อาจจะเละเทะไปเลยก็ได้ เธอจึงสั่งให้ผมลงพื้นที่สำรวจสภาพความยั่งยืนรอบเกาะ และเสนอแนะแนวทางพัฒนาเกาะสมุย ในสายตาสถาปนิกนักออกแบบความยั่งยืนอีกด้วย
ผมรีบรับคำเชิญโดยเลือกเส้นทางบินไปลงที่สนามบินสุราษฎร์ธานี เพื่อต่อรถบัส แล้วไปต่อเรือ Ferry ข้ามฟากไปเกาะสมุย แทนที่จะบินตรงไปลงบนเกาะเลย วิธีนี้นอกจากจะประหยัดเงินได้แล้ว ยังได้ประสบการณ์นั่งรถลงเรือดูวิวสวย ๆ แถมอีกด้วย แต่ก็แลกด้วยรอยเท้าคาร์บอนที่เพิ่มขึ้น ด้วยการเดินทางเส้นทางหลักของนักท่องเที่ยวยังใช้พลังงานสกปรกแบบเดิม ยังไม่มี Shuttle หรือ Ferry พลังงานสะอาด ซึ่งสามารถทำได้ไม่ยาก
ในระหว่างทาง ผมได้พูดคุยกับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวยุโรป เขาบอกว่าชอบมาสมุยมากกว่าเกาะฝั่งอันดามัน เพราะทะเลฝั่งนี้ดูเป็นมิตร ผู้คนไม่พลุกพล่าน ยังมีวัฒนธรรมท้องถิ่นที่เป็นธรรมชาติอยู่มาก แถมยังมีหมู่เกาะต่าง ๆ หลากหลายให้สำรวจได้ไม่เบื่อ เขาบอกผมว่าให้เตรียมตัวรับนักท่องเที่ยวไว้ให้ดี ตอนนี้ชาวยุโรปชอบมาเกาะสมุยมาก โดยปีที่ผ่านมานักท่องเที่ยวทะลุ 3 ล้านคนแล้ว และคงจะเพิ่มขึ้นอีกมากหลังจาก ซีรีส์ The White Lotus Season 3 ออกฉาย เพราะเค้าเลือกถ่ายทำในโรงแรมสุดหรูบนเกาะนี้ แถมมีน้องลิซ่าร่วมแสดงในซีซันนี้ด้วย
สำหรับในคราวนี้ ผมเลือกพักที่ โรงแรม Rocky’s Boutique Resort ในเครือ Veranda ที่เป็นเชนของคนไทยที่ใส่ใจความยั่งยืนมีดีไซน์แบบมินิมอลสะท้อน Soft Power ท้องถิ่น พอถึงโรงแรม GM มายืนรอรับด้วยตัวเอง ผมสังเกตว่าเธอเป็นคนไทย และเป็นคนท้องถิ่น และพนักงานส่วนใหญ่ก็มีถิ่นฐานอยู่บนเกาะนี้กับจากจังหวัดใกล้เคียง และนี่คือความยั่งยืนอันดับแรก ที่รายได้จากโรงแรมได้กระจายไปยังการจ้างงานคนในชุมชน และพนักงานทุกคนก็รักการบริการ มักจะเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ของชุมชนท้องถิ่นอย่างภาคภูมิใจ ผมสังเกตว่าที่นี่เป็นโรงแรมเก่าที่มา Renovate ใหม่ มีเพียงอาคาร Lobby ด้านหน้า ที่ถูกสร้างขึ้นใหม่เป็น Landmark และออกแบบให้เป็นอาคารแบบ Tropical วางทิศอาคารให้รับลมทะเลเย็นสบายได้โดยไม่ต้องติดแอร์
การจัด Landscape ก็เลือกพรรณไม้ท้องถิ่นที่ดูแลง่าย ใช้นํ้าน้อย จัดองค์ประกอบอย่างมีสไตล์ ที่นี่เข้า โครงการ Green Hotel ของกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ต้องคำนวณคาร์บอน มีแผนที่จะลดและชดเชย ต้องดูเรื่องอัตราการใช้นํ้าใช้ไฟ การจัดการขยะและของเสีย และความปลอดภัยในทุกมิติ การทำงานเน้นมาตรฐานระบบการจัดการ มีการตรวจสอบ และต้องมีรายงานตามที่กรมกำหนดไว้ พอไปดูข้อมูลน่าสนใจว่ามีโรงแรม 2 แห่งจาก 350 แห่งเท่านั้นที่ขอเข้ามาตรฐานปีนี้ แปลว่ากรมโลกร้อนคงต้องทำงานเชิงรุกให้หนักขึ้นอีกมาก เพื่อเชิญชวนโรงแรมที่เหลือให้เข้าโครงการดี ๆ แบบนี้ให้ได้ เพื่อบอกชาวโลกว่าที่สมุยทุกโรงแรมผ่านมาตรฐาน Green Hotel แล้ว ซึ่งนักท่องเที่ยวที่มีระดับจากยุโรปใส่ใจสิ่งนี้ ถือเป็นการยกระดับการท่องเที่ยวยั่งยืนอย่างแท้จริง
ระหว่างเดินทาง ผมก็สอบถามชาวบ้านเรื่องขยะว่าที่เกาะนี้ขยะไปไหน เขาบอกว่าในฤดูท่องเที่ยวจะมีขยะราววันละ 100-150 ตัน เมื่อก่อนเคยมีเตาเผาบนเกาะแต่ก็พัง ซ่อมแล้วก็ยังไม่ดี ตอนนี้เลยใช้วิธีส่งลงเรือเฟอร์รี่ไปสุราษฎร์ธานี เคยมีเคสเรือล่ม ขยะกระจายเกลื่อนทะเล และพอขยะกองสุมไว้นาน ๆ บางครั้งก็เกิดเหตุไฟไหม้ส่งกลิ่นเหม็น และฝุ่นควันอยู่หลายวัน ผมว่าคงต้องรีบคิดเรื่องโรงไฟฟ้าขยะ และ สร้างนิสัย Reduce Reuse Recycle ของสิ่งที่เราบริโภคอย่างจริงจัง เรื่องนํ้าเสียก็เช่นกัน ถ้าไม่ดูแลให้ดีสิ่งเหล่านี้ก็จะถูกปล่อยลงทะเล ทำให้ธรรมชาติเสื่อมโทรมลงอย่างรวดเร็ว
นํ้าเป็นปัจจัยสำคัญเรื่องความยั่งยืนที่สุดของพื้นที่ที่เป็นเกาะ แม้สมุยจะโชคดีมีนํ้าจากภูเขา นํ้าบาดาล และสามารถทำนํ้าดื่มบางส่วนจากนํ้าทะเลได้ แต่ก็ยังไม่เพียงพอ ไม่ยั่งยืน เพราะต้องพึ่งพาต่อท่อนํ้าประปามาจากสุราษฎร์ธานีอีกทาง คงต้องวางแผนการกักเก็บนํ้าให้มากที่สุด ทำพื้นที่ซับนํ้าในทุกที่ เพิ่มธนาคารนํ้าใต้ดิน และต้องสร้างจิตสำนึกให้ทุกคนที่มาอยู่บนเกาะนี้ ต้องเห็นคุณค่าของนํ้า และช่วยกันประหยัด ซึ่งสิงคโปร์ก็เคยมีปัญหาเช่นเดียวกันนี้
ตอนนี้เขาแก้ไขได้แล้วด้วยผังเมืองใหม่ และมาตรฐานการก่อสร้างอาคารและสิ่งปลูกสร้างที่ต้องมีพื้นที่เก็บนํ้าให้ได้ตามมาตรฐาน ในขณะที่ไฟฟ้าก็เช่นกัน สมุยยังต้องพึ่งพาไฟฟ้าต่อสายมาจากโรงไฟฟ้าขนอม และการไฟฟ้าได้สร้าง Battery Energy Storage System (BESS) เพื่อเก็บพลังงานส่วนเหลือทำให้เกิดความสูญเสียน้อยลง และเพิ่มความมั่นคงให้ระบบไฟฟ้ามากขึ้น และระบบ Storage แบบนี้ น่าจะส่งเสริมให้เกิดพลังงานทางเลือกใหม่ ๆ ที่จะต้องพัฒนาเพิ่มขึ้นอีกมากในอนาคต
นอกจากความยั่งยืนบนเกาะสมุยแล้ว ผมได้ออกสำรวจเกาะอื่น ๆ รอบเกาะสมุย เช่น เกาะเต่า เกาะพะงัน และอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง ผมถามชาวเรือว่าตอนนี้สภาพแวดล้อมทางทะเลเป็นอย่างไรบ้าง ชาวเรือบอกผมว่าปีนี้หน้าร้อนนํ้าลดลงตํ่ามาก และอุณหภูมิของนํ้าร้อนจัด จะเห็นปะการังฟอกสีขาวกระจายเต็มไปหมด ปลาก็น้อยลง ช่วงนี้นํ้าขึ้นแล้วปลาสวย ๆ ที่เคยแหวกว่ายอยู่ตามปะการังก็ยังไม่กลับมาเหมือนปกติ ผมดำนํ้าสำรวจไปรอบ ๆ เกาะก็เห็นปะการังฟอกขาวจำนวนมากตามที่ชาวเรือบอก นี่คงเป็นเพราะภาวะโลกเดือดจริง ๆ ผมถามต่อว่าเคยมีนักวิชาการมาเสนอเรื่องการเดินเรืออย่างยั่งยืนแบบ Low Carbon ไหม ผมเห็นที่พังงาเขามีเครือข่าย Low Carbon ของชาวเรือที่เข้มแข็ง เขาว่าเคยได้ยินเหมือนกัน แต่น่าจะทำกันในกลุ่มเล็ก ๆ ไม่แพร่หลาย แต่ถ้าช่วยโลกได้ นำความสมบูรณ์ของธรรมชาติกลับมาได้ พวกเขาก็ยินดีเข้าโครงการ ที่นี่ชาวเรือจัดการเรื่องขยะจากนักท่องเที่ยวได้อย่างดี แทบไม่เห็นขยะบนชายหาดหรือใต้นํ้าเลย ยกเว้นพวกเศษแหอวน
ผมถามเจ้าหน้าที่อุทยานว่าปีนี้นักท่องเที่ยวเป็นอย่างไร เขาว่าจำนวนเพิ่มขึ้นมาก ในหมู่เกาะอ่างทองนี้มีพื้นที่ให้ผจญภัยมากมาย มี activity ในทะเล เช่น ดำนํ้าดูปะการัง นั่งเรือดูโลมาสีชมพู พายเรือคยัคถ้าขึ้นบกก็มีปีนเขาไปชมทะเลในสีเขียวมรกต หรือเดินสำรวจเส้นทางธรรมชาติค่อย ๆ ไต่ขึ้นไปชมวิวบนผาจันทร์จรัส ซึ่งถ้าใครมีแรงไปถึงก็จะมองเห็นหมู่เกาะอ่างทองเรียงรายกระจายตัวกันอย่างสวยงาม ผมสังเกตว่านักท่องเที่ยวชาวยุโรปจะไม่ทิ้งขยะตามทางจะเก็บไว้ทิ้งตามถังขยะที่อุทยานเตรียมไว้ แม้แต่ว่ายนํ้านักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ก็จะใช้ Sun Screen ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไม่เป็นอันตรายต่อสัตว์ทะเล
ตอนที่ผมนั่งเรือกลับ ผมเห็นมีโครงการก่อสร้างใหม่ ๆ ทั้งริมชายหาดและบนหน้าผา ไม่แน่ใจพื้นที่ก่อสร้างนั้นถูกกฎหมายหรือไม่ แต่สิ่งที่เห็นดูแล้วเละเทะ ทัศนอุจาด แตกต่างกันทั้งรูปทรง สีสัน วัสดุ ทำให้เกาะที่เคยสวยงามดูแหว่ง ๆ เกะกะไปด้วยสิ่งก่อสร้างที่ไม่กลมกลืนกับธรรมชาติ ไม่แน่ใจเทศบาลสมุยมีสถาปนิกที่คุมเรื่องผังเมืองและการออกแบบให้กลมกลืนกับธรรมชาติ มี Building Code ที่เป็น Guideline หรือเปล่า ถ้ามีจะทำให้ทัศนียภาพเกาะสวยงามน่ามองขึ้นอีกมาก และเมื่อพูดถึงผังเมือง น่าจะเป็นรากฐานสำคัญของความยั่งยืน ในวิกฤติของความไม่ยั่งยืนที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ บวกกับโอกาสใหม่ที่กำลังจะมาถึงเมื่อสะพานขนอม-สมุยสร้างเสร็จ เราน่าจะใช้โอกาสนี้ออกแบบปรับปรุงผังเมืองกันใหม่ สะพานทางด่วน 4 เลนจะมาเชื่อมกับ local road อย่างไรให้สวยงาม และไม่เพิ่มปัญหารถติดที่ปัจจุบันก็หนักอยู่แล้ว ต้องขยายถนนตรงไหนบ้าง จะทำเลนจักรยานและทางเดินส่งเสริมให้คนเดินทางแบบ Low Carbon และปลอดภัย จะจัดโซนนิ่งใหม่ให้เน้นอัตลักษณ์แต่ละหาด แต่ละชุมชน สร้าง Landmark และภาพจำให้นักท่องเที่ยวต้องมาถ่ายรูป Check In แล้วบอกต่อ หลายหาดมีโรงแรมร้านค้าแน่นเต็มไปหมด พอจะแบ่งพื้นที่บางส่วนมาทำ Pocket Park ริมทะเลได้หรือไม่ พื้นที่ที่นํ้าตกไหลลงมาพอจะมีตรงไหนทำเป็นแก้มลิง เป็นอ่างเก็บนํ้า เป็น Wetland เพื่อเก็บนํ้าฝนไว้ใช้ให้มากที่สุด แถมอาจเพิ่มเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวธรรมชาติใหม่ และเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพให้ระบบนิเวศได้ด้วย ปัจจุบันสิ่งที่ขาดคือความงามของเมือง น่าจะลองชวนสถาปนิกชุมชนและสไตลิสต์มาพูดคุยกับชาวบ้าน ลองดูพื้นที่เล็ก ๆ ก่อนก็ได้ แล้วค่อยขยายผลออกไป
อย่าลืมนะครับว่า Design คือ Super Soft Power ที่ทรงพลังที่สุด และหลายเรื่องทำได้ทันที เพราะอีกไม่นานซีรีส์ The White Lotus Season 3 ที่น้องลิซ่าเล่นจะฉายแล้ว เราน่าจะปรับปรุง แต่งหน้าแต่งตาเมืองให้สวยงาม สร้างมูลค่า และคุณค่ารองรับนักท่องเที่ยวยั่งยืนไว้เลย ไม่เช่นนั้นสิ่งเดียวที่นักท่องเที่ยวจำได้ คือ กะละแม เพราะ ผังเมืองคือรากฐานสำคัญของ SDG11 Sustainable City ผมว่าเราสามารถรวบรวมสถาปนิกนักออกแบบ สไตลิสต์ จิตอาสามาระดมสมองช่วยกันได้ครับ พี่ชายของเศรษฐินีที่สั่งให้ผมลงมาสำรวจก็เป็นสถาปนิกชื่อดัง ตอนนี้คงทุ่มเทอยู่กับการขึ้นปราศรัย แต่น่าจะปลีกเวลามาช่วยกันได้ในฐานะลูกชายอดีตนายอำเภอคนดัง ผู้ที่รักสมุยสุดหัวใจ โครงการสมุยยั่งยืนนี้กำลังรอผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ ที่มี Passion เรื่องความยั่งยืน และเมื่อสะพานข้ามเกาะจะเกิดขึ้นจริงเร็ว ๆ นี้ นี่คือเวลาที่เหมาะสมที่สุด ที่จะร่วมกันออกแบบอนาคตที่ยั่งยืนของ “เกาะสมุย”