ้น 97 วัน การดำเนินงานของ ก.พ.ค.ตร. ที่เปรียบได้กับ “ศาลปกครอง” ในองค์กรตำรวจ ถือว่าทำงานเร็วกว่ากรอบเวลาที่กำหนดไว้ 120 วัน

อย่างไรก็ตาม ที่สำคัญกว่านั้นคือผลชี้ขาดที่จะออกมาหลังจากนี้ “เดลินิวส์ออนไลน์” ไขผลลัพธ์อุทธรณ์คำสั่งครั้งนี้ เป็นไปได้ 2 ทางเท่านั้น คือ

1.หาก ก.พ.ค.ตร. เห็นว่าคำสั่งให้ พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ ออกจากราชการไว้ก่อน “ไม่ชอบด้วยกฎหมาย” พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ จะหวนคืนตำแหน่งเดิม “โดยทันที” พร้อมด้วยสิทธิประโยชน์ย้อนหลังนับตั้งแต่วันที่มีคำสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน คือวันที่ 18 เม.ย. 67

หรือ 2.หาก ก.พ.ค.ตร. วินิจฉัยว่าคำสั่งให้ออกจากราชการนั้น “ชอบด้วยกฎหมาย” แนวทางนี้ พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ ยังมีโอกาสสุดท้ายในการต่อสู้ให้ตัวเองยังเป็นตำรวจต่อ จนถึงอายุราชการปี 2574 คือ การใช้สิทธิยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองสูงสุด ภายในระยะเวลา 90 วัน

ต้องยอมรับว่าเรื่องนี้คำตอบอาจไม่ได้สวยหรู เพราะที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นด่านอนุกรรมการ ก.ตร.ด้านวินัย หรือด่านใหญ่อย่างคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ที่มีนายกรัฐมนตรีนั่งหัวโต๊ะ ต่างก็ไม่มีข้อเห็นแย้งว่าคำสั่ง “ให้ออกจากราชการ” ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ดังนั้น หากคำวินิจฉัยท้ายสุดของ ก.พ.ค.ตร. เห็นตรงกับ 2 ด่านที่ผ่านมา อาจส่งผลให้ พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ มีโอกาสหลุดจาก “แคนดิเดต” ผบ.ตร. ที่กำลังจะมีการคัดเลือกในเดือน ต.ค.นี้ ทันที.